posttoday

ทัวร์ทางใจ นักท่องเที่ยวจีน สักการะ บูชา สิ่งศักดิ์สิทธิ์

06 สิงหาคม 2559

สำหรับประเทศไทย นอกเหนือไปจากแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหารขึ้นชื่อลือชา บรรยากาศและศิลปวัฒนธรรมที่ถูกใจ

โดย...กองบรรณาธิการ

สำหรับประเทศไทย นอกเหนือไปจากแหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหารขึ้นชื่อลือชา บรรยากาศและศิลปวัฒนธรรมที่ถูกใจตลาดนักท่องเที่ยวทำให้ต้องหลงมนตร์เสน่ห์ความสวยงามแล้ว เป้าหมายที่สำคัญอีกอย่างคือ “ไหว้พระ” ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผนวกกับความหลงใหลในความเชื่อของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวจีน ที่นิยมมาเสาะหาพระเครื่อง พระบูชาจากเมืองไทยตามความเชื่อ  หรือแม้แต่สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่ปณิธานตัวเองไว้ว่า หากมาเมืองไทยต้องกราบไหว้ขอพร และนั่นจึงเป็นสาเหตุให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนไทย หนีไม่พ้นความสนใจที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รูปบูชา พระเครื่อง เครื่องราง วัตถุมงคล

พยัพ คำพันธุ์ นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ระบุว่า สำหรับความนิยมพระเครื่องของชาวต่างชาติไม่เท่าคนไทย เพราะส่วนใหญ่ชาวต่างชาติจะมาศึกษาและเช่าหาพระเครื่องรุ่นใหม่ ส่วนพระรุ่นเก่ามักไม่ค่อยหาเช่าซื้อกันมากนัก ซึ่งชาวต่างชาติเหล่านั้นก็เช่าหาตามวัดตามแหล่งศูนย์พระเครื่องชั้นนำมากมาย

อย่างไรก็ตาม พระเครื่องที่แท้จริงต้องผ่านขั้นตอนกรรมวิธีหลากหลายอย่าง ซึ่งเรื่องนี้นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย กล่าวว่า ความเป็นพระแท้หรือพระปลุกเสกย่อมต้องผ่านขั้นตอนวิธีการที่เหมาะสม พระแท้พระดีต้องหล่อหรือจัดสร้างจากวัด โดยผ่านขั้นตอนการปลุกเสกมวลสารพิธีกรรมต่างๆ ถ้าหากไม่มีการปลุกเสกก็ถือว่าไม่ใช่พระที่ออกจากวัด ดังนั้นต้องดูพิธีกรรมจัดสร้างด้วย อย่างเช่นพระเก่าแก่จะเป็นสมัยเชียงแสน อู่ทอง เป็นต้น

ทัวร์ทางใจ นักท่องเที่ยวจีน สักการะ บูชา สิ่งศักดิ์สิทธิ์

 

พยัพ ยังบอกเหตุผลความนิยมพระเครื่องไทยของชาวจีนหรือต่างชาติด้วยว่า ในบางประเทศบ้านเขา (ต่างชาติ) นับถือพวกลัทธิก็แตกต่างกันออกไปอย่างหนึ่ง แต่ศาสนาเราเป็นศาสนาพุทธ แน่นอนว่าต้องการสร้างเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจให้กับตัวเอง คนต่างชาติที่นับถือศาสนาพุทธก็มี ดังนั้นไม่แปลกที่กลุ่มคนเหล่านั้นอยากมีพระเครื่องไว้ติดตัวเพื่อเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

“ต้องยอมรับว่าชาวต่างชาตินิยมพระใหม่กันมากกว่า และพระที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่จะเป็นหลวงพ่อคูณ และรุ่นอื่นๆ แตกต่างกันออกไป ส่วนราคาพระเครื่องที่ชาวต่างชาตินิยมเช่าหาบูชา ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ความพอใจของผู้ซื้อและผู้ขาย เพราะวงการพระไม่มีราคาเป็นมาตรฐาน ส่วนตามวัดเขาก็ตั้งราคาตามนั้นไปเพื่อนำไปทำการกุศล”

นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย ยังรู้สึกเป็นห่วงวงการพระเครื่องที่วางขายในพื้นที่ที่ไม่มีความเหมาะสม เพราะกลุ่มพวกนี้เอาพระเก๊มาวางขายจนทำให้วงการพระเครื่องเสื่อมเสีย รวมถึงศาสนาของเราเสื่อมลงไปด้วย ดังนั้นคนที่จะเช่าหาพระเครื่องสัก 1 องค์ ควรไปเช่าหาที่วัดใดวัดหนึ่ง เพราะวัดก็นำเงินที่ได้ไปทำการกุศล หรือเลือกหาเช่าจากศูนย์พระเครื่องชั้นนำที่มีอยู่จำนวนมาก ที่มีการรับประกันความแท้ดีกว่า

ทัวร์ทางใจ นักท่องเที่ยวจีน สักการะ บูชา สิ่งศักดิ์สิทธิ์

 

“มีคนทำธุรกิจหลายอย่างเกี่ยวกับวัตถุมงคล ดังนั้นคนที่ทำเกี่ยวกับวัตถุมงคลควรดูหรือตั้งในทำเลที่เหมาะสม อย่างศูนย์พระเครื่องท่าพระจันทร์ และศูนย์อื่นๆ อีกจำนวนมาก ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน” พยัพ ฝากเตือน

นอกจากนี้ นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย กล่าวว่า ขออย่านำพระเครื่องมาวางขายแบบปูหนังสือพิมพ์ แล้วนำพระมาวางขายบนฟุตปาท มันไม่เหมาะไม่ควร เพราะพระเป็นของสูง และเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของคนเราทุกคน

และเพื่อไม่ให้ชาวต่างชาติถูกหลอก ทางสมาคมพระเครื่องยังได้ทำข้อมูลเพื่อให้ชาวต่างชาติได้ศึกษา โดยเฉพาะชาวจีน เรื่องนี้ พยัพ บอกว่า บางทีกลุ่มคนต่างชาติเข้ามาในประเทศแล้วมีคนไปหลอกเขา ดังนั้นเพื่อให้คนเหล่านี้ได้รับรู้ว่ามีพระเครื่องแต่ละรุ่นอย่างไร ส่วนจะเช่าหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับผู้ซื้อ แต่เป้าหมายคือเน้นให้ความรู้กับคนเหล่านี้

วิชิต ประกอบโกศล ประธานบริษัท ซีซีที บริษัททัวร์ทำตลาดคนจีนเที่ยวไทย กล่าวว่า กระแสคนจีนที่มาเที่ยวไทยแล้วสนใจเช่าพระเครื่องในไทยนิยมมาหลายปีแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระแสละครไทยที่ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนจีน เมื่อดูละครไทยแล้วในเนื้อหาละครมีเรื่องเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือพระเครื่อง ก็ทำให้คนจีนรู้วัฒนธรรมบางอย่างด้านนี้ของไทยและสนใจเช่าพระเมื่อมาเที่ยวไทย โดยมองว่าเช่าพระไปเพื่อช่วยเสริมสิริมงคลให้ตัวเอง ไว้คุ้มครองตัวเอง ไว้เพื่อให้ทำมาค้าขึ้น หรือหากเป็นผู้หญิงก็มีไว้เพื่อเสริมเรื่องความรัก เป็นต้น

ทัวร์ทางใจ นักท่องเที่ยวจีน สักการะ บูชา สิ่งศักดิ์สิทธิ์

 

ทั้งนี้ กระแสความร้อนแรงของละครไทย ไม่ได้ทำให้คนจีนเลื่อมใสและมาหาเช่าพระเครื่องในไทยเท่านั้น แต่ยังมีคนจีนที่เห็นโอกาสไปตั้งโต๊ะเปิดร้านให้เช่าพระในเมืองจีนอีกด้วย ส่วนพระเครื่องที่คนจีนนิยมเป็นพระรุ่นไหนนั้นไม่ทราบแน่ชัด เพราะทัวร์โดยปกติก็ไม่ได้จัดโปรแกรมพานักท่องเที่ยวจีนไปเช่าพระที่วัดโดยตรง เพียงแต่เมื่อพาไปเที่ยววัดก็อาจจะมีนักท่องเที่ยวที่สนใจไปเดินหาเช่าพระในวัดนั้นเอง

