posttoday

ไสยศาสตร์สยาม

08 สิงหาคม 2553

คำว่า “ไสยศาสตร์” กับ “โศกนาฏ กรรม” ดูเหมือนเป็นคำที่ใช้ต่างกรรมต่างวาระก็จริง แต่แท้จริงแล้วทั้งสองคำเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน...

คำว่า “ไสยศาสตร์” กับ “โศกนาฏ กรรม” ดูเหมือนเป็นคำที่ใช้ต่างกรรมต่างวาระก็จริง แต่แท้จริงแล้วทั้งสองคำเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน...

โดย...กรกิจ ดิษฐาน

ขอสารภาพว่าผมตั้งใจจั่วหัวบทความชิ้นนี้เลียนแบบ “โศกนาฏกรรมสยาม” ผลงานการวิเคราะห์และวิจัยเศรษฐกิจและสังคมไทยร่วมสมัยอันโด่งดังของ วอลเดน เบลโล (Walden Bello) นักวิชาการนามอุโฆษ หลังจากที่ได้มีโอกาสหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นอ่านอีกครั้งด้วยหัวใจหดหู่อย่างบอกไม่ถูก เมื่อพบว่าสิ่งที่ วอลเดน เบลโล เขียนไว้เมื่อหลายปีก่อน และเกิดขึ้นในเมืองไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ถึงวันนี้มันก็ยังเป็นเช่นนั้น

ผมพยายามหาคำตอบของคำถามที่ว่า ทำไมคนไทยจึงไม่เรียนรู้ความผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่าของตน เหตุใดจึงล้มลุกคลุกคลานทางการเมืองตั้งแต่รุ่นปู่ย่าถึงรุ่นเหลนโหลน เหตุใดจึงไม่สามารถสลัดพ้นจากการกดขี่อย่างแนบเนียนจากครั้งบรมกัลป์จนถึงอนาคตอันใกล้ และเหตุใดที่ทำให้คนไทยรู้สึกเฉยชา หรือกระทั่งยินดีกับความถดถอยอย่างเจ็บปวดของตัวเอง

หรือว่าลึกๆ แล้วคนไทยยินดีกับความเจ็บปวดในแบบซาดิสม์ผสมมาโซคิสม์ (Sadomasochist) ?

ไสยศาสตร์สยาม

แน่ล่ะ คนไทยในที่นี้หมายถึงตัวผมด้วย และไม่เห็นว่าตัวเองหรือใครหน้าไหนจะเป็นดังที่ระบบสมองของผมตั้งข้อสังเกตด้วยความงุนงง

ใครบางคนบอกว่าเป็นเพราะความล้มเหลวระบบการศึกษาของไทย ที่ไม่สามารถเปิดหูเปิดตาประชาชนรุ่นแล้วรุ่นเล่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ พูดง่ายๆ คือไม่เปิดโอกาสให้คิดอย่างสร้างสรรค์ มิพักจะเอ่ยถึงการคิดในเชิงพิเคราะห์

ข้อสังเกตนี้มีส่วนถูก แต่ผมกลับเห็นว่าความล้มเหลวที่เลวร้ายที่สุดของระบบการศึกษาไทยอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการยังไม่ชนะกระทรวงกลาโหมเสียทีในเชิงงบประมาณ

แต่ไม่นานมานี้ผมพอจะได้คำตอบเลาๆ ว่า ทำไมคนไทยจึงล้มเหลวกับการวิเคราะห์วิจารณ์ตัวเอง ความผิดพลาดของตัวเองเอาก็เมื่อสายตาผมผ่านข่าวไม่สลักสำคัญข่าวหนึ่งเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางการเมือง

รายงานข่าวนั้นมิได้อ้างอิงผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองหรือนักวิชาการ แต่กลับอ้างความเห็นของ “โหร” ชื่อดังแห่งยุคถึงแนวโน้มการเมืองและสังคมไทย ด้วยน้ำเสียงที่ให้น้ำหนักเสียยิ่งกว่าความเห็นของนักวิชาการ

หะแรกผมไพล่คิดไปว่าความเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มในอนาคตจากปากคำโหรกับนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์นั้นไม่ต่างกันนักในรูปแบบ เพราะมันเป็นการคาดเดาในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นด้วยกันทั้งคู่ ด้วยเหตุนี้ผมจึงรู้สึกเฉยๆ กับการยกฐานะนักวิเคราะห์การเมืองให้กับโหราจารย์ทั้งหลาย

