posttoday

พระกริ่งพรหมมุนี (สังฆราชแพ) พ.ศ. 2460

11 กันยายน 2559

เปิดสนามวันนี้ด้วยธรรมะจากพระอาจารย์ลี ครับ “โลกเป็นของกว้างขวางและหมุนอยู่เสมอ จงหยุดหมุนตามโลก

โดย...อาจารย์ชวินทร์ [email protected]

เปิดสนามวันนี้ด้วยธรรมะจากพระอาจารย์ลี ครับ “โลกเป็นของกว้างขวางและหมุนอยู่เสมอ จงหยุดหมุนตามโลก ให้มองแต่ตัวเรา แล้วเราจะมองเห็นโลกได้”

ก่อนอื่นขอขอบคุณแฟนทางบ้านที่แบ่งปันพระมาให้ชมกัน ชมพระสวย ดูง่ายกันครับ ภาพพระเครื่องที่นำมาให้ชมกันนี้สามารถนำไปเป็นแนวทางดูเนื้อหาพิมพ์ทรงได้ครับ หากภาพไม่ชัดในหน้าหนังสือพิมพ์สามารถเข้าไปชมในเว็บไซต์ของโพสต์ทูเดย์ได้ครับ เข้าไปที่หัวข้อ “ธรรมะ จิตใจ” และสามารถดูย้อนหลังได้ จะเห็นภาพที่คมชัดทั้งหมดครับ

องค์แรก พบกับพระกริ่งพรหมมุนี ของสมเด็จพระสังฆราช (แพ วัดสุทัศน์) ท่านจัดสร้างขณะครองสมณศักดิ์ พระพรหมมุนี ซึ่งอยู่ระหว่างปี 2455-2465 มีหลายชื่อ ทั้งเขมรน้อย พิมพ์เล็ก และพิมพ์ใหญ่ และมาสร้างในปี 2459 จำนวน 61 องค์ เนื้อนวโลหะ เรียกว่า รุ่นถวายสำรับ เพื่อประทานให้ศิษย์ที่จัดทำสำรับถวายพระเถระ ในวาระสมัยฉลองอายุครบ 5 รอบ ในปี 2459 หลังจากนั้นก็มีสร้างเพิ่มเติมตามโอกาส แต่จำนวนไม่มากจนถึงปี 2465 ถ้าเป็นกริ่งที่พระยาศุภกรสร้างปี 2460 จะใช้โลหะชนวนพระพุทธชินราช วัดเบญจมบพิตร วรรณะจะออกเหลือง องค์นี้เป็นพิมพ์กริ่งใหญ่ ดูง่าย เนื้อจัด ราคาเช่าหา หลักล้านกลางเป็นของแฟนทางบ้าน คุณภูวเมศฐ์ ธีรตันติเกียรติ ครับ

พระกริ่งพรหมมุนี (สังฆราชแพ) พ.ศ. 2460

 

องค์ที่สอง ชมสมเด็จวัดเกศไชโย ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารัตนบดินทร (บุญรอด) เป็นแม่กองปฏิสังขรณ์วัดไชโยขึ้นใหม่ ระหว่างสร้างพระวิหารครอบพระมหาพุทธพิมพ์ ที่วัดไชโย และได้กระทุ้งรากฝังเข็ม พระมหาพุทธพิมพ์ทนการกระเทือนไม่ได้จึงพังทลายลงมา และจากการที่พระมหาพุทธพิมพ์พังทลายลงมานี่เอง จึงได้พบพระพิมพ์เนื้อผงขาวทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นจำนวนมาก เรียกกันว่า “พระสมเด็จวัดเกศไชโย” เป็นที่ยอมรับว่า “พระสมเด็จวัดเกศไชโย” เป็นพระเครื่องที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ สร้างและบรรจุเอาไว้เพื่อเป็นพุทธบูชาและเป็นอนุสรณ์แด่โยมมารดาของท่านชื่อ “เกศ” ตามบันทึกของพระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) และนายกสัชฌุกร ซึ่งได้บันทึกจากการบอกเล่าของพระธรรมถาวร (ช่วง จันทโชติ) สามเณรที่ช่วยท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ตำผงเพื่อสร้างพระสมเด็จประมาณปี 2409 ที่วัดระฆังโฆสิตาราม และส่วนหนึ่งได้นำไปบรรจุไว้ที่วัดเกศไชโย จ.อ่างทอง พระสมเด็จวัดเกศไชโย เป็นพระเนื้อปูนขาว ด้านหลังเป็นรอยกาบหมาก พิมพ์ที่นิยมมี 3 พิมพ์คือ พิมพ์ 7 ชั้น นิยม พิมพ์ 6 ชั้น อกตัน และพิมพ์ 6 ชั้น อกตลอด องค์ที่นำมาให้ชมนี้เป็นพิมพ์ 6 ชั้น อกตลอด สภาพสวยสุด ดูง่าย ราคาว่ากันหลักแสนกลางเป็นของคุณชรัฐ ตามไท

องค์ที่สาม ชมพระสมเด็จอรหัง เป็นต้นแบบพระแบบชิ้นฟัก เพราะผู้สร้างพระเครื่องพิมพ์นี้เป็นสมเด็จพระสังฆราช และเป็นผู้สร้างพระสมเด็จอรหังด้วย คือ พระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) และเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) มี 5 พิมพ์ คือ เนื้อผงสีขาว พิมพ์สังฆาฏิ มีแบบเศียรโต และแบบเศียรเล็ก, เนื้อผงสีขาว พิมพ์ฐานคู่, เนื้อผงสีขาว พิมพ์เกศเปลวเพลิง และพิมพ์เล็ก ส่วนเนื้อผงผสมว่านออกสีแดงเหมือนปูนกินหมาก คือ พิมพ์โต๊ะกัง พระทุกพิมพ์จะมีจารเป็นลายมือเส้นเล็ก ว่า อรหัง ยกเว้นเนื้อแดงหรือโต๊ะกัง จะถูกปั๊มลึกเป็นอักขระคำว่า อรหัง นูนขึ้นมา องค์ที่นำมาให้ชมนี้เป็นพิมพ์เกศเปลวเพลิงเนื้อจัดดูง่าย ราคาว่ากันหลักแสนกลาง เป็นของคุณเจียระไน สกุลก้องเกียรติ

พระกริ่งพรหมมุนี (สังฆราชแพ) พ.ศ. 2460

 

องค์ที่สี่ เกจิอาจารย์ชื่อดังจากชุมพร หลวงพ่อโปร่ง วัดถ้ำพรุตะเคียน ท่านเป็นพระปฏิบัติและพัฒนา ได้รับการยอมรับจากในพื้นที่เป็นอย่างมาก พระเครื่องและเครื่องรางของท่านมีประสบการณ์สูง แถมราคายังไม่แพงนัก องค์ที่นำมาให้ชม ครอบครัวนิรมิตศรีชัย สร้างถวายในวันเกิดท่านเพื่อให้ท่านแจก เนื้อทองคำสร้าง 40 เหรียญ นาค 20 เหรียญ เงิน 1,000 เหรียญ ตะกั่ว 1,500 เหรียญ เนื้อชนวน 341 เหรียญ และทองแดง 2.5 หมื่นเหรียญ ชมเหรียญรุ่น ชินราชนิรมิต เนื้อทองคำ ของคุณพงษ์ชัย นิรมิตศรีชัย

จากกันด้วยธรรมะ “ไฟที่ร้อนแรงจากราคะ ไฟที่เผาผลาญและทำลายจากความโกรธ ใจที่กอบโกยจากความโลภ ใจที่สั่งสมกิเลสจากความหลง ย่อมสุขได้ด้วยการวางและสงบ”

พระกริ่งพรหมมุนี (สังฆราชแพ) พ.ศ. 2460