posttoday

จัดฉลอง 84 พรรษา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี อย่างสมพระเกียรติ

22 พฤศจิกายน 2552

โดย...สมานสุดโต

โดย...สมานสุดโต

ตั้งแต่เช้าวันที่ 24 พ.ย. 2552 วังรื่นฤดี เลขที่ 69 ซอยสันติสุข ถนนสุขุมวิท 38 กรุงเทพมหานคร จะคึกคักด้วยประชาชนผู้จงรักภักดีและข้าราชบริพาร เพราะเป็นวันฉลองพระชนมพรรษา 7 รอบ ปีฉลูนักษัตร (หรือ 84 พรรษา) สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระองค์เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติเวลาใกล้บ่ายโมง วันที่ 24 พ.ย. 2468 ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาศ ในพระบรมมหาราชวัง ใกล้กับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงพระประชวรหนักด้วยโรคพระอันตะและประทับอยู่

เมื่อประสูติแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้าทรงมีโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทพระบรมชนกนาถเพียงครั้งเดียว เพราะวันรุ่งขึ้นพระบรมชนกนาถได้เสด็จสวรรคต

อย่างไรก็ตาม สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงได้รับการอภิบาลอย่างดีจากพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และทรงได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า

ชัชพล ไชยพร เขียนเล่าไว้ในวชิราวุธานุสรณ์สารว่า พระนางเจ้าสุวัทนาทรงเล่าประทานข้าราชบริพารว่า ถ้าไม่ได้ท่านเจ้าฟ้าก็ไม่เป็นพระองค์ ทั้งนี้เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวร ได้มีพระราชดำรัสกับสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าว่าขอฝากลูกด้วย ซึ่งสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าเคยมีพระราชกระแสว่า เจ้าฟ้านี้ ฉันตายก็นอนตาไม่หลับ พระมงกุฎฝากฝังเอาไว้

พระพลานามัยสมเด็จเจ้าฟ้าไม่ค่อยสมบูรณ์ แต่ก็ได้รับการอภิบาลอย่างดียิ่ง จะเห็นได้จากพระฉายาลักษณ์ที่เจ้าจอมเลียมในรัชกาลที่ 5 ได้ทำสมุดพระรูปเมื่อมีพระชนมายุ 10 เดือน 6 วัน ถวายไว้ 2 เล่ม โดยเจ้าจอมเลียมเขียนที่ปกสมุดภาพว่า ถวายสมเด็จเจ้าฟ้าหญิง เพชร์รัตน์ราชสุดา ศิริโสภาพัณณวดี ฉายเมื่อ วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2469 เพื่อทอดพระเนตรพระฉายาลักษณ์ เมื่อมีพระชนมายุได้ 10 เดือน กับ 6 วัน

สมุดพระรูป

ที่มาของสมุดพระรูปดังกล่าว ข้าราชบริพารเขียนไว้เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2548 ว่า เนื่องในอภิลักขิตวาระที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา ในวันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2548 นับเป็นศุภสมัยอันควรแก่การเฉลิมฉลอง บรรดาข้าราชบริพารได้ปรึกษากันแล้วมีดำริพ้องต้องกันว่า การพิมพ์เอกสารเก่าอันทรงคุณค่าที่ยังมิเคยนำออกสู่สายตาสาธารณชนมาก่อน น่าจะเป็นกุศลวิทยาทานยังประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าของอนุชน และเป็นหนทางสนองพระเดชพระคุณเจ้านายผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งได้อย่างเหมาะสม

ประจวบกับคณะข้าราชบริพารได้พบสมุดพระรูปของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เมื่อมีพระชนมายุ 10 เดือน 6 วัน พร้อมภาพสิ่งของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ขณะทรงพระเยาว์จำนวน 2 เล่ม ซึ่งเจ้าจอมเลียมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจัดทำ ยังทรงเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี จึงได้นำความกราบทูลขอพระราชทานพระอนุญาตจัดพิมพ์ขึ้น โดยวิธีถ่ายภาพจากต้นฉบับและผนวก 2 เล่มให้เป็นเล่มเดียว เพื่อทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสำหรับพระราชทานในงานฉลองพระชนมายุ 80 พรรษา