แต่หากคิดนานๆ เข้าเราจะพบว่าทัศนะของนักวิชาการนั้นประมวลจากข้อเท็จจริง ส่วนโหรอ่านเส้นทางอนาคตจากสถิติของดวงดาว หรือกระทั่งจากการนั่งทางใน

แน่ล่ะ ผมมิได้มีเจตนาหมิ่นแคลนโหราศาสตร์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นพ่อหมอประจำค่ายการเมืองร่วมสมัย (ซึ่งค่อนข้างเลอะเทอะทั้งสิ้น) ไปจนถึงพระโหราธิบดีสมัยกรุงศรีอยุธยา ผู้วางรากฐานการศึกษาอันเป็นวิทยาศาสตร์ด้วยตำราเรียน “จินดามณี”

แต่การพึ่งพาในสิ่งที่ไม่อาจประเมินได้ด้วยเหตุผล และการใช้วิชาอย่างผิดที่ผิดทาง ไม่เพียงสร้างความคาดหวังที่ผิดๆ เท่านั้น ยังเป็นการบ่มเพาะพฤติกรรมและวิธีคิดที่งมงายให้กับคนในประเทศ

รายงานข่าวที่อิงกับความเชื่ออย่างงมงายจนเกินงาม เป็นเพียงภาพสะท้อนวิธีคิดประชาชาติ หรือ Mentality ของคนส่วนใหญ่ในประเทศ ทั้งๆ ที่เราสามารถใช้โหราศาสตร์ได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ แต่เรามีแนวโน้มที่จะใช้มันในลักษณะที่ลึกลับและเป็นรหัสนัยมากขึ้นทุกที

ภาพสะท้อนที่ชัดเจนยิ่งกว่า คือ ความเชื่อมั่นในไสยศาสตร์อย่างน่าตกใจ ไม่เชื่อก็คงต้องพิจารณาพฤติกรรมของคนใหญ่คนโตบางคนที่มักแก้ปัญหาของชาติด้วยการปรึกษาพ่อหมอแม่หมอมากกว่าพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญเชิงเทคนิค หรือกระทั่งความรู้ความสามารถของตน

ผู้บริหารบ้านเมืองมีจิตใจไม่มั่นคงฉันใด ก็สะท้อนไปถึงพลเมืองของประเทศฉันนั้น

Mentality ที่อ่อนแอเช่นนี้สั่งสมมาแต่ครั้งโบราณ หากประวัติศาสตร์ไทยไม่ตกหล่นเรี่ยราดจากการศึกสงครามและความมักง่าย เราคงพบตัวอย่างมากมายในหน้าพงศาวดารที่พอจะทำให้ผมเชื่อได้เร็วขึ้นว่า “โศกนาฏกรรมสยาม” มีมูลเหตุมาจาก “ไสยศาสตร์สยาม” อย่างน้อยก็ในระดับความคิดและทัศนคติของคนไทย

แต่ก็ใช่ว่าประวัติศาสตร์จะไม่หลงเหลือร่องรอยของ Mentality ประเภทนี้เอาเสียเลย

ที่เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ ความหลงใหลในไสยศาสตร์และความเชื่อที่งมงายในสมัยพระเจ้าปราสาททอง เรื่องนี้แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงมีพระราชวินิจฉัยไปในทางลบ ดังที่ทรงมีพระราชปรารภในกระทู้กับพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ว่า

“ครั้นพระอาทิตยวงศ์ได้พวกพ้อง ๒๐๐ คน พระเจ้าปราสาททองไม่ได้คิดต่อสู้ หนีด้วยความขลาด เผาลูกเธอพบเนื้อในท้อง เชื่อว่าต้องคุณ เป็นพยานให้เห็นว่าเชื่ออะไรยับเยินมาก เป็นคนเอาตำราทิ้งน้ำเสียมาก จึงมีผู้คิดทำตำราขึ้นใหม่ ยิ่งเป็นวิชากระซิบกระซาบ คนก็ยิ่งเชื่อมากขึ้น

เห็นจะเป็นคนขี้กลัวฟ้าร้องฟ้าผ่ามาก ได้ยินเสียงฟ้าผ่ายังนึกว่าในวัง แล้วกลับเข้ามาดู ก็พอพบพระนารายณ์ไม่ถูกสายฟ้า สมประสงค์ไปข้างทางพระบารมีต่อไปอีก เลยตื่นไปจนถึงฟ้าผ่าโรงช้างไม่ถูกช้าง ฟ้าผ่าที่บางปะอินไม่เป็นอันตราย ยิ่งรู้สึกพระบารมีกล้าขึ้น

