posttoday

รัชกาลที่ 4 ทรงน้อยพระทัย

27 มีนาคม 2559

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงปกครองให้พสกนิกรร่มเย็นเป็นสุข แต่บางครั้ง

โดย...ส.สต

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงปกครองให้พสกนิกรร่มเย็นเป็นสุข แต่บางครั้งพระองค์ก็ทรงมีพระอาการน้อยพระทัยเช่นกัน ดังที่หลวงวิจิตรวาทการเล่าในหนังสือดวงหน้าในอดีต 

วังหลวง-วังหน้า

ในสมัยรัชกาลที่ 4 นั้น ประเทศไทยมีพระเจ้าอยู่หัว 2 พระองค์ นอกจากรัชกาลที่ 4 ครองวังหลวงแล้ว ยังมีสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงครองวังหน้าอีกพระองค์หนึ่ง หลวงวิจิตรวาทการเขียนว่า ใครจะสร้างความแตกแยกในเมืองไทยเวลานั้น ไม่มีวิธีใดดีกว่าหาทางให้วังหลวงกับวังหน้าขัดใจกัน มูลเหตุที่รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระอาการน้อยพระทัย เมื่อเจ้าผู้ครองนครอังกฤษส่งเครื่องทำเงินตรามาถวาย แต่ไม่รู้ว่าถวายใคร รัชกาลที่ 4 จึงมีพระราชหัตถเลขาถึงคนใกล้ชิดว่า อังกฤษจะให้ใคร ระหว่างวังหลวง กับวังหน้า แล้วพระองค์ก็ออกตัวว่า ด้วยข้าพเจ้าเป็นคนไม่สู้มีชื่อเสียงลือชาปรากฏ ท่านข้างโน้น (วังหน้า) ท่านก็เป็นผู้พอใจมีของประหลาด ท่านกว้างขวางกว่าข้าพเจ้า ถ้าการนั้นเป็นของถวายในพระบวรราชวังไป ครั้นมาถึงกรุง เครื่องนั้นก็เป็นของนิ่งอยู่ เป็นแต่ของเครื่องเล่นไป เพราะการทำเงินตรา กฎหมายฝ่ายไทยมีได้แต่ข้างพระบรมมหาราชวัง (พระราชหัตถเลขาถึงพระยามนตรีสุริยวงศ์และเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี ลงวันอาทิตย์เดือน 12 แรม 7 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. 2400)

เอาใจใส่ครอบครัวทูต

เมื่อรัชกาลที่ 4 ทรงส่งราชทูตไทยไปลอนดอนในสมัยพระนางเจ้าวิคตอเรียเป็นพระราชินี พระองค์ทรงเอาใจพวกทูตไทย โดยทรงเอาพระทัยใส่ในครอบครัวของบรรดาทูตทุกคน โดยให้พระยามหาอำมาตย์ไปช่วยดูแล ระวังฟืนไฟ สมาชิกครอบครัวทูตใดเจ็บไข้ต้องดูแแล และให้เถ้าแก่ไปเยี่ยมฟังการงานและข่าวร้ายดีที่บ้านทูต เช่น จมื่นราชามาตย์ บ้านนายพิจารณ์สรรพกิจ บ้านหม่อมราโชทัย ซึ่งการทั้งหมดนี้ทรงรับสั่งให้พระยามนตรีสุริยวงศ์ ช่วยเป็นธุระบอกให้รู้ทั่วกัน

น้อยพระทัย

เมื่อพระองค์ทรงเอาใจบรรดาทูตมากขนาดนี้ แต่บรรดาทูตไม่ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลถึงพระองค์แม้แต่ฉบับเดียวทำให้เกิดพระอาการน้อยพระทัย จึงต้องอ้อนวอนให้ทูตสงสาร

“ขอท่านทูตทั้งปวงเอ็นดูข้าพเจ้าว่า วานอังกฤษเขาเขียนเป็นคำ เป็นเลข และอักษรอังกฤษให้ถี่ถ้วนแล้วฝากให้ตัวข้าพเจ้าเองทีเดียวฉบับหนึ่ง จะได้หรือไม่ ถ้าฝากคนอื่นฉบับนั้น เขาก็จะเอาของเขาไปเสีย ข้าพเจ้าอ่านหรือฟังครั้งเดียวจำไม่ได้” (พระราชหัตถเลขา ถึงคณะทูตานุทูตรวมกัน ลงวันเสาร์ เดือน 12 ขึ้น 14 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. 2400)

เมื่ออ้อนใครไม่สำเร็จ ก็หันไปทรงอ้อนวอนเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี ซึ่งทรงถือว่าเป็นคนสนิทสนม ขอให้เอ็นดูแก่พระองค์ ให้ได้ทรงรับจดหมายโดยสักฉบับหนึ่ง ดังนี้ -

“การที่จะเขียนหนังสือถึงตัวข้าเอง ดังให้อย่างมานี้ ถึงท่านพระยาราชทูตและตรีทูต และหม่อมราโชทัยและข้าหลวงสองนาย เขาจะไม่ยอมก็จะทำเป็นหนังสือลับมาแต่พ่อเพ็งคนเดียวเถิด ด้วยพ่อเพ็งเป็นคนเดิมต้นเรือนของข้า เสียใจนักที่ไม่ได้หนังสือฝากตรงตัวเท่านั้นทูตไปทั้งที นานถึง 4 เดือนมาแล้ว” (พระราชหัตถเลขาถึงเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี ลงวันอังคาร เดือนอ้าย แรม 7 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. 2400)

