posttoday

ศึกษาธรรมปฏิบัติ เพื่อพัฒนาจิตตามพุทธวิถี (๑)

03 ธันวาคม 2552

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

ปุจฉา : กราบนมัสการพระอาจารย์อารยะวังโสที่เคารพยิ่งด้วยเศียรเกล้า

กระผม นายฤทธิพร พินรอด ขอโอกาสและขอเมตตาหลวงพ่อเพื่อถามคำถามดังนี้

๑.วันหนึ่งกระผมขณะนั่งสมาธิได้เกิดภาพพระผู้ทรงคุณองค์หนึ่ง หลังจากนั้นภาพของพระองค์นั้นจากที่มีเนื้อหนังก็กลายเป็นเหี่ยวแห้งเหลือแต่กระดูก จากกระดูกก็สลายกลายเป็นกองกระดูก จากกองกระดูกก็กลายเป็นกองดิน จากกองดินก็กลายเป็นฝุ่นผงแล้วก็สลายไป แล้วก็กลับมาเป็นพระสงฆ์องค์เดิมอีกครั้ง พร้อมอมยิ้มไม่ได้พูดเอ่ยอะไร อยากกราบเรียนถามว่า ถ้าเจอสภาวะเช่นนี้แล้วควรคงอารมณ์แบบไหนจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด ถ้าจะจับเป็นกองกรรมฐาน คือ กรรมฐานกองใด ใช่มรณานุสติหรือไม่

๒.วันหนึ่งขณะนั่งสมาธิ นั่งจนคำภาวนาหาย รู้สึกเท้าชาแข็ง จากนั้นมือเท้าก็ไร้ความรู้สึก ลมหายใจก็ค่อยๆ เบาลงๆ จนเหมือนลมหายใจหายไป แล้วไปไหนต่อไม่ได้ เพราะร่างกายไม่ยอมสั่งการ จะสูดลมหายใจเข้าก็ไม่ได้เพราะไม่รู้สึกถึงลมหายใจแล้ว จะภาวนาต่อก็ไม่ไป เพราะคำภาวนาก็หายไปเหมือนกัน ภาพต่างๆ ก็ไม่เกิดขึ้น เสียงต่างๆ ก็เหมือนหายไป อยากกราบเรียนถามว่าควรทำอย่างไรต่อไปจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดครับ แล้วทำไมหลังจากวันที่เกิดสภาวะนี้ จึงไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย เพราะอะไรครับ จำเป็นหรือไม่ที่นั่งสมาธิให้ได้ดีจะต้องเกิดสภาวะนี้ครับ

กราบนมัสการด้วยเศียรเกล้า                    
นายฤทธิพร พินรอด

วิสัชนา : เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา สำหรับการวิสัชนาธรรมต่อไปนี้ จะเป็นการบรรยายให้ความรู้ในเชิงปฏิบัติ เพื่อประโยชน์แห่งผู้สนใจในการเจริญภาวนา ซึ่งอาตมาพิจารณาแล้วเห็นว่ามีประโยชน์ต่อผู้อ่านทุกท่าน จึงได้นำมาตอบใน “ธรรมส่องโลก” ทั้งนี้พึงศึกษาพิจารณาอย่างละเอียดให้ครบทุกบททุกตอน เพื่อประโยชน์แห่งการศึกษาธรรมปฏิบัติ ดังมีรายละเอียดของวิสัชนาธรรม ดังนี้

อาตมาจะตอบธรรมะให้พระสงฆ์ ผู้มีศรัทธาได้ฟัง ตั้งใจฟัง เข้าสมาธิ หลับตา ทำจิตตั้งมั่น มีความสงบ เป็นปัญหาธรรมะ ความหมายคือ ธรรมะไม่ได้เป็นปัญหา แต่ผู้ถามมีปัญหาในการประพฤติธรรม จะยกขึ้นมาตอบในค่ำคืนนี้ เพื่อเป็นประโยชน์กับผู้มีศรัทธาในธรรม ศรัทธาในพระพุทธศาสนา ได้ทำปัญญาพร้อมกัน เพราะเป็นธรรมะปฏิบัติที่ผู้ปฏิบัติได้พบกับสภาพธรรมหลายประการ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติของการประพฤติปฏิบัติธรรม เพราะคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนามีความละเอียด และประณีต ลุ่มลึกละเอียด เป็นนิยยานิกธรรม เป็นธรรมเป็นไปเพื่อความออกมาจากความทุกข์ แปลรวมคือธรรมะเป็นเครื่องดับทุกข์