ลบศักราช ฟังงูๆ ปลาๆ มาแต่ไหน จากวิชาพราหมณ์ๆ ที่เขาว่าเวทมนตร์คาถาอะไรอ่อนไปหมด เพราะเป็นกลียุค ไม่เหมือนทวาบรยุค จึงคิดจะเปลี่ยนศักราชเป็นปีต้นให้เป็นทวาบรยุค คือเร่งให้เป็นทวาบรยุคเร็วๆ เพราะยุคนั้นนับเป็นอนุโลมปฏิโลมเป็นกลียุค แล้วก็เลื่อนขึ้นเป็นทวาบรยุค แล้วเลื่อนขึ้นเป็นไตรดายุค แล้วเลื่อนขึ้นกัตยุคนี่เป็นปฏิโลม”

ไสยศาสตร์สยาม

พระราชวินิจฉัยนี้ แม้พาดพิงถึงพระเจ้าปราสาททองก็จริง แต่อาจสะท้อนถึงความงมงายที่สืบทอดมาตลอดสมัยอยุธยาจนถึงยุคร่วมสมัย ดังเช่นเรื่องเล่าขานในยุคเชื่อผู้นำชาติพ้นภัยที่ว่า บรรดาบริวารมองเห็นรัศมีแผ่ออกมาจากจอมพล ป. พิบูลสงคราม บ่งบอกถึงความเป็นผู้มีบุญญาบารมี

เรื่องนี้แม้นไม่อาจพิสูจน์ได้ทั้งในฐานะเรื่องเล่าและตัวรังสีที่แผ่ออกมา แต่อย่างน้อยพิสูจน์ได้ว่าความงมงายทำลายคนไทยบางคน เพราะมันเพาะนิสัยสอพลอผู้ที่มีอำนาจโดยไม่พิจารณาถึงข้อดีข้อเสียของคนผู้นั้น

ที่ควรพิจารณาเป็นอย่างยิ่งจากพระราชวินิจฉัยของรัชกาลที่ 5 คือ ข้อความที่ว่า “เป็นคนเอาตำราทิ้งน้ำเสียมาก จึงมีผู้คิดทำตำราขึ้นใหม่ ยิ่งเป็นวิชากระซิบกระซาบ คนก็ยิ่งเชื่อมากขึ้น”

ข้อสะท้อนให้เห็นว่าความงมงายที่ฝังลึกในจิตสำนึกของผู้คนนั้น กระตุ้นให้เกิดความหวาดกลัวถึงขั้นทำลายวิชาความรู้ที่สั่งสมมาแต่อดีต อีกทั้งยังเปิดช่องให้มีผู้แต่งตำราขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับความงมงายในไสยศาสตร์ของผู้ปกครอง

ตำราสรรพวิชาที่ถูกทิ้งน้ำในครั้งนั้นสร้างความเสียหายแก่ภูมิความรู้ของประเทศพอๆ กับการทำลายสมบัติล้ำค่าเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา

และอาจกล่าวได้ว่าการทำลายความรู้และเชิดชูวิชามารนั้น เลวร้ายไม่แพ้การเผาบ้านเผาเมือง

ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า ฆราวาสผู้ทรงภูมิธรรมและพระเถราจารย์บางรูปแต่โบราณจึงมักเปรยอย่างกังวล หากคราใดที่บ้านเมืองมีแนวโน้มหลงใหลในเดรัจฉานวิชามากกว่าหลักเหตุและปัจจัยดังที่พุทธองค์สั่งสอนไว้ ด้วยเหตุที่ท่านเหล่านั้นทราบดีว่าความเป็นพุทธ หรือการอ้างเหตุและผลของพวกเราถูกครอบด้วยความเชื่อที่งมงายอันฝังลึกในแผนที่ดีเอ็นเออย่างยากที่จะลบทิ้งออก และกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุดความคิดที่กดทับไม่ให้คนก้าวไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอันประเสริฐได้

คำว่า “ไสยศาสตร์” กับ “โศกนาฏ กรรม” ดูเหมือนเป็นคำที่ใช้ต่างกรรมต่างวาระก็จริง แต่แท้จริงแล้วทั้งสองคำเป็นเหตุปัจจัยของกันและกัน

ในบางบริบทของความเป็นไทยที่เราไม่เคยพิจารณา