posttoday

มจร ร่วมฉลอง 40 ปี สมัชชาสงฆ์ไทยในอเมริกา

19 มิถุนายน 2559

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ร่วมจัดงานสมโภช 40 ปี สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา

โดย...สมาน สุดโต

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ร่วมจัดงานสมโภช 40 ปี สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 24-26 มิ.ย. 2559 ณ วัดนวมินทรราชูทิศ เมืองเรย์นแฮม รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยกำหนดให้มีการประชุมนานาชาติด้านพระพุทธศาสนาในคราวเดียวกัน

ในการนี้พระพรหหมบัณฑิต (ประยูร) อธิการบดี มจร เดินทางไปพร้อมด้วยคณะพระอนุจร 18 รูป ซึ่งมหาเถรสมาคม (มส.) อนุมัติ ตามที่ขอมา

คณะสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ได้รวมตัวก่อตั้งองค์กรการปฏิบัติงานของคณะสงฆ์ไทย ฝ่ายมหานิกาย โดยยื่นขอจดทะเบียนองค์การทางศาสนาที่ไม่แสวงหากำไรตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2519 (ค.ศ. 1976) โดยเรียกชื่อว่า สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา (ส.ท.ส.) The Council of Thai Bhikku in the USA (C.T.U.) ปัจจุบันพระเทพพุทธิวิเทศ (ประชัน) เป็นประธาน และพระครูสิริอรรถวิเทศ เป็นเลขาธิการ

อนึ่ง เมื่อพระครูสิริอรรถวิเทศเดินทางมาประชุมวิสาขบูชาโลก วันที่ 22-23 พ.ค. 2559 ที่ประเทศไทย ได้เมตตาให้สัมภาษณ์โพสต์ทูเดย์ ประเด็นแรกรายงานไปแล้ว วันนี้จะรายงานเรื่องแผนพัฒนาศักยภาพพระธรรมทูต เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการเผยแผ่เข้าถึงชุมชนผู้สนใจได้มากที่สุด และให้สอดคล้องกับการขยายตัวของผู้นับถือพระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกาที่ขยายอย่างต่อเนื่อง

พระ ดร.มหาถนัด หรือพระครูสิริอรรถวิเทศ เลขาธิการสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า พระพุทธศาสนาในสหรัฐอเมริกา มีความเจริญก้าวหน้า ตามข้อเท็จจริงแล้วคนอเมริกันเขานับถืออยู่ก่อน บางคนอาจไม่ได้ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ แต่เขาศึกษาหลักธรรม นำไปปฏิบัติ เพราะสมาธิอย่างเดียวก็ดับทุกข์ได้

สังคมอเมริกันเป็นสังคมแห่งการแข่งขันและต่อสู้ในการทำมาหากิน เพราะฉะนั้นจะเกิดความเครียด หรือ Stress เมดิเตชั่น หรือวิปัสสนานี้ช่วยได้ โดยท่านได้จัดอบรมนั่งสมาธิเพื่อการผ่อนคลายและได้รับความสนใจมาก ทุกคนเห็นว่าดีกว่าไปหาจิตแพทย์ เพราะนั่งสมาธิทำจิตใจให้สงบ หลายคนหายปวดหัว บางคนเป็นไมเกรนต้องกินยาก็ได้แค่บรรเทา แต่นั่งสมาธิแล้วหายขาด นี่คือแนวปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาที่เป็น Practical

 สรุปว่าชาวตะวันตกหรืออเมริกัน ประพฤติปฏิบัติอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ประกาศตัวตนเท่านั้น สิ่งนี้ยืนยันจากการสอนการเรียนในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีเรียนมีสอนเรื่องพระพุทธศาสนา จะเห็นว่าโรงเรียนระดับมัธยมจะส่งนักเรียนมาเรียน มาทำรายงาน มาทัวร์วัดเป็นกลุ่มๆ แต่ละปีมีไม่น้อยกว่า 100 โรงเรียน เพราะพระพุทธศาสนาเป็นวิชาเลือก ก็เหมือนศาสนาทั่วไป

