posttoday

พระบรมราชินีนาถ 2 พระองค์ของประเทศไทย

08 สิงหาคม 2553

มูลนิธิ 5 ธันวามหาราช จัดทำหนังสือที่ระลึกมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาพระบรมราชินีนาถ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549....

มูลนิธิ 5 ธันวามหาราช จัดทำหนังสือที่ระลึกมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาพระบรมราชินีนาถ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549....

โดย...สมานสุดโต

ทุกปีเมื่อถึงวันที่ 12 ส.ค. เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ กรุงเทพมหานครจะประดับไปด้วยธงทิว ตามประทีปโคมไฟ งดงามราวกับเมืองสวรรค์ ถนนหนทางสายสำคัญ จะอัญเชิญพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในพระราชอิริยาบถต่างๆ ขึ้นประดับไว้ตามซุ้มที่ออกแบบวิจิตรตระการตา โดยเฉพาะถนนที่เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินจากสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตไปสู่พระบรมมหาราชวัง

การที่กรุงเทพมหานครประดับตกแต่งทุกพื้นที่สวยงาม แสดงถึงความกตัญญูและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวไทย ด้วยพระราชวิริยะอุตสาหะอันแรงกล้าเป็นเวลาต่อเนื่องกันมาหลายสิบปี

ด้วยพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ผู้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจและพระราชภารกิจ สนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและทรงบำเพ็ญประโยชน์สุขแก่รัฐและพสกนิกรเป็นอเนกประการ จึงได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงพระราชอิสริยยศสูงยิ่งในตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่สองของประวัติศาสตร์แห่งชาติไทย

มูลนิธิ 5 ธันวามหาราช จัดทำหนังสือที่ระลึกมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาพระบรมราชินีนาถ ฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549 ได้เขียนถึงความเป็นมาของตำแหน่งพระบรมราชินีนาถ เพื่อเผยแพร่มีความพอสังเขปดังนี้

ในสมัยต้นของกรุงศรีอยุธยานั้น พระมหากษัตริย์มีพระมเหสีเทวีและพระสนมในตำแหน่งต่างๆ หลายพระองค์ หลายคน ซึ่งอาจเป็นไปตามความนิยมของพระมหากษัตริย์โบราณของประเทศตะวันออก ดังปรากฏในกฎมนเทียรบาลซึ่งอยู่ในกฎหมายตราสามดวงที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตชำระและรวบรวมขึ้นจากกฎหมายเก่าของกรุงศรีอยุธยา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาพระมเหสีเทวี อนุโลมตามตำแหน่งที่มีในกฎมนเทียรบาล ดังนี้...

สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชเทวี หรือ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี

สมเด็จพระนางเจ้าพระอัครราชเทวี

พระนางเจ้าพระวรราชเทวี หรือ พระนางเจ้าพระราชเทวี

พระอัครชายาเธอ

นอกจากนั้น ยังได้ทรงสถาปนาตำแหน่งพระราชชายา เพิ่มเติมจากโบราณขึ้นมาอีกตำแหน่งหนึ่ง

ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสถาปนาตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชินีนาถขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

กล่าวคือ เมื่อ พ.ศ. 2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริที่จะเสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2440 จึงได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี เป็นผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์ โดยได้ทรงตราพระราชกำหนดผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน รัตนโกสินทร์ศก 115 ขึ้น

ในมาตรา 2 แห่งพระราชกำหนดนั้นมีว่า “ในระหว่างเวลาที่ไม่ได้เสด็จประทับอยู่ในกรุงสยามนี้ให้สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ อันเป็นพระราชชนนีแห่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชมกุฎราชกุมารนั้น เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์ กับทั้งให้มีที่ประชุมอันหนึ่งเป็นที่ปรึกษาด้วย”

ในพระราชพิธีทรงสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พุทธศักราช 2439 นั้น สมเด็จพระบรมราชินีนาถได้ทรงกระทำสัจจาธิษฐานเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการรับพระราชทานตำแหน่งผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดนั้น

ต่อมาได้มี “พระบรมราชโองการออกประกาศลงวันที่ 1 เมษายน รัตนโกสินทร์ศก 116 กำหนดแบบแผนแห่งถ้อยคำที่จะใช้ในส่วนราชการสืบไปให้ทั่วกันว่า

1.ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม รัตนโกสินทร์ศก 115 ไปจนถึงเวลาที่ได้เสด็จพระราชดำเนินออกจากพระนครและเวลาเสด็จกลับคืนยังพระนคร ถ้าจะใช้บัตรหมายออกพระนามสมเด็จพระนางเจ้า พระอัครราชเทวีนั้น ก็ให้ใช้ได้เป็น 3 อย่าง ดังนี้

1.1 ว่า สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ

1.2 ว่า สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ

1.3 ว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถ

ให้ใช้ตามประเภทแห่งการที่ควรใช้ ตั้งแต่เวลาเสด็จออกจากพระนครไปจนเวลาเสด็จกลับยังพระนคร ให้เพิ่มท้ายพระนามอีกว่า ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินต่างพระองค์

2.ในบัตรหมายและหนังสือราชการทั้งปวง ซึ่งเคยรับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ให้ใช้ว่ารับพระราชเสาวนีย์ใส่เกล้าฯ

3.คำที่กราบทูลทั้งปวง ให้ใช้ถ้อยคำเสมอกราบบังคมทูลพระกรุณา ยกเสียแต่คำที่มี บรม ให้ยกคำ บรม นั้นเสีย เช่นคำว่า พระบรมราชวโรกาส ให้ใช้ว่า พระราชวโรกาส พระบรมราชานุญาตให้ใช้ว่า พระราชานุญาต ให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาททุกกระทรวงใช้หนังสือและคำพูดให้ต้องตามประกาศนี้ เทอญ”

พระบรมราชินีนาถพระองค์ที่ 2

ประวัติศาสตร์ชาติไทยได้จารึกถึงเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นพระองค์ที่สอง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำริที่จะทรงผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาในเดือนตุลาคม พุทธศักราช 2499 เมื่อวันที่ 18 กันยายน พุทธศักราช 2499 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระหว่างที่ทรงผนวชเป็นเวลา 15 วัน

ทั้งนี้ เป็นไปด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังประกาศแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 73 ตอนที่ 76 ลงวันที่ 25 กันยายน พุทธศักราช 2499 และในวันที่ 20 กันยายน นั้น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ได้มีพระราชดำรัสปฏิญาณพระองค์ในสภาผู้แทนราษฎร ก่อนที่จะทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลาสิกขาแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระอภิไธยสมเด็จพระบรมราชินี เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ดังปรากฏในราชกิจานุเบกษาเล่ม 73 ตอน 103 ลงวันที่ 11 ธันวาคม พุทธศักราช 2499