posttoday

ศึกษาธรรมปฏิบัติ เพื่อพัฒนาจิตตามพุทธวิถี(๓)

07 ธันวาคม 2552

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

ปุจฉา : กราบนมัสการพระอาจารย์อารยะวังโสที่เคารพยิ่งด้วยเศียรเกล้า

กระผม นายฤทธิพร พินรอด ขอโอกาสและขอเมตตาหลวงพ่อเพื่อถามคำถามดังนี้

๑.วันหนึ่งกระผมขณะนั่งสมาธิได้เกิดภาพพระผู้ทรงคุณองค์หนึ่ง หลังจากนั้นภาพของพระองค์นั้นจากที่มีเนื้อหนังก็กลายเป็นเหี่ยวแห้งเหลือแต่กระดูก จากกระดูกก็สลายกลายเป็นกองกระดูก จากกองกระดูกก็กลายเป็นกองดิน จากกองดินก็กลายเป็นฝุ่นผงแล้วก็สลายไป แล้วก็กลับมาเป็นพระสงฆ์องค์เดิมอีกครั้ง พร้อมอมยิ้มไม่ได้พูดเอ่ยอะไร อยากกราบเรียนถามว่า ถ้าเจอสภาวะเช่นนี้แล้วควรคงอารมณ์แบบไหนจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ถ้าจะจับเป็นกองกรรมฐานคือกรรมฐานกองใด ใช่มรณานุสติหรือไม่

๒.วันหนึ่งขณะนั่งสมาธิ นั่งจนคำภาวนาหาย รู้สึกเท้าชาแข็ง จากนั้นมือเท้าก็ไร้ความรู้สึก ลมหายใจก็ค่อยๆ เบาลงๆ จนเหมือนลมหายใจหายไป แล้วไปไหนต่อไม่ได้เพราะร่างกายไม่ยอมสั่งการ จะสูดลมหายใจเข้าก็ไม่ได้เพราะไม่รู้สึกถึงลมหายใจแล้ว จะภาวนาต่อก็ไม่ไปเพราะคำภาวนาก็หายไปเหมือนกัน ภาพต่างๆ ก็ไม่เกิดขึ้น เสียงต่างๆ ก็เหมือนหายไป อยากกราบเรียนถามว่าควรทำอย่างไรต่อไปจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดครับ แล้วทำไมหลังจากวันที่เกิดสภาวะนี้จึงไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย เพราะอะไรครับ จำเป็นหรือไม่ที่นั่งสมาธิให้ได้ดีจะต้องเกิดสภาวะนี้ครับ

กราบนมัสการด้วยเศียรเกล้า
นายฤทธิพร พินรอด

วิสัชนา : สภาพปรุงแต่งด้วยบุญบาป เรียกว่า อภิสังขารมาร และสภาพวิญญาณสภาพตัวรู้ที่ไปก่อตัวเกิดขึ้นเป็นนามรูปทั้งหลาย ก็จะมีอำนาจหนึ่งเกิดขึ้นในภาวะของสภาพแห่งความปรุงแต่งที่สืบเนื่องไปถึงวิญญาณก่อตัวเกิดขึ้นในนามรูปนั้น เรียกว่า เทพบุตรมาร และสุดท้ายนั้นสภาพปรากฏการณ์อันเป็นธรรมชาติที่เป็นปกติ ที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงและตัดรอน สลายสภาพนามรูปนี้อยู่ตลอดเวลา ก็คือ มัจจุมาร หมายถึง ความแตกดับแห่งนามรูปนี้เป็นที่สุด และหมุนวนกลับมาก่อตัวเป็นขันธ์ ก็สืบเนื่องด้วยกิเลสประกอบบาปบุญ คุณโทษ ถึงแม้จะเหนี่ยวไปในอารมณ์ธรรมอันสูงในสุขปีติทั้งหลาย ก็ยังเป็นโทษในส่วนของเทพบุตรมาร ความหมายก็คล้ายๆ กับคติของความสุข ที่เป็นเครื่องขวางกั้นการที่จะประกอบคุณความดีเพื่อไปสู่ความสิ้นทุกข์ได้เช่นกัน และในนัยเป็นปรมัตถ์อันหนึ่งของคำว่าเทพบุตรมารนั้น เป็นภพภูมิอันหนึ่งที่เป็นกายทิพย์ กายละเอียด แต่อีกนัยหนึ่งคือสภาพความเป็นสุขทั้งปวงตามที่กล่าวมา อันเป็นเครื่องขวางกั้นเช่นเดียวกัน เช่น เร้าไปเป็นคติแห่งความสุขเกิดในเทพยดาทั้งหลาย ในช่วงที่เสพสุขเสวยบุญนั้นอยู่ ก็ไม่ได้มาประกอบคุณความดีเหมือนคนที่เกิดมาร่ำรวย มีความพร้อม จนลืมไปที่จะประกอบคุณความดี ไม่เข้าใจเหตุปัจจัยว่าที่ได้มานั้นด้วยอำนาจบุญกุศล จึงไม่ได้ประกอบคุณความดี เหนี่ยวอยู่ในสมบัติพัสสถานทั้งหลาย สุดท้ายเมื่อตายไปทรัพย์นั้นสิ้นไปเหมือนภาพลวงตา ที่เหลืออยู่ก็คือผลแห่งกรรม การกระทำ โอ้หนอ! เราไม่ได้ประกอบคุณความดีเลย จึงมีสืบเนื่องสมบัติข้างหน้านั้นน้อยนิดนัก หรือไม่มีเลย หรือประกอบความชั่วเกิดขึ้น นัยเช่นนั้น ในที่สุดไม่ว่าจะคติแห่งความสุข คติแห่งความทุกข์ ก็ต้องพบกับมัจจุมาร ก็ต้องพบกับความแตกดับ ความแตกดับของรูปนามดังกล่าว จึงเรียกว่าการประสบกับมัจจุมาร คือ ความตาย นั้นเอง