อดีตสังคมนิยม ห้ามเชื่อสิ่งงมงาย เปิดประเทศใหม่ ฟื้นความเชื่อเหนือจริง

มาที่ฝั่งภาควิชาการกันบ้าง วรศักดิ์  มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับชาวจีนอย่างลึกซึ้ง แสดงความเห็นว่า ปรากฏการณ์เรื่องนี้เกิดขึ้นทั่วโลก คนบางกลุ่มมองว่าเป็นแบบปรากฏการณ์หลังสมัยใหม่ หรือ Post Modern อยู่ในสังคมที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งคนในยุคนี้เชื่อว่าสิ่งที่เขาต้องการพึ่งพาสังคมสมัยใหม่แบบผ่านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาจไม่ใช่คำตอบที่แท้จริง เขาเลยคิดและอยากหาคำตอบใหม่ๆ สำหรับชีวิตที่ดีกว่า ดังนั้นจึงย้อนกลับมาเรื่องความเชื่อเหนือจริง ทั้งที่ในชีวิตประจำวันก็ยังสัมผัสกับชีวิตที่เป็นวิทยาศาสตร์อยู่ในภาพรวมทั่วไป

วรศักดิ์ อธิบายว่า สำหรับกรณีของชาวจีนมีความแตกต่างกับสังคมอื่น เพราะเมื่อครั้งที่ประเทศจีนเป็นสังคมนิยมมากๆ การเชื่อเรื่องเหล่านี้มันผิด จะถูกกล่าวหาว่าไปเชื่อในสิ่งที่งมงาย แต่หลังจากที่จีนเปิดประเทศเป็นสังคมเสรีมากขึ้น ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เศรษฐกิจดีมากขึ้น พอมาถึงจุดหนึ่งคงอิ่มตัวสำหรับคนบางกลุ่มที่รู้สึกว่าชีวิตนี้คงไม่มีอะไรสนุกอีกแล้ว  อาจจะไม่มีความรู้สึกว่ามันเป็นทางออกของชีวิตได้จริงหรือไม่

ขยายความให้เข้าใจถัดจากเนื้อหาข้างต้น วรศักดิ์ เล่าว่า คนจีนต้องการที่พึ่งทางใจ ที่สุดจึงหันมาชื่นชอบเรื่องของพระเครื่องและความเชื่อต่างๆ พอกลุ่มชาวจีนมาเชื่อเรื่องแบบนี้แล้ว คราวนี้เขาก็ไม่ได้เลือกแล้ว ซึ่งหากย้อนไปในอดีตของคนจีนประมาณนับพันปีที่มีความเชื่อทำนองนี้มายาวนาน

“กรณีของประเทศจีนได้เกิดสะดุดลงตรงสมัยเป็นสังคมนิยมสูง ใครมีความเชื่อลักษณะนี้ถือว่าผิดและต้องอยู่ในกรอบบังคับ แม้แต่คำสั่งสอนของขงจื้อ ก็มีความผิดหากใครไปนับถือ ดังนั้นปัจจุบันจึงมีชาวจีนจำนวนไม่น้อยหันไปสนใจปรัชญาจีนเพื่อชี้นำชีวิต และเมื่อประเทศจีนเปิดฟรีเสรีจึงทำให้คนจีนคลั่งไคล้ในเรื่องแบบนี้”

วรศักดิ์ บอกว่า คนจีนเขาก็มีเทพ มีเซียน อย่างที่คนไทยเรารู้จัก เช่น เทพ 8 เซียน ฯลฯ ซึ่งมีคนจีนเชื่อและเคารพในเรื่องแบบนี้ แต่อาจรู้สึกว่าไม่เพียงพอ เพราะว่ากระแสโลกาภิวัตน์
ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องแสวงหาสิ่งเหนือจริงที่อยู่เหนือประเทศหรือสังคมจีน  ฉะนั้นการที่เขาจะมาพบเห็นเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องเหนือจริงในสังคมไทย จึงทำให้คนจีนเหล่านี้เกิดความสนใจ จนนำมาสู่ปรากฏการณ์เช่าหาบูชาพระเครื่องของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะคนจีน

ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษาฯ ปรารภอีกว่า ที่ผ่านมาจะเห็นว่าคนจีนไปเช่าบูชาลูกกรอก หรือกุมารทอง มีคนจีนจำนวนไม่น้อยแสวงหาสิ่งเหล่านี้ นั่นถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แต่หากอนาคตสังคมไทยมีความเชื่อเรื่องอื่น เช่น ตุ๊กตาลูกเทพ ฯลฯ เป็นปรากฏการณ์ชั่วครั้งชั่วคราวในสังคมไทย แต่ไม่มีข้อมูลว่าคนจีนเชื่อหรือไม่ แต่หากกระแสตุ๊กตาลูกเทพอยู่ไปยาวนาน อาจทำให้คนจีนหรือชาวต่างชาติเกิดความสนใจก็ได้ ดังนั้นในอนาคตปรากฏการณ์ลักษณะนี้มีอยู่ในทุกสังคม

ทั้งนี้ สังคมจีนมีการแข่งขันกันสูงแบบเสรีนิยม ประเทศไทยเองก็เป็นลักษณะนี้ ฉะนั้นเรื่องความเชื่อก็เหมือนกัน คนจีนเหล่านี้จึงไม่สนใจว่าจะถูกหลอกหรือไม่ถูกหลอก แต่ถ้ามีใครมาบอกว่าสิ่งไหนศักดิ์สิทธิ์ เขาจะให้ความสนใจ จะเกิดปรากฏการณ์ลักษณะนี้ ทว่าเฉพาะชาวจีนกลุ่มเล็กเท่านั้นที่ให้ความสนใจ ไม่ใช่ชาวจีนกลุ่มใหญ่

แน่นอนการเช่าหาพระเครื่องบูชา วรศักดิ์ เชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ชั่ววูบหรือชั่วคราวเท่านั้น ต้องคอยดูต่อไปว่ากระแสทิศทางจะไปอย่างไร ตามความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ส่วนสิ่งที่ชาวจีนชอบและเน้นเชื่อเป็นพิเศษนั้นไม่มี แต่มีเรื่องความแตกต่างของแต่ละบุคคลออกไป

พระเครื่องไม่ห้อยคอ แต่ประดับบ้านให้สวยงาม

บวกกับกระแสคนจีนหรือชาวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทยจำนวนมาก มีโอกาสใกล้ชิดได้สัมผัสข้อมูลข่าวสาร เรื่องความเชื่อเหนือจริงในสังคมไทยมากกว่าสังคมอื่น นั่นหมายความว่า
ถ้าในสังคมอื่นมีความเชื่อเหนือจริงและอยู่ใกล้ชิดกัน คนเหล่านี้ก็จะไปเสาะหาสังคมนั้นเช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะแต่ประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษาฯ เล่าวิธีปฏิบัติต่อพระเครื่องของชาวจีนกับพระเครื่องที่เช่าหาบูชาจากประเทศไทยว่า สำหรับชาวจีนเมื่อเช่าหาบูชาพระเครื่องไปแล้ว ไม่ได้หมายความว่าเขาจะคิดเหมือนกับคนไทย แต่ชาวจีนมองมากกว่าความเป็นวัตถุมงคล เช่น มีความศักดิ์สิทธิ์จะทำให้รวยได้ ฯลฯ ส่วนวิธีการปฏิบัติต่อพระเครื่องก็อาจแตกต่างกับคนไทย เช่น ชาวจีนไม่นำมาห้อยคอ แต่เขานำไปประดับบ้านติดบ้านเพื่อความสวยงาม ซึ่งสวนทางกับคนไทยที่ไม่มีใครนำพระเครื่องมาติดตกแต่งประดับบ้าน คนไทยส่วนใหญ่เก็บสะสมไว้บนหิ้งพระ แต่คนจีนเองไม่มีหิ้งพระ

อีกด้าน สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติหรือ พศ.เอง อธิบายขอบเขตการจัดระเบียบดูแลพระเครื่องและป้องกันไม่ให้ชาวต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวถูกหลอกลวงต่อการเช่าบูชาพระในประเทศไทย โดย สมชาย สรชาตรี ในฐานะโฆษกสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เรื่องพระเครื่องเป็นเรื่องของเอกชนดำเนินการ ทาง พศ.ไม่มีกฎระเบียบใดที่จะดูแลเกี่ยวกับพระเครื่อง และพระเครื่องไม่มีเรื่องลิขสิทธิ์ และถือเป็นวัตถุมงคล หากวัดใดประสงค์จัดสร้างพระเครื่องหรือรูปเคารพไว้เป็นที่ระลึกบูชาสามารถดำเนินการได้หมด ซึ่งสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ ไม่ได้มีระเบียบตรงจุดนี้