ทั้งนี้ มิได้ทรงขัดข้องในความดำริของคณะข้าราชบริพาร นับเป็นพระกรุณาธิคุณล้นพ้นหาที่สุดมิได้

อนึ่ง เจ้าจอมเลียมเป็นผู้มีกำเนิดในสกุลบุนนาค ซึ่งเป็นสกุลฝ่ายพระชนนีในพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในรัชกาลที่ 6 ดังนั้น เจ้าจอมเลียมจึงนับเป็นพระประยูรญาติในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ โดยฝ่ายพระชนนีอีกด้วย

สมุดพระรูปนี้ ผู้ประดิษฐ์ได้ใช้กระดาษดำเป็นพื้น พร้อมวาดภาพลายเส้นสีน้ำประกอบไว้อย่างงดงามและมีความหมาย ดังเช่นภาพ “เพชร” ซึ่งสื่อถึงพระนาม “เพชรรัตน์” ก็ปรากฏมีในรูปแบบต่างๆ กันอยู่หลายภาพ สมุดนี้จึงนับเป็นสมบัติอันล้ำค่าไม่เพียงจำเพาะแต่ในส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ หากยังเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ ที่แสดงถึงปรีชาสามารถเชิงศิลปะของสตรีในพระราชสำนักสยามอีกด้วย

รัฐบาลจัดฉลอง

อนึ่ง ในการเฉลิมฉลองพระชนมายุ 7 รอบ ปีฉลูนักษัตร วันที่ 24 พ.ย. 2552 นี้ รัฐบาลจัดงานฉลองถวายอย่างสมเกียรติ โดยใช้ชื่องานเป็นภาษาไทยว่า “งานฉลองพระชนมายุ 84 พรรษา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี” ชื่อภาษาอังกฤษ “The Celebrations of the Birthday Anniversary of Her Royal Highness Princess Bejaratana”

มีทั้งงานพระราชพิธี รัฐพิธี และศาสนพิธี ซึ่งงานพระราชพิธีนั้น สำนักพระราชวังกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ

ส่วนรัฐพิธีและศาสนพิธี จัดพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ในกรุงเทพมหานครที่ลานคนเมือง ส่วนประชาชนทั่วไปทุกศาสนาทั้งที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด สามารถประกอบกุศลพิธีตามหลักของแต่ละศาสนา และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ถวายเป็นพระกุศลได้ตามต้องการ

นอกจากนั้น ยังมีโครงการและกิจกรรมอีกมาก เช่น การบริจาคโลหิตถวายเป็นพระกุศล จัดทำสารคดีพระประวัติ พระกรณียกิจ และพระเกียรติคุณ โดยสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ผลิตจำนวน 9 ตอน เผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง

จัดทำหนังสือเรื่อง “ดวงแก้วแห่งพระมงกุฎเกล้า” ฉบับพ็อกเกตบุ๊กสำหรับจำหน่ายส่วนหนึ่ง นำรายได้มอบให้มูลนิธิเพชรรัตนสุวัทนา และอีกส่วนหนึ่งแจกจ่ายให้แก่ห้องสมุดสถานศึกษา

กรมธนารักษ์จัดทำเหรียญที่ระลึก เช่นเดียวกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย จัดทำดวงตราไปรษณียากรที่ระลึก มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ได้จัดทำนาฬิกาที่ระลึกเพื่อจำหน่ายโดยนำเงินรายได้มอบให้มูลนิธิฯ

โครงการและกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติอีกจำนวนมาก เช่น มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท จัดนิทรรศการพระประวัติ พระเกียรติคุณ และพระกรณียกิจเป็นต้น

ในวโรกาสฉลองพระชนมายุ 7 รอบ ปีฉลูนักษัตร ขอสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ  เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ผู้ทรงเป็นมิ่งขวัญอันประเสริฐสุดของชาวไทย จงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน