posttoday

ตำหนักวาสุกรี วัดโพธิ์ ที่ประทับมหากวีเอกที่ยูเนสโกยกย่อง

20 กันยายน 2552

โดย...ตาแหลม

โดย...ตาแหลม

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม วัดประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มีสิ่งอัศจรรย์ที่เป็น Unseen อีกเป็นจำนวนมาก ในจำนวนนั้น ได้แก่ ตำหนักวาสุกรี รวมอยู่ด้วย

จดหมายเหตุการอนุรักษ์กรุงรัตนโกสินทร์หน้า 255 กล่าวว่า กุฏิเสนาสนะในวัดพระเชตุพนฯ ในรัชกาลที่ 1 สร้างด้วยเครื่องไม้ทั้งหมด เมื่อบูรณะพระอารามในรัชกาลที่ 3 โปรดให้สร้างใหม่เป็นตึกหลังคาเครื่องไม้ทรงไทยทั้งหมด ที่สำคัญได้แก่ กลุ่มพระตำหนักสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งเป็นตึกใหญ่ 2 หลังแฝดขนาด 7 ห้อง เชื่อมต่อกับตึกเล็กขนาด 3 ห้อง เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสสิ้นพระชนม์ในรัชกาลที่ 4 พระราชทานเพลิงศพแล้วให้อัญเชิญพระอัฐิมาประดิษฐานไว้ที่พระตำหนัก
ส่วนหนังสือคู่มือนำเที่ยววัดโพธิ์ พิมพ์ครั้งที่ 7 (ปรับปรุงใหม่) พ.ศ. 2552 พูดถึงตำหนักวาสุกรีว่าเป็นพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์ที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นเจ้านายชั้นสูงพระองค์แรกที่ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า พระผู้ทรงเป็นรัตนกวีของชาติ ซึ่งองค์การยูเนสโก แห่งสหประชาชาติ ประกาศยกย่องให้เป็นพระผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก (กวีเอกของโลก)

ตำหนักนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ตั้งอยู่ในเขตสังฆาวาส ปัจจุบันเป็นที่ประดิษฐานพระโกศทรงฝรั่งบรรจุพระอัฐิของพระองค์ท่าน จัดเป็นบ้านกวีและอนุสรณ์สถานที่น่าสนใจ

ผลงานของรัตนกวีพระองค์นี้ ชาวไทยที่ผ่านการศึกษาระดับมัธยมต้นทุกคนอ่านบทพระนิพนธ์โคลงสี่สุภาพ ฉันท์ ลิลิต และยังคงจำกันได้ลิลิตตะเลงพ่าย กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ ซึ่งเป็นหนังสืออ่านประกอบในชั้นเรียนบทหนึ่งที่ท่องจำกันติดปาก แม้เอื้อนเอ่ยที่ไหน ย่อมมีคนต่อคำได้คือ พฤษภกาษร อีกกุญชรอันปลดปลง โททนต์เสน่งคง สำคัญหมายในกายมี นรชาติวางวาย มลายสิ้นทั้งอินทรีย์ สถิตทั่วแต่ชั่วดี ประดับไว้ในโลกา

วันที่ 2 ก.ย. 2552 ผมได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชม กราบพระอัฐิสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ที่พระตำหนัก ซึ่งทางวัดดูแลอย่างดี
ภายในประกอบด้วยที่ประทับ ห้องพระบรรทม ซึ่งมีพระแท่นตั้งไว้ แต่ปัจจุบันนำพระพุทธรูปมาประดิษฐานไว้ด้วย ห้องทรงพระอักษร มีโต๊ะสำหรับทรงพระอักษรตั้งอยู่ และท้องพระโรง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระโกศบรรจุพระอัฐิ ตั้งอยู่บนบุษบก โดยมีฉัตร 5 ชั้น ประดับเทิดพระเกียรติอยู่เหนือพระโกศนั้น

นอกจากนั้นมีตู้ตั้งแสดงเครื่องตั้งบูชาแบบจีน เครื่องถ้วย และแจกันแบบจีนที่มีลวดลายสวยงามประดับไว้ในตู้โชว์

