posttoday

หลวงปู่บุญรอด อธิปุญโญ สุปฏิปันโนแห่งถ้ำไทรทอง

06 ธันวาคม 2552

โดย...ณศักต์ อัจจิมาธร

โดย...ณศักต์ อัจจิมาธร

หากไล่เรียงรายชื่อศิษย์ที่เป็นทายาทธรรมของพ่อแม่ครูอาจารย์สายสำนักพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แล้ว รายชื่อเหล่านั้นจะขาดชื่อของ หลวงปู่บุญรอด อธิปุญโญ แห่งวัดถ้ำไทรทอง ต.นาตาล อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ ไปมิได้

หลวงปู่บุญรอดนั้น เรียกได้ว่าเป็นศิษย์ก้นกุฏิรูปหนึ่งของ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ มหาสมณะแห่งวัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน ต.หนองบัวบาน อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี เนื่องจากหลวงปู่บุญรอดได้ถวายตัวเป็นศิษย์เข้ารับการฝึกอบรมภาวนาจากหลวงปู่อ่อน นับตั้งแต่พรรษาแรกที่อุปสมบท

นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งในคณะพระคิลา นุปัฏฐากที่ได้รับความไว้วางใจจากหลวงปู่อ่อนให้อุปัฏฐากดูแลท่าน รวมทั้งก่อนที่หลวงปู่อ่อนจะดับขันธ์ หลวงปู่บุญรอดก็เป็นผู้เดียวที่ได้ทำหน้าที่อุปัฏฐากดูแลกระทั่งวินาทีสุดท้าย  

หลวงปู่บุญรอด อธิปุญโญ สุปฏิปันโนแห่งถ้ำไทรทอง หลวงปู่บุญรอด อธิปุญโญ

หลวงปู่บุญรอด มีนามเดิมว่า บุญรอด ยอดคีรี เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มี.ค. 2488 ที่บ้านหนองบัวบาน ต.หมากหญ้า อ.เมือง จ.อุดรธานี มีพี่น้องร่วมสายเลือดทั้งสิ้น 4 คน โดยหลวงปู่บุญรอดเป็นบุตรคนที่ 3 ของครอบครัว

ใช้ชีวิตฆราวาสมาจนกระทั่งอายุได้ 21 ปี ในปี 2509 ท่านจึงได้คิดที่จะออกบวช เนื่องจากได้เข้ารับการเกณฑ์ทหารแต่จับได้ใบดำ ทำให้ไม่ต้องติดทหาร ท่านจึงนึกถึงคำที่มารดาพูดเอาไว้ว่า ต้องการให้บวชให้ จึงตัดสินใจเข้าไปกราบขอโอกาสเพื่อฝึกขานนาคกับหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ที่วัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน

ฝึกขานนาคจนคล่องแล้วจึงได้อุปสมบทที่ วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2509 โดยมี พระราชเมธาจารย์ (จันทร์ศรี จันททีโป) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระจันโทปมาจารย์ (จันโท กตปุญโญ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอุดรคณานุศาสน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

บวชแล้ว หลวงปู่บุญรอดก็ได้มาจำพรรษาเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและรับการฝึกปฏิบัติภาวนาจากหลวงปู่อ่อน เป็นเวลา 3 พรรษา โดยได้มีโอกาสติดตามพ่อแม่ครูอาจารย์รูปอื่นๆ อาทิ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่คำผอง กุสลธโร หลวงปู่จันทร์เรียน คุณวโร หลวงปู่ผจญ อสโม ออกธุดงค์ในแถบบ้านห้วยน้ำริน บ้านช่อแล ผาแด่น จ.เชียงใหม่ รวมถึงในแถบ อ.ภูเรือ และ อ.ด่านซ้าย จ.เลย

ระหว่างพรรษาที่ 4 หลวงปู่บุญรอดได้มีโอกาสไปกราบนมัสการ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต แห่งวัดภูจ้อก้อ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร เนื่องจากครั้งนั้นหลวงปู่บุญรอดได้เดินธุดงค์มากับ พระอาจารย์ศรีนวล ขันตธโร และมาพักที่วัดป่ามัชฌันติการาม ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดภูจ้อก้อ โดยหลวงปู่บุญรอดได้เล่าถึงการสอนของหลวงปู่หล้าไว้ว่า