“เพียงแต่ว่ามีกฎระเบียบของกรมการศาสนาเก่าแล้ว เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อพระพุทธรูปหรือพระบูชาจะต้องจัดวางในที่เหมาะสม ไม่วางตามใต้บันได หรือทางห้องน้ำซึ่งมีระเบียบอยู่ ส่วนกลุ่มของพระเครื่อง เช่น เหรียญคณาจารย์ สมเด็จ หลวงปู่ รูปหล่อ ฯลฯ ไม่มีการจัดระเบียบ”โฆษก พศ. ระบุ

แต่ถ้ามีการร้องเรียนว่าผู้ซื้อหรือนักท่องเที่ยวถูกหลอกต้มตุ๋น จะส่งเจ้าหน้าที่ไปประสานดู หากเป็นวัดทาง พศ.จะเข้าไปดำเนินการตรวจสอบ เช่น มีการจัดสร้างแล้วสงสัยในเรื่องของรายได้ต่างๆ ก็จะเกี่ยวกับระเบียบการปกครอง แต่หากเป็นเอกชนเราก็ไม่สามารถตรวจสอบได้เพราะเป็นนิติบุคคล ถ้าผู้ซื้อหรือนักท่องเที่ยวถูกหลอก จะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สคบ.
ตำรวจ ฯลฯ เข้าไปดูในส่วนนี้

สมชาย กล่าวอีกว่า ทาง พศ.ได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานครเกี่ยวกับเรื่องการจัดวางพระเครื่องพระบูชาไว้บนทางเท้า ทางเจ้าหน้าที่เทศกิจจะเข้าไปตรวจสอบ พร้อมขอให้ผู้ขายควรมีแผงตั้งขึ้นมาอย่างน้อย 1 เมตร เพราะว่าถ้าใครจะจำหน่ายพระเครื่องพระบูชา ห้ามวางจำหน่ายบนทางเท้า แต่ก็ยังคงมีปรากฏขายอยู่ตามท่าพระจันทร์

ส่วนกลุ่มชาวต่างชาติที่เข้ามาแสวงหาซื้อพระเครื่อง หรือนิยมเช่าหาเพื่อความสวยงามตามความเชื่อส่วนบุคคลนั้น โฆษก พศ. บอกว่าเรื่องนี้ได้มีการพูดคุยกับกลุ่มทัวร์และไกด์ที่นำลูกทัวร์มาเที่ยวว่า ควรอธิบายให้เข้าใจในเรื่องของวัตถุมงคลต่างๆ จะซื้อกลับไปเป็นที่ระลึกก็ต้องดูให้ดี ที่วางขายตามสะพานหันก็เป็นเกรดไม่มีราคา เหมือนกับเราไปต่างประเทศไกด์นำเที่ยวก็จะแนะนำว่าควรจะไปซื้อหาที่ไหน

“ถ้าไปประเทศอินเดียก็มีพระวางเกลื่อนเหมือนกัน แต่ไม่ใช่พระที่มีการปลุกเสก คนก็ซื้อกลับมาเป็นที่ระลึกฝากกัน เหมือนกันกับประเทศไทย เมืองไทยเมืองพระก็ซื้อพระไปฝากกัน แต่เราไม่มีกฎระเบียบมาควบคุมตรงส่วนนี้ เพราะเรื่องการสร้างวัตถุมงคลใครก็สร้าง เป็นเรื่องความศรัทธา ดังนั้นเชื่อการท่องเที่ยวคงระเบียบในส่วนนี้” โฆษก พศ.กล่าว

อย่างไรก็ตาม สมชาย ย้ำว่า ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับการนำพระพุทธรูปออกจากประเทศ หากเป็นพระพุทธรูปสำคัญต้องผ่านกรมศิลปากรตรวจสอบก่อน แต่หากเป็นพระเครื่องเล็กน้อยก็ไม่น่ามีปัญหามากนัก