ถามว่า อเมริกันสนใจพระพุทธศาสนาขนาดนี้ จำนวนพระธรรมทูตเพียงพอหรือไม่ ท่านพระครูสิริอรรถวิเทศ กล่าวว่า งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาและงานพระธรรมทูตต้องพัฒนาศักยภาพทางด้านภาษา เพื่อให้สามารถนำหลักธรรมเข้าสู่จิตใจชาวต่างชาติได้ จริงอยู่ เรามีมีวัด (ไทย) ร้อยกว่าวัด พระธรรมทูต 500 กว่ารูป ในสหรัฐอเมริกา ไม่รวมยุโรป ก็สามารถเสิร์ฟชุมชนที่เป็นชาวพุทธ ทั้งไทย กัมพูชา เวียดนาม และลาว ชาติอาเซียนและอเมริกันที่เป็นคนท้องถิ่นได้ แต่เมื่อเทียบกับปริมาณในการทำงานเชิงรุกที่จะเอาพระพุทธศาสนาไปสู่คนท้องถิ่น แท้จริงแล้วยังไม่เพียงพอ เราต้องพัฒนาศักยภาพด้านภาษา ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญ

เรื่องหลักธรรมก็สำคัญ พระธรรมทูตต้องมีความหนักแน่น ต้องมี 2 อย่างคือ ภูมิธรรม และภูมิปัญญา หรือต้องแม่นพระปริยัติ และต้องชำนาญในการปฏิบัติธรรม

2 ข้อนี้เป็นหลักสำคัญ

ถามว่า ใครจะเป็นผู้ช่วยในการพัฒนาสิ่งนี้ให้พระธรรมทูต พระครูสิริอรรถวิเทศ ตอบว่า มหาจุฬาฯ (มจร) มหามกุฏฯ (มมร) มีโครงการอบรมพระธรรมทูต 3 เดือน โดยเลือกพระที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าอบรม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะพระธรรมทูตพูดภาษาอังกฤษยังไม่รู้เรื่อง หรือได้แค่สื่อสาร หรือทำความเข้าใจเฉยๆ แต่ยังไม่ได้ภาษาธรรม หรือวิชาการ เช่น ไม่สามารถขึ้นกล่าวปาฐกถาได้ เป็นปมด้อยอย่างหนึ่ง

ในเรื่องนี้ มจร พยายามยกระดับการอบรมพระธรรมทูตขึ้นมาเป็นวิทยาลัยพระธรรมทูต ซึ่งเห็นด้วยที่ต้องพัฒนาจุดนี้

ในส่วนสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา ก็มีโครงการเสริม เรียกว่า โครงการอบรมเสริมความรู้พระธรรมทูต นอกจากพระครูสิริอรรถวิเทศได้จัดโครงการอบรมวิปัสสนากรรมฐาน และปริวาสกรรม ตอนนี้ทำที่วัดพุทธออเรกอน จัดมาเป็นปีที่ 6 โดยนิมนต์พระธรรมทูตระดับเจ้าอาวาสไปนั่งกรรมฐาน เข้าคอร์สเป็นสิบคอร์ส ก็ได้ผลระดับหนึ่ง

ที่กำลังเริ่มที่วัดมหาชนก ที่จอร์เจีย คือจัดตั้งวิปัสสนาคอลเลจขึ้นมา หลังจากนิมนต์พระเข้าคอร์ส 10 วัน ทำติดต่อกันมา 5 ปี พอขึ้นปีที่ 6 ไม่เอา 10 วัน เพราะน้อยไป เอาทั้งพรรษาเลย ปรากฏว่ามีพระเข้าโครงการ 20 กว่ารูป

ล่าสุดสมัชชามีมติในการประชุมล่าสุดที่วัดสุทธาวาส ริเวอร์ไซด์ ว่าต้องทำใน 4 ด้าน คือ บริหาร การเผยแผ่ การศึกษา และสาธารณูปการและศาสนาสงเคราะห์ เน้นการพัฒนาพระธรรมทูต และพัฒนาญาติโยมที่เข้ามาศึกษาทั้งนักธรรมและบาลี ภาษาอังกฤษ และภาษาถิ่นที่เขาต้องการ และการช่วยเหลือสงเคราะห์เมื่อเกิดอุบัติภัย

ตอนท้ายท่านกล่าวว่า พระธรรมทูตไปทำหน้าที่เผยแผ่ ธำรงรักษาพระศาสนาในต่างแดน ตามไปอำนวยความสะดวก และรักษาศรัทธาพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศในต่างแดน และทำงานหนักกว่าพระสงฆ์ไทยในประเทศไทยบางแห่ง เพราะต้องทำงานรอบด้านตั้งแต่เณรน้อย สมภาร นักบริหาร นักเผยแผ่ เป็นหมอและพยาบาลรอบตัว จึงขอให้เข้าใจว่าเราไปเพื่อประกาศศาสนา ประกาศความเป็นไทยวัฒนธรรม วัฒนธรรมชาวพุทธ