“หลวงปู่หล้าท่านสอนแบบกันเอง แบบพ่อกับลูก เวลาท่านสอนนะ เวลาท่านนั่งเทศน์ บางครั้งท่านก็นอนลงเลย ท่านก็บอกวิธีภาวนา ทำอย่างนี้ๆ เอามือใส่อย่างนี้ เรียกว่า เวลานอนภาวนาท่านก็บอกให้นอนแบบสีหไสยาสน์ เวลาท่านนั่งเทศน์ท่านนอนลงเลย ทำอย่างนี้นะลูก ทำอย่างนี้นะ ท่านแสดงท่าทางกิริยา ท่านทำให้ดูเลย อยู่กับท่าน ท่านสอนแบบพ่อกับลูก สอนด้วยความเมตตา แล้วเวลาเราจะไปจากท่าน ท่านให้มีสัมปชัญญะ ความรู้ตัวทุกลมหายใจเข้าออก เวลาไปหยิบของนี่ ไม่ว่ากระโถน ไม่ว่าภาชนะ ไม่ว่าถาด ก่อนจะไปหยิบท่านให้นั่งลงก่อน ท่านฝึกหัดลูกศิษย์ท่านให้นั่งลงเรียกว่า ฝึกให้มีสติสัมปชัญญะ ความรู้ตัว ให้มีสมาธิอยู่อย่างนั้น ก่อนจะจับของ”

หลังได้อยู่รับการอบรมจากหลวงปู่หล้าได้ 4 พรรษา หลวงปู่บุญรอดก็ออกเดินธุดงค์ต่อไปยังหายพื้นที่ในแถบอีสาน กระทั่งพรรษาที่ 13 จึงกลับมาจำพรรษาอยู่กับหลวงปู่อ่อนอีกครั้ง ซึ่งครานี้ หลวงปู่บุญรอดได้เฝ้าอุปัฏฐากหลวงปู่อ่อนอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งหลวงปู่อ่อนดับขันธ์ในปี 2524

จากนั้นหลวงปู่บุญรอดก็ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดป่านิโครธารามอีกกว่า 5 พรรษา รวมทั้งได้ออกวิเวกไปยังสถานที่ต่างๆ อีกหลายแห่ง ก่อนจะตัดสินใจมาตั้งวัดอยู่ที่ถ้ำไทรทอง ซึ่งเป็นถ้ำร้างอยู่ในป่า อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ และได้พัฒนาจนกลายเป็นวัดถ้ำไทรทอง ซึ่งเป็นสถานที่ปฏิบัติภาวนาสำคัญแห่งหนึ่งสำหรับภิกษุสามเณรและสาธุชนผู้ศรัทธาในปัจจุบัน
นอกจากนี้ การเข้ามาสร้างวัดถ้ำไทรทองขึ้นยังก่อให้เกิดการรวมตัวของชาวบ้านจนเกิดเป็นหมู่บ้านถ้ำไทรทองขึ้นมา รวมทั้งได้มีผู้ศรัทธาถวายที่ดินให้หลวงปู่ก่อตั้งวัดมากมาย โดยปัจจุบันมีวัดสาขาของหลวงปู่บุญรอด กระจายอยู่ใน จ.กาฬสินธุ์ จ.อุดรธานี และ จ.หนองบัวลำภู ถึง 16 แห่ง

หลวงปู่บุญรอดเป็นผู้ถือปฏิบัติจริยวัตรที่งดงามยิ่งนัก ไม่ว่าจะเป็นการเดิน การนั่ง การฉัน การพูดจา ท่านจะคอยสอนให้พระเณรในวัดปฏิบัติตามข้อวัตรต่างๆ อย่างเคร่งครัด เช่น เรื่องการสวดมนต์ ซึ่งท่านจะพูดให้พระเณรฟังเสมอว่า “ชาวนามีคราดมีไถ พระเณรก็ต้องสวดมนต์สวดพรให้ได้”

