posttoday

ไขมันบนโลกไซเบอร์

22 พฤศจิกายน 2552

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

ในวันที่บ้านเรากำลังวิ่งตาม “เทคโนโลยี” ด้วยความกังวลว่าจะตกรถไฟสายโลกาภิวัตน์ขบวนนี้ กลับกลายเป็นจังหวะเดียวกับที่หลายประเทศเริ่มหาทางป้องกันอันตรายจาก “คลื่นลูกที่ 3” หรือยุคแห่งการปฏิวัติข้อมูลข่าวสาร ที่ถาโถมเข้าใส่มนุษยชาติกันจนแทบจะสำลักข้อมูล หรือถูกดูดเข้าไปอยู่ในวังวนของสายธารอันเชี่ยวกรากแห่งนี้จนยากจะถอนตัว
โลกเสมือนในเครือข่ายใยแมงมุมที่ย่อโลกไว้ในแค่หน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว จึงเหมือนจะกลายเป็นอาณาจักรของใครหลายๆ คน ต่างทุ่มเทเวลาไปอยู่ตรงนั้น และบางครั้งก็หลุดไปอยู่ในโลกเสมือน จนไม่สามารถจะถอนตัวกลับเข้ามาสู่โลกความจริง

สัญญาณอันตรายเหล่านี้ สะท้อนด้วยข้อมูลล่าสุดจาก www.netaddictionrecovery.com ที่ระบุว่า ปัจจุบันการเพิ่มจำนวนของคลินิกบำบัด “ผู้ติดอินเทอร์เน็ต” ในประเทศจีน ปาเข้าไปถึง 400 แห่ง ขณะที่สหรัฐอเมริกาเริ่มประเดิมเปิดตัวคลินิกผู้เสพติดอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก ที่รัฐวอชิงตัน ด้วยราคาค่าบริการแพงลิบลิ่วราว 5 แสนบาทต่อคอร์ส

ทำให้ต้องย้อนคิดถึงสภาพเยาวชนไทยที่เคยเป็นข่าวก่อนหน้านี้ ทั้งการใช้ “ร้านเน็ต” เป็นที่ฝังตัว กินนอนเล่นเกม อยู่ข้ามวันข้ามคืน แถมลุกลามมาจนถึงการหนีออกจากบ้านมาปักรกรากเฝ้าหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือการผันตัวไปเป็นขโมยเพื่อหาเงินมาเป็นค่าชั่วโมงเน็ต ก่อนที่จะกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวจัดระเบียบร้านให้บริการอินเทอร์เน็ต

ไม่เว้นแม้แต่บริษัทห้างร้านหลายแห่งที่ออกมาตรการป้องกันการเบียดบังเวลาการทำงานไปกับการแชต หรือเล่นเกมทางอินเทอร์เน็ต จนเกินพอดีของพนักงาน ถึงขั้นต้องสั่งบล็อกระบบป้องกันการเข้าถึงกิจกรรมอันยั่วตายั่วใจบนโลกออนไลน์

โดยเฉพาะในยุคสมัยที่ “โซเชียลเน็ตเวิร์กกิง” กำลังเติบโตแบบก้าวกระโดดขณะนี้ การปลุกกระแส หรือการสร้างค่านิยมใหม่ๆ จึงทำได้ง่ายดาย ผ่านชุมชนออนไลน์แห่งนี้ และยังส่งผลกระทบต่อไปยังรูปแบบการใช้ชีวิต รูปการสื่อสาร ของคนในสังคม ด้วยจุดเด่นเรื่องความเร็ว และการเข้าถึงได้ง่ายมาช่วยอำนวยความสะดวกให้ชีวิต

อย่างกรณีศึกษาสำคัญเรื่องการเล่นเกมปลูกผักบนเฟซบุ๊ก ที่แพร่สะพัดไปทั่วทุกวงการขณะนี้ หากจะวิเคราะห์โดยตัดปัจจัยเรื่องสายเลือดเกษตรกรรมที่ฝังรากลึกอยู่ในตัวคนไทยมาหลายช่วงบรรพบุรุษแล้ว

น่าจะเป็นไปได้ว่า ปัจจัยที่ทำให้คนที่ไม่เคยปลูกต้นไม้ (ของจริง) ยอมลงทุนอดหลับอดนอนคอยทะนุถนอมต้นไม้เสมือนในเฟซบุ๊กนั้น เป็นเพราะการจุดกระแสผ่านสังคมเครือข่ายบนโลกไซเบอร์ ที่ยึดโยงด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัว ทั้งที่รู้จักโดยตรง เหมือนจะรู้จัก และไม่รู้จัก ซึ่งส่งผลให้เกิดการทำตาม และกลายเป็นวงจรลูกโซ่ ที่ขยายวงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
ไม่น่าแปลกใจ กับการพัฒนาการตลาดสมัยใหม่ ที่หันมาเจาะตลาด แทรกตัวนำเสนอสินค้า บริการ ผ่าน “โซเชียลเน็ตเวิร์กกิง” ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ต้องใช้ต้นทุนสูง