วันหนึ่ง มีหนังสือห่อใหญ่จ่าหน้าทูลเกล้าถวายทรงดีพระราชหฤทัย เปิดห่อหนังสือด้วยพระองค์เอง เป็นหนังสือที่ท่านพวกทูตมีถึงคนอื่นทั้งนั้น ไม่มีถึงพระองค์เองเลยสักฉบับเดียว ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขา ดังต่อไปนี้

“หนังสือห่อนั้น ได้ถึงมือข้าพเจ้าในวันจันทร์แรม 6 ค่ำ เดือนอ้าย ข้าพเจ้าได้แก้ออกดู เพราะในห่อนั้นสลักหลังเป็นตัวอังกฤษว่า ถึงข้าพเจ้าเอง จึงได้แก้ออก เป็นหนังสือถึง 8 ฉบับ หรือ 9 ฉบับ สลักหลังว่าวางเวรกรมท่าฉบับหนึ่ง วางเวรกลาโหมฉบับหนึ่ง ถึงพระยาวรวงศ์พิพัธน์สองฉบับ ถึงพระยาวิสูตรโกศาฉบับหนึ่ง ถึงคุณบ้านล่างหรือบ้านกลางอย่างไรมิรู้ฉบับหนึ่ง ถึงคุณอะไรมิรู้จำไม่ได้แล้ว หนึ่งหรือสองฉบับลืมเสียแล้วถึงหลวงปักษา หลวงนาวาฉบับหนึ่ง เป็นแปด หรือเก้าฉบับด้วยกัน ข้าพเจ้าเห็นว่า ไม่มีถึงข้าพเจ้าสักฉบับเดียวข้าพเจ้าก็ไม่ได้แก้ออกอ่านดอก คือ ให้ท่านกรมท่าไปต่อหน้ากรมวงศา” (พระราชหัตถเลขาถึงคณะทูตานุทูตรวมกัน ลงวันอังคาร แรม 7 ค่ำ เดือนอ้าย ปีมะเส็ง พ.ศ. 2400)

แล้วยังทรงอ้อนวอนต่อไปอีกว่า แม้จะไม่เขียนถึงพระองค์เอง จะเขียนถึงเจ้าจอมที่เป็นพี่น้องกับพวกทูตก็ได้ แต่ขอให้ทรงอ่านด้วย

“ขุนนางหรือมหาดเล็กตำรวจ ที่เรียกว่าข้าราชการของเจ้าแผ่นดิน เขาตั้งบ้านเรือนอยู่ไกลๆ เขามาเป็นเวลา บางวันก็ไม่มา ก็หนังสือของทูตบอกมาถึงเขา ให้บอกแก่ข้าพเจ้า เขาอ่านทีเดียวแล้วเขาก็เอาไปเสีย ไม่ได้ฉบับไว้ ถึงทีจะเขียนหนังสือตอบไปก็จำไม่ได้หรือลืมไปจะอ่านอีก ก็ไม่มีฉบับอยู่ที่ตัว ครั้นจะให้ไปตามเอามาก็ช้า ลำบากไป ถึงอย่างไรท่านจะเขียนฝากให้ถึงเมียข้าพเจ้าบ้างเป็นไร ดีกว่าที่จะเขียนฝากขุนนาง ด้วยเมียของข้าพเจ้าอยู่ในวังหมด ไม่ได้อยู่บ้านต่างหาก

ถึงกระนั้นจะฝากถึงเมียที่โกรธกันอยู่ ก็จะไม่ได้อ่าน ต่อให้ถึงเมียชอบกันอยู่ เมื่ออยากจะอ่านเมื่อไรจะได้เรียกเอามาอ่านเมื่อนั้น เมียคนไรดีกันอยู่ เมียคนไรโกรธกัน สรรเพธภักดีทราบอยู่หมดแล้ว” (พระราชหัตถเลขาถึงคณะทูตานุทูตรวมกัน ลงวันอังคาร เดือนอ้าย แรม 7 ค่ำ ปี มะเส็ง พ.ศ. 2400 พระราชหัตถเลขานี้ ยังบอกว่ามีมเหสี และเจ้าจอมที่โกรธกับพระองค์ เหมือนครอบครัวชาวบ้านเหมือนกัน)

ดีพระทัย

หลังจากอ้อนวอนผ่านไป 8 เดือน ก็ทรงรับจดหมายที่กราบบังคมทูลถึงพระองค์โดยตรง ทรงดีพระทัยมาก ดังพระราชหัตถเลขา ดังนี้

“ครั้งนี้ได้หนังสือที่ใส่ถุงเหลือง 3 ฉบับ มีความเป็นอันน่าฟัง เป็นที่ยินดีได้ไว้กับตัวเที่ยวอ่านให้คนโน้นฟังคนนี้ฟัง เป็นเกียรติยศหนักหนา แต่ถึงกระนั้นก็ได้ด้วยความลำบาก” (พระราชหัตถเลขาถึงพระยามนตรีสุริยวงศ์และเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี ลงวันศุกร์ เดือน 4 แรม 6 ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. 2400)

การที่ทรงมีพระเมตตาดูแลครอบครัวทูตในยามที่ไปราชการแรมปีนั้น ทรงได้รับความจงรักภักดีจนยากที่จะบรรยาย