posttoday

โค้ชเป็นศิลปะ คือธรรมส่องทาง

03 กรกฎาคม 2559

สัปดาห์ที่แล้ว...กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นต้นแบบของการโค้ช เพราะวิธีการเผยแพร่ธรรมของพระพุทธองค์นั้น

โดย...ราช รามัญ

สัปดาห์ที่แล้ว...กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าเป็นต้นแบบของการโค้ช เพราะวิธีการเผยแพร่ธรรมของพระพุทธองค์นั้น มักจะอาศัยการถามตอบเสียเป็นส่วนใหญ่และเป็นการถามตอบที่ทำให้ผู้ร่วมสนทนานั้นคิดคำตอบได้เองโดยปราศจากการชี้นำใดๆ

สมัยก่อนการเรียนการสอนธรรมและบาลี ลูกศิษย์ต้องฟังครูแล้วทำตาม แม้การศึกษาในทางโลกก็เช่นกัน แต่โลกวันนี้เปลี่ยนไปหมดแล้ว แม้จะอาบน้ำร้อนมาก่อน ก็หาใช่จะเป็นผู้รู้เสียทุกเรื่องไม่

ดังนั้น ครูอาจารย์สมัยใหม่ต้องปรับตัว ปรับทัศนคติ มิเช่นนั้นอาจจะไม่ทันโลก ทั้งหลักวิธีคิดวิธีทำ เพราะเด็กรุ่นใหม่คิดว่าตัวเขาเองนั้นมีความคิดเป็นของตัวเองเหมือนกัน จึงไม่ค่อยชอบอะไรๆ ที่ต้องทำตามผู้ใหญ่หรือครูอาจารย์บอกเสมอไปถ้าหากครูอาจารย์รุ่นใหม่ไม่ปรับตัว ไม่ปรับทัศนคติบอกได้คำเดียว...เป็นครูอาจารย์ที่ตกโลก

ผู้เขียนเคยคุยกับอาจารย์สถาวร เลิศสุวรรณกุล หัวหน้าหลักสูตรธุรกิจการบิน ของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ที่มีโอกาสเดินทางไปศึกษาปรัชญาจากชีวิตจริงที่อินเดีย เห็นคุณภาพชีวิตของมนุษย์พร้อมกับศึกษาธรรมด้วย นอกจากนี้ยังมีความรู้ในเรื่องศาสตร์ของการโค้ช ที่เรียนจากสถาบันยอดนิยมของโลก อาจารย์เล่าให้ผมฟังว่า

“เด็กสมัยนี้...ต่างจากเด็กรุ่นก่อนๆ ที่ครูสอนอะไรก็ทำตาม แต่เด็กยุคนี้เขามีความคิดเป็นของตัวเอง เขาคิดเป็น ไม่ต้องการให้ใครมาชี้นำ แต่บางครั้งความคิดของพวกเขาอาจจะหลงอยู่ในกรอบเดิมๆ จึงทำให้เขาได้รับคำตอบเดิมๆ ทุกครั้งที่คิด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากเรื่องของการศึกษาหรือเรื่องชีวิต ถ้าคิดในกรอบเดิมแต่มุมผิดก็อาจจะทำให้เราสูญเสียเยาวชนของชาติไปได้ การโค้ช...จึงเป็นศาสตร์ที่สำคัญอย่างมาก พระพุทธองค์ทรงใช้การเผยแพร่ธรรมกับพระภิกษุหลายรูปด้วยวิธีการลักษณะนี้ คือ การแลกเปลี่ยนแนวคิดและทำให้เขาคิดออกเองได้ด้วยปัญญาของเขา บางครั้งการตั้งคำถามที่เป็นคำถามง่ายๆ แต่สามารถได้รับคำตอบอันทรงพลัง เป็นคำตอบที่มาจากปัญญาของเขาเองโดยแท้”

อาจารย์สถาวรทุ่มเทและหางานวิจัยจากทั่วโลกมาอ่านเสมอ เพื่อนำเอามาพัฒนาคุณภาพในด้านการศึกษาของเด็กไทย ครั้งหนึ่งอาจารย์เคยเล่าให้ฟังว่า “ในสหรัฐอเมริกา เขาวัดเด็กนักศึกษาว่าหัวดีหรือหัวอ่อนกันที่หลักคิดและจินตนาการ ไม่ได้วัดกันจากเศษตัวเลขค่าเฉลี่ยใดๆ ทั้งสิ้น”

