posttoday

ประชุม พ.ส.ล.ช่วยชาวพุทธตื่นตัว

09 ตุลาคม 2559

การประชุมใหญ่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ที่พุทธศาสนานิกายจินกัก (Jin Gak) เป็นเจ้าภาพ

โดย...สมาน สุดโต

การประชุมใหญ่องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ที่พุทธศาสนานิกายจินกัก (Jin Gak) เป็นเจ้าภาพ ที่กรุงโซล วันที่ 25-29 ก.ย. 2559 ปลุกชาวพุทธให้ตื่นตัวดูแลด้านสิ่งแวดล้อม และให้โลกเกิดสันติเพราะหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์

พัลลภ ไทยอารี เลขาธิการ พ.ส.ล. กล่าวสรุปว่า พ.ส.ล.ซึ่งเป็นองค์กรชาวพุทธนานาชาติ ที่รวมตัวจัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2493 ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่ทุก 2 ปี และปีนี้ที่ประะชุมได้เลือก แผน วรรณเมธี อายุ 93 ปี ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปโดยปราศจากคู่แข่ง

ความคิดเห็นและข้อเสนอต่างๆ นั้น เห็นว่าชาวพทธตื่นตัวกันมากในเรื่องการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ พร้อมกับเรียกร้องให้ประเทศที่มีชาวพุทธเป็นส่วนใหญ่ ต้องมีหลักและแสดงจุดยืนในเอกลักษณ์ของความเป็นพุทธให้มากขึ้น มิเช่นนั้นจะถูกศาสนาอื่นเข้าแทรกแซง

ผมคิดว่าประเทศที่เป็นหลักหรือศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแห่งโลก ไม่ว่าประเทศไทย หรือประเทศศรีลังกา ก็พยายามทำเช่นนี้อยู่เสมอ เช่น นำหลักธรรมคำสอนออกเผยแผ่ตามสื่อสมัยใหม่ให้เป็นที่สนใจของประชาชนทุกเพศทุกวัย รวมทั้งรณรงค์เรื่องรักษาสิ่งแวดล้อม และการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ เมื่อเกิดภัยพิบัติโดยไม่เลือกเชื้อชาติและศาสนา

ประชุม พ.ส.ล.ช่วยชาวพุทธตื่นตัว สำนักงานใหญ่จินกักที่เกาหลีใต้ ที่ประชุม พ.ส.ล.ครั้งที่ 28

 

ส่วนที่ผู้เข้าประชุมนำเสนอการที่ชาวพุทธในโลกลดลง น่าจะมีสาเหตุจากการยึดติดกับประเพณี และพิธีกรรมมากเกินไป ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสนใจ จะแก้ไขเรื่องนี้ได้ต้องพัฒนาเรื่องข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีต่างๆ รวมทั้งวิธีการด้านเผยแผ่ด้วย

เรื่องพัฒนาใช้ไฮเทคในการเผยแผ่นั้น มีทุกศาสนา รวมทั้งศาสนาอิสลามที่เติบโตรวดเร็วก็ใช้เทคโนโลยีใหม่มาช่วยเผยแผ่คำสอนศาสนาของเขา ส่วนศาสนาคริสต์ก็พันฒาการใช้ไฮเทคเพื่อเผยแผ่เช่นกัน แต่ไปเงียบๆ

เมื่อพระพุทธศาสนานำเทคโนโลยีมาช่วยเผยแผ่บ้าง คงไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องที่จำนวนประชากรชาวพุทธลดลง

พ.ศ.ล.ก็ตระหนักในเรื่องนี้ พยายามพัฒนาทุกรูปแบบ รวมทั้งเว็บไซต์ด้วย

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการปรับเปลี่ยนอะไร หลังจากการประชุมครั้งนี้ พัลลภ กล่าวว่า อันดับแรกคือปรับเปลี่ยนโครงสร้าง โดยกระจายภาระหน้าที่ให้กับผู้ที่มีความสามารถ มอบตำแหน่งหน้าที่ที่รับผิดชอบไปยังประเทศอื่นๆ รวมทั้งการเปลี่ยนตัวบุคคลด้วย เพราะบางคนอยู่มานาน อายุมาก จึงควรเอาคนใหม่เข้ามา

ที่สำคัญยิ่ง ก็คือ การต้องปรับปรุงข้อมูลข่าวสาร และนำเทคโนโลยีมาเผยแผ่ โดยต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมใน 4 ปี

ประชุม พ.ส.ล.ช่วยชาวพุทธตื่นตัว เจ้าภาพพาคณะผู้บริหาร พ.ส.ล.ทัวร์ชายแดนเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ ที่ปัมมุนจองถ่ายภาพที่สัญลักษณ์ให้รวมเกาหลีเป็นหนึ่งประเทศ