ดังนั้น การเดินบนเส้นทางประพฤติธรรมที่ศรัทธาสาธุชนทั้งหลายพึงประกอบศาสนกิจกันอยู่นั้น ก็ต้องเข้าใจจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนาว่า บนเส้นทางหนทางการประพฤติปฏิบัตินั้น ก็คือการเผชิญกับความทุกข์ ถ้าใครนั่งแล้วสุขนั่นเป็นมาร นัยแห่งเทพบุตรมารได้เช่นเดียวกัน ถ้ายินดีในความสุขจนลืมการประกอบคุณความดี ถือว่าเป็นเทพบุตรมารสิงสถิตได้เช่นเดียวกัน เพื่อดลจิตดลใจเราให้ออกไปจากการประกอบคุณความดี ด้วยอำนาจธรรมใดๆ ก็เป็นเทพบุตรมารมาขวางกั้นได้ เพราะฉะนั้นการเดินทางบนเส้นทางดังกล่าว ที่เราต้องเผชิญกับความทุกข์นั้น จึงต้องมีปัญญาอันบำรุงด้วยสติที่เข้มแข็ง แก่กล้า เพื่อเผชิญกับความทุกข์อุปสรรคทั้งปวงที่เรียกว่า มาร ซึ่งพระพุทธศาสนาของเรานั้นไม่ได้ให้ความหมายของการประพฤติปฏิบัติเพื่อหนีทุกข์ แต่เราต้องการสิ้นทุกข์ หรือดับทุกข์ ซึ่งการสิ้นทุกข์หรือการจะดับทุกข์ให้สิ้นได้นั้นต้องประพฤติปฏิบัติ ต้องเผชิญกับความทุกข์ ต้องเผชิญมาร เพราะฉะนั้นการที่เรานั่งปฏิบัติธรรม เราต้องถามตัวเราว่า ขันธ์นี้เป็นมารไหม มีความทุกข์ไหม เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจที่ว่า เพราะมีขันธ์จึงมีทุกข์ รูปนามขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เกิดมาเป็นทุกข์ ดำรงชีวิตอยู่ก็เป็นทุกข์ ที่เราดำรงตนขณะนี้อยู่ นั่งขณะนี้ก็เป็นทุกข์ พิจารณาในขณะนี้ให้รู้ว่ามันเป็นทุกข์ไหม นั่งไปมันเจ็บมันปวด มันเมื่อย มันมีอาการบีบเค้นคับแค้นไม่สบายกาย ไม่สบายใจ นั่นแหละคือความทุกข์ ทุกข์มันบีบเค้นบีบคั้น ภัยคุกคามเป็นทุกข์ เราอยากจะนั่งให้มันสุขกว่านี้ได้ไหม เราหาเบาะมารองก้น ผ้ามารองก้น ก็ยังเจ็บยังปวด ช่องพับช่องขาทั้งหลาย ตามสะเอวให้ปวดเจ็บ ให้ทุกข์ทรมานคับแค้นใจ บีบเค้นกาย ซึ่งเป็นไปตามอำนาจของมาร เพื่อให้เราถดถอย เบื่อหน่าย หดหู่ เศร้าหมอง ไม่อยากทำความดี รูปขันธ์นี้จึงเป็นมาร ปรุงแต่งจากรูปขันธ์เข้าสู่ความรู้สึก ยกสู่อารมณ์แห่งจิตให้เสวย เรียกว่า เวทนา นำไปสู่ความสุข ความทุกข์ ชอบใจไม่ชอบใจ ก่อให้เกิดความรู้สึกนี้ เกิดความโลภความอยากได้ต่างๆ นานา ระเริงรื่นในความกำหนัดยินดีทั้งปวง เหนี่ยวรั้งอารมณ์ทั้งหลาย เพลิดเพลินจนขาดสติ และหมกมุ่นอยู่ในอำนาจของความเป็นไปในกามคุณทั้งหลายให้เห็นผิด ให้ไม่เข้าใจในความจริง นี่เป็นกิเลสมาร ไม่อยากทำความดี อยากลุก อยากหนี ไม่อยากเป็นไปเพื่อให้ถึงซึ่งความสิ้นทุกข์

อ่านต่อฉบับหน้า

**ส่งคำถามหรือ แสดงความเห็นในเรื่องต่างๆได้ที่ คอลัมน์ธรรมส่องโลก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ อาคารบางกอกโพสต์ 136 ถนน ณ ระนอง แยกสุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110 โทรสาร 02-671-3132