แต่อีกด้านหนึ่งอันตรายที่น่าเป็นห่วง คือ ความพยายามปลุกปั่นกระแสสร้างประเด็นต่างๆ ผ่านเครือข่ายออนไลน์ ด้วยข้อดีที่อาจกลายเป็นดาบสองคม เมื่อการเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว แบบไม่มีเครื่องมือกลั่นกรอง บางครั้งก็ต้องแลกมาด้วยความบิดเบือน หรือจงใจสร้างความปั่นป่วน อย่างที่กลุ่มก้อนการเมืองพยายามนำไปใช้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้เราล้วนแต่ถูก “ครอบงำ” ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งเข้ามาแทนที่ช่องทางการสื่อสารแบบเดิมๆ เพียงช่วงระยะเวลาไม่กี่ปี จากการส่งจดหมายติดแสตมป์ที่ใช้เวลาเป็นวันๆ กลายเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งถึงกันเพียงแค่เสี้ยววินาที

การโทรศัพท์แบบเดิมๆ ที่เคยได้ยินแต่เสียง ถูกพัฒนาให้เห็นหน้าคู่สนทนา ตามมาด้วยการระบาดของ “การแชต” หรือการแสดงความคิดเห็นผ่าน “โซเชียลเน็ตเวิร์กกิง” อย่างเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ที่หลายคนพากันติดงอมแงม จนโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ ต้องปรับตัวออกลูกเล่นมารองรับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่

สอดรับกับการขยายตัวโครงข่ายการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งผู้ประกอบการต่างแข่งขันกันทำตลาดจนราคาค่าบริการถูกลงจากเดิมมาก ตามมาด้วยความพยายามผลักดันเดินหน้าระบบ 3G แม้จะติดปัญหาที่ยากจะแก้ไขจนทำให้เริ่มไหลไปอยู่รั้งท้ายรถไฟขบวนนี้

แต่แค่ลำพังแค่การโอนถ่ายข้อมูลด้วยอัตราความเร็วที่ไต่ระดับมาถึง 12 Mb ที่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง พร้อมใจกันงัดโปรโมชันออกมาตัดราคาสร้างแรงจูงใจกันครั้งใหญ่ ก็เพียงพอที่จะทำให้หลายคนต้องมาเฝ้าหน้าจอคอมพิวเตอร์ ในยุคที่อะไรๆ ก็หาได้จากในอินเทอร์เน็ต

ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าข้อมูลหลายต่อหลายเรื่องในอินเทอร์เน็ต ที่ควรจะถูกควบคุมกลับหาได้ไม่ยาก แถมยังมียอดคนเข้าไปดูจำนวนไม่น้อย ตั้งแต่การ สร้างระเบิดด้วยตัวเอง รูปแบบแผนจารกรรม ที่เด็กไม่กี่ขวบก็สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ ดังนั้นการขยายตัวของอินเทอร์เน็ตที่หวังจะให้เป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ จึงอาจกลายเป็นปัญหาย้อนกลับมาทำลายตัวมันเองในอนาคต

ด้วยข้อจำกัดสำคัญเรื่อง “ข้อมูล” ซึ่งมีอยู่มหาศาลที่ยากจะควบคุมได้เช่นนี้ อย่าว่าแต่การพิจารณาว่า “ข้อมูล” ในโลกเสมือนนี้เป็น “ของจริง” หรือ “ของปลอม” แค่ลำพังพิจารณาว่าจะเลือกเข้าไปเสพข้อมูลอะไรบ้างก็แทบไม่มีเวลาเพียงพอในยุคที่เร่งรีบไปเสียหมด

การหวังจะพึ่งพาระบบคัดกรองเบื้องต้น โดยยึดจากเรื่องที่คนสนใจมากที่สุดในแต่ละเว็บไซต์ ก็มีแต่เรื่องราวข่าวฉาวดารา อาชญากรรมสะเทือนขวัญ หรือเกมการเมืองที่ออกมาตอบโต้กันรายวัน จนไม่อาจพึ่งพาดัชนีความนิยมจากแต่ละเว็บไซต์ได้

ยิ่งทุกวันนี้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรามีแต่โปรแกรมแอนตี้ไวรัส ที่คอยทำหน้าที่คัดกรอง แยกโปรแกรมไม่พึงปรารถนา อันอาจจะแฝงตัวมาทำอันตรายตัวเครื่อง แต่เหมือนจะยังไม่มีบริษัทไหนลองออกผลิตภัณฑ์คัดกรองข้อมูล ว่าอันไหนไม่เป็นประโยชน์ อันไหนเป็นเรื่องเท็จ หรือปลุกปั่นหลอกลวง

ไม่ต่างจากการเลือกรับประทานอาหารที่เรายั่วยวนด้วยอาหารมากหน้าหลายตา ประโยชน์มากน้อยแตกต่างกันไป ภายใต้รูปลักษณ์ภายนอก และรสชาติที่ยั่วยวนใจ การใช้อินเทอร์เน็ตไปเพื่อบางกรณี จึงไม่ต่างจากการบริโภคไขมัน ที่หากได้รับในปริมาณที่พอดีก็เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่หากได้รับมากเกินไปก็จะกลายเป็นไขมันสะสม ที่ส่งผลกระทบในระยะยาว

น่าจะถึงเวลาที่เราต้องกลับมาสำรวจการบริโภคอินเทอร์เน็ตของเราว่าถูกสัดส่วน ได้สมดุลมากน้อยแค่ไหน ก่อนที่จะปล่อยให้สถานการณ์ลุกลามสายเกินไป จนต้องพึ่งพาสถานบำบัดการบริโภคอินเทอร์เน็ตที่ผิดสัดผิดส่วน

ถึงวันนั้น สถานบำบัดการเสพติดอินเทอร์เน็ต อาจจะผุดตัวเปิดทำการ กลายเป็นธุรกิจเติบโตใหม่ ไม่ต่างจากสถานบริการความงามสลายไขมันลดความอ้วนในยุคนี้