วันกรมพระปรมานุชิตชิโนรส

วันที่ 11 ธ.ค. ของทุกปี เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักปราชญ์ราชบัณฑิต นักศึกษาและนักเรียนว่าเป็น “วันกรมพระปรมานุชิตชิโนรส” หรือวันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส “มหาสังฆปริณายก ประธานาธิบดีแห่งสงฆ์” แห่งวัดพระเชตุพนฯ ผู้ทรงเป็นปราชญ์ทั้งคดีโลกและคดีธรรม ได้ทรงพระนิพนธ์ ปฐมสมโพธิกถา ลิลิตตะเลงพ่าย สมุทรโฆษคำฉันท์ เวสสันดรชาดก และวรรณกรรมที่เลื่องลืออีกหลายเล่ม ที่นับถือกันว่าเป็นขุมทรัพย์ทางปัญญาของไทยในด้านพระพุทธศาสนาและวรรณคดี

พระประวัติ

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาจุ้ย ณ วันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น 5 ค่ำ ปีจอ จุลศักราช 1152 ตรงกับวันที่ 11 ธ.ค. พ.ศ. 2333 มีพระนามเดิมว่า “พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าวาสุกรี” เมื่อประสูตินั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช มีพระชนมายุ 53 พรรษา ครองราชสมบัติมาแล้ว 8 ปี

ครั้นพระองค์เจ้าวาสุกรีทรงเจริญพระชันษาได้ 12 ปี ก็ทรงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปีจอ พ.ศ.  2345 โดยเป็นหางนาค ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ (วัดพระศรีรัตนศาสดาราม) ครั้นบรรพชาแล้วจึงเสด็จไปประทับอยู่ ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

ในระหว่างที่เป็นสามเณรอยู่นั้น ได้ทรงศึกษาในสำนักสมเด็จพระพนรัตน ทรงศึกษาอักษรทั้งไทย ขอม ภาษามคธ (บาลี) โบราณคดี ตลอดจนวิธีทำเลขยันต์ต่างๆ ตามคตินิยมในสมัยนั้น

เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุได้ 3 พรรษา ลุปีพ.ศ. 2357 สมเด็จพระพนรัตน อธิบดีสงฆ์มรณภาพในระหว่างพรรษา ยังไม่ทันจะได้โปรดให้พระเถระรูปใดเป็นอธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ
ในช่วงเวลาพระกฐิน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เสด็จฯ ไปพระราชทานพระกฐินวัดพระเชตุพนฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดฯ ตั้งให้เป็นอธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพนฯ โดยที่ยังมิได้ทรงกรม เข้าใจว่าทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะด้วยในเวลานั้นด้วย

ทรงรับกรมครั้งแรกในรัชกาลที่ 2 เป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์ เมื่อราวปีชวด  พ.ศ. 2359 และในขณะที่ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นอยู่นี้ ได้ทรงทำหน้าที่เป็นพระอาจารย์ของเจ้านายหลายพระองค์

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่นั้น ทรงเคารพเลื่อมใสในสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าจะมีพระชนมายุแก่กว่าพระองค์เพียง 14 พรรษาก็ตาม แต่ก็ทรงตั้งอยู่ในฐานะเป็นพระปิตุลา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงลาสิกขา เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. พ.ศ. 2394 แล้ว ก็ได้ทรงสถาปนาสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ขึ้นเป็น กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ศรีสุคตขัติยวงศ์ฯ โดยโปรดให้ตั้งพระราชพิธีมหาสมณุตมหาภิเษก ที่วัดพระเชตุพนฯ เมื่อ พ.ศ. 2394

ต่อมาในรัชกาลที่ 6 ทรงสถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามเป็นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า

สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงพระประชวรพระโรคชรา และสิ้นพระชนม์เมื่อวันศุกร์ เดือนอ้าย ขึ้น 9 ค่ำ ปีฉลู เบญจศก จุลศักราช 1215 เวลาบ่าย 3 โมง ตรงกับวันที่ 9 ธ.ค. พ.ศ. 2396 สิริรวมพระชนมายุได้ 63 พรรษา

ในฐานะที่ทรงเป็นประมุขสงฆ์ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศรัทธามาก จึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระศพจากวัดพระเชตุพนฯ ไปประดิษฐาน ณ พระเมรุที่ท้องสนามหลวง แล้วพระราช ทานเพลิงศพ เมื่อวันเสาร์ที่ 8 เม.ย. ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 5 พ.ศ. 2397 เมื่อพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระอัฐิไปประดิษฐานไว้ที่พระตำหนักวัดพระเชตุพนฯ และโปรดให้มีตำแหน่งพระฐานานุกรมรักษาพระอัฐิต่อมา