ถ้าถามกันว่าเราจะทำอย่างไรให้เด็กไทยหลุดกรอบจากปัญหาไม่ว่าจะเรื่องส่วนตัว เรื่องของการศึกษา เพื่อไม่ให้ไปพึ่งพายาเสพติด หรือไปทำในสิ่งที่ไม่ดีงามต่อสังคม คำตอบที่ได้ คือ การโค้ชชิ่ง จะช่วยนักศึกษาได้อย่างมาก เพราะทุกคำถามที่โค้ชถามไปนั้น จะได้รับคำตอบที่มาจากสติปัญญาของนักศึกษาเอง เมื่อเขาคิดได้เอง เขาก็จะรู้สึกเหมือนว่าไม่ได้ถูกบังคับให้ทำแต่อย่างใด และนั่นเองจะเป็นหนทางแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุด เหมือนคนที่เกาได้ถูกที่คัน

“อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน นี่เป็นหลักธรรมของพระพุทธเจ้าที่ทรงสอนไว้ เพราะ ทุกๆ เรื่องราวไม่มีใครทราบไปได้ดีกว่าเจ้าตัวของเขาเอง ดังนั้นถ้าจะแก้ปัญหาต้องให้เจ้าตัวคิดออกด้วยตัวของเขาเอง นั่นแลจึงเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน”

ตามแนวคิดนักธรรมอย่างผม เชื่อเหลือเกินว่า ศาสตร์แห่งการโค้ช เป็นเหมือนศิลปะแขนงหนึ่ง ที่สามารถผสานกับข้อธรรมต่างๆ ได้อย่างงดงาม ยังสามารถหยิบยกไปเป็นตัวอย่างเพื่อแชร์เป็นประสบการณ์ให้กับนักศึกษาที่มารับการโค้ชได้ลองสังเกต วิเคราะห์ พิจารณาได้ด้วยตัวเองอีกด้วย

ผมจึงได้กล่าวมาแต่ต้นแล้วว่า การโค้ช เป็นเหมือนศิลปะแขนงหนึ่ง ที่ใช้ควบคู่กับหลักธรรม ปรัชญาได้อย่างลงตัว บุคคลในโลกนี้อีกท่านหนึ่งที่สอนธรรมโดยใช้วิธีการโค้ชได้อย่างยอดเยี่ยมเลย ก็คือ องค์ทะไลลามะ พระองค์เคยตรัสว่า

“การสอนธรรม เป็นเหมือนการช่วยให้เขาเข้าใจชีวิตมากขึ้นและการเข้าใจชีวิตจะมากหรือน้อย มันก็ขึ้นอยู่กับปัญญาของเขาเอง ปัญหาคือเราจะทำอย่างไรให้ปัญญาของเขาเกิดได้อย่างฉับพลัน ในทางพระพุทธศาสนา มหายาน วัชระยานของทิเบต เรามีการปุจฉา วิสัชนา เป็นการถามแล้วให้ตอบ และต้องตอบแบบรวดเร็วด้วย เพราะทุกคำตอบนั้นจะแสดงออกถึงปัญญาของเขาผู้นั้น และเราไม่ได้ดูที่เรื่องของคำตอบที่ผิดหรือถูก แต่เราดูเรื่องของปัญญาและเจตนามากกว่า”

สมัยนี้ตามมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยกย่องว่ามีมาตรฐาน มักจะนิยมอบรมคณะครูอาจารย์ในเรื่องของศาสตร์การโค้ชควบคู่กับหลักปรัชญาของการใช้ชีวิต เพื่อเป็นการช่วยกันปลูกฝังจิตวิญญาณที่ดีและสร้างแนวคิดต่างๆ แม้บางครั้งแนวคิดจะนอกกรอบแต่งดงามตามครรลอง เพื่อให้เด็กและเยาวชน นักศึกษาเติบโตไปอย่างมีคุณธรรมอย่างแท้จริง