 

เมื่อถามถึงประเทศที่เข้าประชุม พัลลภ กล่าวว่ามี 52 ประเทศ หากนับจริงๆ แล้วอาจมากถึง 70-80 ประเทศก็ได้ เพราะหนึ่งองค์กรมีหลายประเทศซ่อนอยู่ เช่น สหภาพยุโรป ซึ่งมีสมาชิกถึง 20 ประเทศ แต่ พ.ส.ล.นับ 1 เท่านั้น หรือโฝกงซาน องค์การชาวพุทธใหญ่ในไต้หวัน มีสาขากระจายในทวีปต่างๆ และประเทศต่างๆ ทั่วโลก เราก็นับเขาเพียง 1 เท่านั้น

สิ่งที่เขาเรียกร้องจาก พ.ส.ล.มีไหม พัลลภ กล่าวว่า เรามีองค์กรใหญ่และเล็ก องค์กรใหญ่ช่วยทุกอย่าง ส่วนองค์กรเล็กก็ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลด้านการเงินให้เขา

พัลลภ กล่าวว่า ในอดีตการทำกิจกรรมของ พ.ส.ล.อาจติดขัดบ้าง เพราะเมื่อกลับบ้านก็ไปทำกิจอย่างอื่น จึงแก้ไขด้วยการตั้ง สแตนดิ่ง คอมมิตตี ขึ้นมา จาก 9 คณะ เป็น 11 คณะ แต่ละคณะต้องทำให้ได้ เพราะเรามีความสะดวกด้านการสื่อสาร

ส่วนจำนวนรองประธานได้เพิ่มจาก 15 เป็น 16 คน รวมทั้งส่งคณะกรรมการ พ.ส.ล.เข้าไปช่วยมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาโลกด้วย 

ในเรื่องมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาโลกนั้น พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (ดร.อนิลมาน ศากิยะ) ในฐานะที่ปรึกษา พ.ส.ล. เสนอให้รื้อข้อบังคับในธรรมนูญของมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาโลก

(The World Buddhist University) เพราะก่อตั้งกว่า 10 ปีแล้ว มหาวิทยาลัยนี้ก่อตั้งโดย พ.ส.ล.อย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ปี 2543 ในโอกาสที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ครบรอบ 84 พรรษา เพื่อถวายพระเกียรติพระองค์ในฐานะที่ทรงส่งเสริมการศึกษาพระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่อง รูปแบบการก่อตั้งจะเป็นมหาวิทยาลัยที่ไม่มีอาคารเรียน ไม่มีอาจารย์สอน และไม่มีนักศึกษา จึงดูไม่เป็นรูปธรรม ดังนั้นจึงมีข้อถกเถียงกันถึงความชัดเจนในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยดังกล่าวมาโดยตลอด เนื่องจากก่อตั้งในนามมหาวิทยาลัย ในที่ประชุมกรรมการมหาวิทยาลัยที่เกาหลี เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2559 มีผู้เสนอให้เปลี่ยนชื่อมหาวิทยาลัยไปใช้เป็นสถาบันเพื่อไม่ให้สับสน แต่ข้อเสนอนี้ตกไป เพราะกรรมการฝ่ายไทยว่าชื่อมหาวิทยาลัยพุทธโลกซึ่งมีสำนักงานที่ พ.ส.ล. กรุงเทพมหานครนั้น ได้เป็นที่รับรู้ของรัฐบาลไทย และเหตุผลที่ตั้งก็เพื่อเป็นเกียรติแก่สมเด็จพระญาณสังวร สมด็จพระสังฆราช

พระ ดร.อนิลมาน เสนอให้มีผู้บริหารจัดการ เพื่อประสานงานกับมหาวิทยาลัยพุทธทั่วโลก เพื่อนำข้อมูลมาสร้างเครือข่ายให้เป็นมหาวิทยาลัยเชิงการวิจัย โดยไม่ต้องมีโครงสร้างเหมือนมหาวิทยาลัยทั่วไป ซึ่งมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาโลก จะเป็นมหาวิทยาลัยกลางที่มีข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยพุทธมากที่สุด

ขณะที่ นรนิติ เศรษฐบุตร รักษาการอธิการบดี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีงบอุดหนุนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ปีละ 5 ล้านบาท ใช้เพื่อดำเนินการสำนักงานเท่านั้น ส่วนผลงานก็พิมพ์ผลงานวิจัยทางพระพุทธศาสนาที่องค์การเครือข่ายค้นคว้า เป็นภาษาอังกฤษออกเผยแพร่ มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาโลก มีนักศึกษาทั่วโลก