พระฐานาฯ ในพระอัฐิ

ถึงเวลาเข้าพรรษา จะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายพุ่มบูชาพระอัฐิทุกปี เมื่อถึงวันเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานพระกฐิน ก็โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระอัฐิไปประดิษฐานที่ในพระอุโบสถวัดพระเชตุพนฯ ทรงสักการบูชาแล้วทอดผ้าไตร 10 ไตร โปรดเกล้าฯ ให้พระฐานานุกรมพระอัฐิสดับปกรณ์เป็นประเพณีเช่นนี้ตลอดมาตั้งแต่รัชกาลที่ 4 จนกระทั่งถึงรัชกาลปัจจุบัน

อนึ่งตำแหน่งพระฐานานุกรมรักษาพระอัฐินั้นมีทั้งหมด 8 ตำแหน่งด้วยกันคือ 1 พระทักษิณคณิสสร 2 พระอุดรคณารักษ์ ส่วนที่เป็นพระครูคู่สวดได้แก่ พระครูสุนทรโฆสิต พระครูวิจิตรโฆสา พระครูอุดมสังวร พระครูอมรวิชัย พระครูวิสิทธิสมโภช และพระครูไพโรจน์สังฆาราม

แต่ปัจจุบันคณะสงฆ์ละเลยไม่ให้ความสำคัญกับราชประเพณี ตำแหน่งพระฐานานุกรมบางตำแหน่งจึงว่างเว้น เช่น ตำแหน่งเจ้าคุณ พระทักษิณคณิสสร และพระอุดรคณารักษ์ไม่ปรากฏในบัญชีชื่อพระวัดพระเชตุพนฯ รวมทั้งพระครูคู่สวดบางตำแหน่งก็หายไป
 
กรณียกิจ

ในรัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จารึกแผ่นศิลาประดับไว้ในวัดพระเชตุพนฯ โดยจารึกตำราวิชาการต่างๆ ในการจารึกแผ่นศิลาประดิษฐานไว้ในบริเวณวัดพระเชตุพนฯ ครั้งนี้ สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ได้ทรงพระนิพนธ์เรื่องต่างๆ เป็นโคลง ฉันท์ กาพย์ ไว้หลายเรื่อง ทั้งยังได้ทรงพระนิพนธ์โคลงดั้นบาทกุญชร และโครงดั้นวิวิธมาลี สรรเสริญพระเกียรติยศพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ จารึกไว้ในวัดพระเชตุพนฯ อีกเรื่องหนึ่งด้วย

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสนั้น ทรงได้รับคำสดุดีว่าเป็นจินตกวีไทยอย่างยอดพระองค์หนึ่ง งานพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสมีทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ที่เป็นร้อยแก้ว เช่น พระปฐมสมโพธิ พระธรรมเทศนาพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้วเป็นร้อยกรองที่ทรงเชี่ยวชาญและทรงถนัดมากคือฉันท์ เช่น กฤษณาสอนน้องคำฉันท์ สรรพสิทธิ์คำฉันท์ สมุทรโฆษคำฉันท์ ฉันท์ดุษฎีสังเวยกล่อมช้างพัง โดยเฉพาะที่เป็นแม่บท ทรงแต่งตำราฉันท์มาตราพฤติและวรรณพฤติ

ในจำนวนพระนิพนธ์ทั้งหมด เรื่องที่ได้รับการยกย่องทางร้อยกรองว่าดีเยี่ยมที่สุด ได้แก่ ลิลิตตะเลงพ่าย ซึ่งเป็นวรรณคดีที่ดีเลิศทางกระบวนกลอนลิลิตอีกเรื่องหนึ่งด้วย ส่วนพระนิพนธ์ร้อยแก้ว ที่ยอดเยี่ยมที่สุดน่าจะได้แก่ เรื่อง พระปฐมสมโพธิกถา ซึ่งผู้อ่านจะได้อรรถรสทั้งภาษาและวรรณคดี นอกเหนือไปจากเนื้อหาที่เป็นพระพุทธประวัติอีกด้วย