การที่จะเข้าสู่ธรรมะดังกล่าวต้องมีการปฏิบัติอย่างประณีต ที่กล่าวเป็นบาลีว่า ปะณีโต คัมภีโร เรามักจะพบคำเหล่านี้อยู่เสมอในพระพุทธศาสนา ถ้าเราหยาบๆ เราก็จะเห็นปัญหามาก ถ้าเรามีการปฏิบัติอย่างละเอียดๆ พิจารณาอย่างประณีต ปัญหาเหล่านี้ ก็ค่อยๆ หมดไปๆ คือมันเป็นปัญหาขั้นละเอียดขึ้น จนสิ้นสุดปัญหา ปัญญาก็เกิดขึ้น ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม ปัญหานั้น ทำให้เกิดปัญญา ปัญหาอุปสรรคก็คือ มาร มารในนัย หรือ มาระตัวนี้คือ เครื่องขวางกั้นการทำคุณความดี พอเราจะประกอบคุณความดีก็มีเครื่องขวางกั้น เรียกว่า ผจญมาร มารมีทั้ง ขันธมาร กิเลสมาร อภิสังขารมาร เทพบุตรมาร และมัจจุมาร เรียกว่า มาร ๕ มารเหล่านี้ ถ้าเราแก้ได้ผ่านได้ บารมีเราก็มากขึ้น บุญกุศลเราก็สูงขึ้น คุณความดีคุณธรรมเราก็มากขึ้น ยิ่งขึ้น เราต้องใช้กำลังความบำเพ็ญเพียรมาก เหมือนปีนภูเขา หรือจะขึ้นที่สูงต้องใช้กำลังมากจึงจะขึ้นได้ ในทางความหมายอันเดียวกัน การชนะมารต้องใช้กำลังบารมีขั้นสูง ซึ่งความหมายก็คือกำลังธรรมะฝ่ายคุณความดี เรียกว่า “บารมี” มี ๑๐ องค์ธรรม ตั้งแต่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมะบารมี ปัญญาบารมี วิริยะบารมี ขันติบารมี สัจจะบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี ในบารมีก็มีอยู่ ๓ ช่อง ช่องธรรมดา เรียกช่องปกติเบื้องต้น ช่องตรงกลางคือท่ามกลาง อีกช่องคือที่สุด ช่องตรงกลางเรียกอุป มากกว่าขั้นในเบื้องต้น ช่องที่สูงสุดเรียกปรมัตถ์ เป็นปรมัตถบารมี เราก็จะยกขึ้นว่า ถ้าเป็นปรมัตถบารมี ก็เป็นบารมีของพระผู้มีพระภาคเจ้า ต่ำจากพระผู้มีพระภาคเจ้า ต่ำจากปรมัตถ์ อุปบารมี ก็พระปัจเจกพุทธเจ้า ตรัสรู้โดยพระองค์เอง แต่ไม่เป็นวิสัยในการเผยแผ่สั่งสอนสัตว์ดั่งพระพุทธเจ้า และพระอรหันต์สาวกเป็นเบื้องต้นต้องสร้างบารมีเป็นกำลัง เรียก กำลังธรรมทั้ง ๑๐ หรือ ทสบารมี จึงมีพระคาถาอันหนึ่งเกิดขึ้นเมื่ออาตมาปฏิบัติธรรม ทสพลธัมมา นิขทุกขัง ปมุจจันติ พลังธรรมทั้ง ๑๐ เป็นไปเพื่อความขจัดทุกข์อย่างสิ้นเชิง ครบสมบูรณ์ก็จะเป็นพลังธรรม จึงเรียก บารมีธรรม อย่างพวกเรามานั่งสวดมนต์ไหว้พระ เรียกว่าประพฤติปฏิบัติสร้างบารมี มาทำทานก็เรียกว่ามาสร้างทานบารมี มาประพฤติธรรม อบรมจิตภาวนาอย่างนี้ เป็นในขั้นของเนกขัมมะก็ได้ ในขันติก็ได้ วิริยะก็ได้ ปัญญาก็ได้ หรือ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา ได้หมด ทานบารมีเบื้องต้นได้หมด เพราะฉะนั้นการปฏิบัติธรรม สวดมนต์ไหว้พระ ภาวนา เราได้พลังธรรมทั้ง ๑๐ ทานะก็ได้ อำนาจทาน ทานะ ความหมายนัยแท้จริง คือ การให้เพื่อการนำออก นำออกแท้จริงตามความหมายขั้นปรมัตถ์ คือ การนำออกซึ่งอาสวะกิเลสทั้งปวง อกุศลทั้งหลาย การให้ดังกล่าวจึงเป็นจาคะเป็นการบริจาค นำออกซึ่งอกุศลทั้งหลาย เครื่องเศร้าหมองทั้งปวงจากภายในจิต และเราก็เป็นการทำทานขั้นปัญญา

อ่านต่อฉบับหน้า

**ส่งคำถามหรือ แสดงความเห็นในเรื่องต่างๆได้ที่ คอลัมน์ธรรมส่องโลก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ อาคารบางกอกโพสต์ 136 ถนน ณ ระนอง แยกสุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110 โทรสาร 02-671-3132