posttoday

คณะสงฆ์จะตั้งแม่กองหมู่บ้านรักษาศีล 5

18 กันยายน 2559

โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 จะเป็นองค์การถาวร ชื่อแม่กองโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ภายใต้การกำกับดูแลของ

โดย...สมาน สุดโต

โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 จะเป็นองค์การถาวร ชื่อแม่กองโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ภายใต้การกำกับดูแลของกรรมการมหาเถรสมาคม เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และติดตามดูแลหมู่บ้านรักษาศีล 5 ที่มีอยู่ทั่วประเทศปัจจุบันคณะสงฆ์มีแม่กองธรรมสนามหลวง และแม่กองบาลีสนามหลวง ที่ทำหน้าที่กำกับการเรียน และการสอบนักธรรมและบาลีประจำปี ซึ่งปีหนึ่งก็ทำงานระยะสั้นๆ แต่โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 จะต้องทำงานตลอดปี มีโครงข่ายงานทั่วประเทศ พระพรหมเสนาบดี (พิมพ์) ประธานขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 กล่าวถึงเรื่องนี้กับโพสต์ทูเดย์เมื่อเร็วๆ นี้ว่า โครงการหมู่บ้านรักษาศีล 5 เป็นโครงการเพื่อความปรองดอง สมานฉันท์ของคนในชาติ ตามดำริของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม และเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เมื่อเดือน พ.ย. 2557 ต่อมา คสช.และรัฐบาลได้สนองตอบ โดยรับเป็นหนึ่งในโครงการภาครัฐและ คสช. เพราะมีเป้าหมายตรงกันคือความปรองดอง สมานฉันท์ ของคนในชาติโดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา

พระพรหมเสนาบดี ที่ได้รับการแต่งตั้งจากมหาเถรสามาคมให้เป็นประธานขับเคลื่อน ทำงานอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย และไม่ย่อท้อ เมื่อเห็นคณะสงฆ์และประชาชนเข้าร่วมโครงการอย่างกระตือรือร้นและเสียสละ ท่านจึงเดินไปมอบนโยบายให้กำลังใจและมอบป้ายให้กับหมู่บ้าน และโรงเรียนที่รักษาศีล 5 รวม 74 จังหวัด ในหลายอำเภอและตำบล ทั้งทางรถยนต์และเครื่องบินในเวลาเกือบ 3 ปี เว้นแต่ จ.ปัตตานี ยะลา สตูล และนราธิวาส ที่ยังไม่ได้ไป การเดินทางแบบนี้ที่ประทับใจ แม้บางเส้นทางต้องใช้เวลานั่งรถยนต์นานไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง เช่น การเดินทางไป จ.ชัยภูมิ และนครพนม ส่วนทางภาคใต้ที่ใช้เวลาเดินทางมาก ได้แก่ จ.ระนอง และสุราษฎร์ธานี ซึ่งใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมง

พระพรหมเสนาบดี กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการเด่นของคณะสงฆ์ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่หลวงพ่อสมเด็จดำริเรื่องนี้เมื่อ พ.ศ .2557 เนื่องด้วยปัญหาทางการเมืองในช่วงนั้นทำให้ประชาชนแบ่งสีและแตกสามัคคี ท่านจึงนำโครงการนี้มาแก้ปัญหา

คณะสงฆ์จะตั้งแม่กองหมู่บ้านรักษาศีล 5 คุณหญิงสมนึก เปรมวัฒนะ ประธานจัดงานอายุวัฒนมงคล 71 ปี พระพรหมเสนาบดี ถวายพวงมาลาแด่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ โดย ดร.วนิดา ร่วมอนุโมทนา

 

เมื่อโครงการนี้สิ้นสุดในปีงบประมาณ 2560 ทางคณะสงฆ์จะประกาศหมู่บ้านรักษาศีล 5 ต้นแบบของแต่ละอำเภอทั่วประเทศ ขณะนี้ได้ส่งสมุดรายงานหมู่บ้านต้นแบบไปให้ผู้เกี่ยวข้องระดับหมู่บ้าน เพื่อให้ส่งรายงานแล้วนำมาประเมินในระดับจังหวัด ระดับหน และระดับส่วนกลาง โดยใช้คะแนนเป็นเครื่องตัดสิน เริ่มตั้งแต่ร้อยละ 50 ถือว่าต้องปรับปรุง และคะแนนสูงสุดร้อยละ 85 ขึ้นไป ถือว่าดีมาก