แม้ในบันทึกประวัติของหลวงปู่บุญรอดจะไม่มีส่วนของรายละเอียดการฝึกปฏิบัติภาวนาขององค์ท่านว่าเป็นอย่างไร และได้ผลเยี่ยงไร หากแต่ธรรมเทศนา เรื่อง “วิธีภาวนาเบื้องต้น” ที่ท่านเมตตาอนุญาตให้ศิษย์ผู้ใกล้ชิดบันทึกเทปไว้เป็นครั้งแรกในปี 2545 ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงสิ่งที่ท่านได้ปรามจากการปฏิบัติภาวนา

“ธรรมะแสงสว่างก่อเกิดจากคนทำขึ้นมา 84,000 พระธรรมขันธ์ ก็ย่อลงมาทาง 8 สาย (หมายถึงอริยมรรคมีองค์ 8) 8 สาย ก็ย่อลงมาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ย่อลงมาให้เป็นมหาสติ มหาปัญญา ให้รักษาตัวเดียว ศีล สมาธิ ปัญญาท่านให้รักษาตัวเดียว รักษาศีลข้อเดียว คือ มหาสติ มหาปัญญา

วิธีทำขอให้พวกเราทั้งหลายทำอย่างปะติดปะต่อ การทำโดยนั่งสมาธิหรือจะเดินจงกรม การปฏิบัติในอิริยาบถ 4 ยืน เดิน นั่ง นอน เราทำได้ เรามาฝึกหัดนั่งหลับตา เรียกว่า ฝึกจิตขั้นแรก เมื่อเราเป็นแล้ว รู้จักแล้ว ลืมตาก็ไม่เป็นอุปสรรค ทำการทำงานอะไรให้มีสติสัมปชัญญะรู้ตัว ไม่ให้มันเป็นอย่างอื่นอย่างนั้นล่ะ ทำได้ไม่เลือกกาล เลือกเวลา กำหนดรู้อยู่อย่างนั้นน่ะ ไม่วันใดวันหนึ่งเราก็จะได้ตามที่หมายขึ้นมา ก็จะรู้เหตุรู้ผล ธรรมรักษาผู้ปฏิบัติธรรมไม่ให้ตกไปในทางที่ชั่ว”

หลังจากที่หลวงปู่บุญรอดได้อนุญาตให้บันทึกเทปธรรมเทศนาของท่านไว้เป็นครั้งแรกในปี 2545 ท่านก็ได้ปรารภกับศิษย์ผู้บันทึกเทปว่า ให้ทำการรวบรวมประวัติของท่านเอาไว้ โดยท่านได้เขียนประวัติย่อด้วยลายมือมามอบไว้ให้แก่ศิษย์พร้อมทั้งนำภาพถ่ายและเทปบันทึกธรรมเทศนาอีกหนึ่งม้วนมามอบให้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้หลวงปู่บุญรอดไม่ค่อยยอมให้ถ่ายรูปหรือบันทึกเทปธรรมเทศนาของท่าน รวมทั้งไม่ค่อยเล่าประวัติให้ศิษย์ฟัง

กระทั่งเดือนพ.ค. 2549 หลวงปู่บุญรอดได้อาพาธด้วยอาการหัวใจมีการเต้นผิดจังหวะ อาการเส้นโลหิตในสมองอุดตันรวมถึงอาการเส้นเลือดหัวใจขาดเลือกอย่างเฉียบพลัน และได้ดับขันธ์ไปเมื่อวันอังคารที่ 9 พ.ค. 2549 สิริรวมอายุได้ 61 ปี 40 พรรษา

หลังการถวายเพลิงศพอัฐิธาตุและอังคารของหลวงปู่บุญรอดก็ได้แปรสภาพเป็นพระธาตุจำนวนมาก ดั่งคำตรัสสอนของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสว่า “ตราบใดยังมีผู้ปฏิบัติตามมรรค 8 โลกย่อมไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์”