posttoday

พระธรรมวินัย เพื่อความเกื้อกูล มิใช่การทำลาย!!

10 เมษายน 2559

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ช่วงนี้สภาพร่างกายที่ใช้งานมาอย่างหนักหน่วง

โดย...พระอาจารยอารยะวังโส

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ช่วงนี้สภาพร่างกายที่ใช้งานมาอย่างหนักหน่วง เริ่มออกอาการแสดงสัจธรรมที่ว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ... ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวตน จึงต้องเข้ารับการรักษาจากแพทย์เพื่อซ่อมแซมร่างกายให้มีสภาพดำรงอยู่ จะได้ใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติธรรม โดยกำหนดดีเดย์ในวันที่ ๑๐ เม.ย.นี้ ณ โรงพยาบาลจุฬาฯ เพื่อจะได้ออกมาใช้งานต่อในวันที่ ๑๓-๑๔ เม.ย. ที่ได้รับนิมนต์ไปทำหน้าที่เป็น Guruji ให้ชาวพุทธในอินเดียที่มีปีติยินดีกันยิ่ง เนื่องในการวางศิลาฤกษ์ตึกสูง ๑๗ ชั้น กลางนครมุมไบ รัฐมหาราษฎร์ อินเดีย ขององค์กร TPIT (The People’s Improvement Trust) ที่ก่อตั้งโดย ดร.บี อาร์ อัมเบด การ์ ที่ชาวอินเดียขนานนามเขาว่า “The Great Son of India”

วันที่ ๑๔ เม.ย. ๒๕๕๙ ตรงกับวันคล้ายวันเกิดของเขา ซึ่งในปีนี้ครบ ๑๒๕ ปี ชาตกาล ดร.บี อาร์ อัมเบดการ์ ชาวพุทธในอินเดียจึงพร้อมใจที่จะจัดงานครั้งยิ่งใหญ่ในวันที่ ๑๔ เม.ย.นี้ ในงานดังกล่าว โดยมี Chief Minister ของรัฐมหาราษฎร์มาเป็นประธาน และมีอาตมานำเจริญพระพุทธมนต์ ให้ธรรมเทศนาสู่การเจริญภาวนาในช่วงต้น และการกล่าว อวยพรปิดท้าย

เริ่มเข้าสู่ปักษ์ที่ ๒ ฤดูร้อน ได้อ่านข่าวชิ้นเล็กๆ จากหนังสือพิมพ์ เรื่องที่มีการไปยื่นคำร้องกล่าวหาพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งว่า ล่วงละเมิดพระธรรมวินัยใน ๒ ข้อ คือ ๑.ได้รับเงินและสะสมไว้ในบัญชีธนาคาร... ๒.นำเงินของตนเองที่มีอยู่ในบัญชีธนาคารไปซื้อรถเบนซ์โบราณที่เป็นข่าว โดยผู้ยื่นระบุคำร้องว่า... เป็นการล่วงละเมิดพระธรรมวินัยในสิกขาบทที่ ๘ และ ๙ หมวดโกสิยวรรค...

จริงๆ แล้ว เรื่องการรับเงินทองของพระภิกษุในปัจจุบันนั้น โดยทั่วไปท่านมีกัปปิยการกหรืออุปัฏฐากผู้แสดงตนหรือลูกศิษย์ เป็นผู้รับเป็นภาระธุระตามพุทธานุญาต เมื่อมีกล่าวปวารณาถวายปัจจัยอันเป็นมูลค่าจำนวนเท่านั้นบาท ที่พระภิกษุสามารถเรียกใช้เป็นกัปปิยภัณฑ์อันสมณะพึงควรบริโภคได้ ก็จะเรียกจากอุปัฏฐากหรือลูกศิษย์ที่ได้แสดงตนและน่าไว้วางใจ มีความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัย เพื่อช่วยกันรักษาความบริสุทธิ์ให้กับพระภิกษุที่มั่นคงในการประพฤติพรหมจรรย์

พระธรรมวินัย เพื่อความเกื้อกูล มิใช่การทำลาย!!

 

โดยทั่วไปจะพิจารณาว่า พระท่านรับเงินทองหรือไม่นั้น จึงต้องลงลึกไปในรายละเอียด โดยมีเจตนาเป็นตัวชี้วัด ดังเช่นมีญาติโยมเอาซองเงินไปเสียบวางไว้ในพานดอกไม้ แล้วน้อมถวายพระภิกษุที่เคารพศรัทธา... พระท่านรับไปโดยมิได้ทราบว่าเป็นซองเงิน และเมื่อมาทราบภายหลังก็ได้สละไป ให้ไปเข้าสู่ส่วนการปวารณาของญาติโยม เช่น เป็นเงินบำรุงค่าน้ำค่าไฟที่มีกรรมการวัดดูแล... ก็ย่อมไม่บกพร่องด้วยเจตนา แต่ถ้าท่านรู้... ท่านเห็น... ท่านทราบ หรือเพียงแค่สงสัย แต่ยังรับอย่างมีเจตนา หรือขาดการพิจารณาด้วยจงใจ ทั้งๆ ที่สงสัยแล้วยังกระทำ... อย่างนี้เสียศีลแน่นอน

ความบกพร่องผิดพลาดจนเสียศีลในข้อนี้ สามารถทำคืนกลับได้ ด้วยการเปิดเผยต่อเพื่อนภิกษุ โดยต้องสละวัตถุต้นเหตุนั้นไปตามธรรมวิธี หากไม่สละวัตถุนิสสัคคีย์นั้น การปลงชำระอาบัติ (บาป) เพื่อทำคืนกลับตามวินัยนั้น ไม่เป็นผล

จริงๆ แล้ว เรื่องการกล่าวหาอาบัติใดๆ ต่อพระภิกษุนั้น ควรจะไปดำเนินการ ณ วัดสังกัดของพระรูปนั้น เพื่อฟังความชี้แจงจากท่านในแต่ละข้อกล่าวหานั้นๆ  ที่สำคัญควรทำด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ เพื่อรักษาพระรูปนั้นมิให้เสียหายในพระวินัย และเพื่อปกป้องพระพุทธศาสนาด้วยจิตที่มีเมตตาคารวะและเคารพในพระธรรมวินัยอย่างแท้จริง มิใช่เป็นไปในวิถีการเมือง ที่มุ่งทำลายกันจนขาดความบริสุทธิ์ด้วยเจตนาของผู้กระทำนั้นๆ

เจริญพร