ส่วนสถานที่ที่ประกาศหมู่บ้านต้นแบบกำหนดใช้สถานที่ของวัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยจะมีงานนิทรรศการและแสดงสินค้า OTOP จากหมู่บ้านต้นแบบด้วย

พระพรหมเสนาบดี ป.ธ.7 M.A. เจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา เจ้าคณะภาค 7 ที่ดูแล จ.เชียงใหม่ ลำพูน และแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า ก่อนจะมาอยู่วัดปทุมคงคา เมื่อ พ.ศ. 2515 นั้น ท่านเป็นพระจำพรรษาที่วัดคลองวาฬ จ.ประจวบคีรีขันธ์ จนกระทั่งสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค พรรษาที่ 6 จึงติดต่อวัดต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร เพื่อมาจำพรรษาและเรียนต่อ วัดที่อ้าแขนรับ ได้แก่ วัดอรุณราชวราราม วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ และวัดปทุมคงคา ในที่สุดเลือกวัดปทุมคงคา เพราะอาจารย์ที่วัดคลองวาฬแนะนำว่า พระธรรมปิฎก (สนิท) ต่อมาเป็นสมเด็จพระธีรญาณมุนี ดูแลภาคนั้นอยู่ การที่วัดต่างๆ อ้าแขนรับ เพราะท่านเป็นพระที่ทรงปาฏิโมกข์ ปัจจุบันแม้จะเป็นเจ้าอาวาสก็ยังอยู่ในคิวต้องสวดปาฏิโมกข์ร่วมกับพระรูปอื่นๆ อีก 5 รูป ที่วัดปทุมคงคา

ท่านเล่าเกร็ดชีวิตที่มาถึงวันนี้โดยไม่ได้คาดฝัน เช่น เรื่องเรียนนักธรรมบาลีที่วัดคลองวาฬ จากผู้เรียน 24 รูป แต่เหลือสอบได้ถึง ป.ธ.5 มีท่านเพียงรูปเดียว หรือการได้ตำแหน่งเจ้าคณะเขตสัมพันธวงศ์ ก็ประหลาดเพราะวันหนึ่ง พระสุเมธาธิบดี (บุญเลิศ) เจ้าคณะ กทม. (ในครั้งนั้น) ให้ไปที่วัดมหาธาต เมื่อไปถึงก็มอบใบแต่งตั้งเจ้าคณะเขตให้ แม้กระทั่งการเป็นรองเจ้าคณะภาค 7 ก็ได้เป็นหลังจากเป็นพระราชาคณะชั้นเทพได้ 3 วัน (พ.ศ. 2545) ท่านเล่าว่า ท่านก็ไม่ได้ทำประวัติเพื่อขอเลื่อนนับแต่ชั้นราช (พ.ศ. 2537) ถึงชั้นรองสมเด็จ เพราะแต่ละตำแหน่งได้มาโดยไม่คาดฝัน เช่น ได้เลื่อนสมณศักดิ์ชั้นรองสมเด็จ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2557 ขณะที่อายุเพิ่ง 69 ปี (เกิดวันที่ 16 ก.ย. 2488) ก็ทำให้คณะสงฆ์ทั้งมวลแปลกใจ เพราะข้ามอาวุโสท่านอื่นๆ ถึง 21 รูป และเพิ่งเป็นพระราชาคณะชั้นธรรมได้ 4 ปี (พ.ศ. 2543) ที่เป็นเช่นนี้เพราะพระเถระผู้ใหญ่เมตตาด้วยเห็นว่าท่านเป็นพระทำงานให้กับคณะสงฆ์ตลอดเวลา

งานเด่นของท่านจนเป็นที่พอใจของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ คือ การสร้างโปรแกรมสมณศักดิ์ ประมวลผลโดยคอมพิวเตอร์ เมื่อ พ.ศ. 2533 (เริ่มสร้าง พ.ศ. 2530 ขณะที่เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระสุธีปริยัติยาภรณ์) เพราะโปรแกรมคอมพิวเตอร์ใช้เวลา 4 วันทำงานเรียบร้อย ในขณะที่แบบเดิม (แมนนวล) ใช้เวลาเป็นเดือนๆ

ปัจจุบันจึงเห็นทำเนียบพระราชาคณะฉบับสมบูรณ์ที่มาจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ กลายเป็นหนังสือที่พระเถรานุเถระที่ได้เลื่อนหรือแต่งตั้งสมณศักดิ์ จะต้องขอลิขสิทธิ์ไปพิมพ์ กลายเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับคณะสงฆ์ที่มียอดพิมพ์สูงเป็นประวัติการณ์