posttoday

ศาสนจักร-อาณาจักร ความเปราะบางสังคมไทย

17 กุมภาพันธ์ 2559

ภาพเหตุการณ์ชุลมุนระหว่างเครือข่ายคณะสงฆ์และองค์กรภาคีพุทธบริษัท 4 ทั่วประเทศ

โดย...วุฒิ นนทฤทธิ์

ภาพเหตุการณ์ชุลมุนระหว่างเครือข่ายคณะสงฆ์และองค์กรภาคีพุทธบริษัท 4 ทั่วประเทศ ปะทะกับเจ้าหน้าที่ทหารที่พยายามสกัดกั้นไม่ให้เครือข่ายคณะสงฆ์ฯ เข้าร่วมฟังการเสวนาสกัดแผนล้มการปกครองคณะสงฆ์ ที่พุทธมณฑลเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา สร้างความไม่สบายใจให้กับพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป จนเกิดคำถามว่าประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้ยังไง

ที่มาที่ไปของปัญหาถ้าดูจากข้อเรียกร้อง 5 ข้อ 1.ห้ามหน่วยงานของรัฐเข้ามาก้าวก่ายกิจการของสงฆ์ 2.รัฐควรสนับสนุนพระพุทธศาสนา 3.ให้นายกฯ ยึดถือมติของมหาเถรสมาคมที่เสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หรือสมเด็จช่วง ขึ้นเป็นพระสังฆราช 4.ขอให้หน่วยงานราชการปฏิบัติต่อพระสงฆ์ด้วยความเอื้อเฟื้อ 5.ให้บรรจุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

หัวใจสำคัญอยู่ที่ข้อ 3 คือ การแต่งตั้งพระสังฆราชองค์ใหม่ ซึ่งการออกมาเคลื่อนไหวของเครือข่ายคณะสงฆ์ฯ ในครั้งนี้ ต้องการขีดเส้นระหว่างศาสนจักรกับอาณาจักร ห้ามเข้ามาก้าวก่ายซึ่งกันและกัน เพราะการปกครองคณะสงฆ์ของไทยกว่าจะมาถึงวันนี้ ไม่ได้เพิ่งเขียนขึ้นมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่พุทธกาล

ในสมัยพุทธกาล การปกครองของคณะสงฆ์ในระยะเริ่มแรกซึ่งมีพระสาวกไม่มาก พระพุทธเจ้าทรงปกครองสงฆ์ด้วยพระองค์เอง ต่อมาเมื่อมีการส่งพระสาวกไปเผยแผ่ศาสนายังเมืองต่างๆ ทำให้มีผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและขอบวชบรรพชาเป็นพระสงฆ์มากขึ้น พระองค์จึงทรงอนุญาตให้พระสาวกผู้ใหญ่เป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้แก่ผู้เลื่อมใสที่เข้ามาขอบวช พร้อมทั้งให้การอบรม ให้การศึกษาพระธรรมวินัย และให้ปกครองสงฆ์เหล่านั้นด้วย

เมื่อพระพุทธศาสนาแผ่ขยายมากขึ้น พระพุทธเจ้าจึงทรงมอบให้คณะสงฆ์ปกครองกันเอง โดยมีพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงและทรงบัญญัติไว้เป็นหลักปฏิบัติ โดยมีพระเถระผู้เป็นพระอรหันต์ ทรงไว้ซึ่งพระธรรมวินัย เป็นผู้ปกครองดูแล เมื่อมีการกล่าวโทษพระภิกษุสงฆ์รูปใด พระพุทธองค์ก็จะรับสั่งให้ประชุมสงฆ์แล้วไต่สวนภิกษุผู้ถูกกล่าวโทษ เมื่อภิกษุนั้นยอมรับ พระองค์ก็จะทรงชี้ให้เห็นโทษของการ
กระทำนั้น จากนั้นก็จะทรงบัญญัติข้อห้าม (วินัย) ในเรื่องนั้น พร้อมกำหนดโทษหนักเบาแล้วแต่กรณี ซึ่งกลายเป็นรากเหง้าในการปกครองคณะสงฆ์ ด้วยการวางรากฐานให้คณะสงฆ์ปกครองกันเอง

การปกครองคณะสงฆ์ของไทยเริ่มมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และมีวิวัฒนาการเรื่อยมาจนกระทั่ง พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตราพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121 โดยให้อำนาจมหาเถรสมาคมในการปกครองคณะสงฆ์ โดยไม่มีการแบ่งแยกนิกายสงฆ์ ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 เพื่อใช้ปกครองคณะสงฆ์ไทยมาจนถึงปัจจุบัน

การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ตามกฎหมายคณะสงฆ์ ปี 2505 ฉบับแก้ไข ปี 2535 มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การยึดอาวุโสโดยสมณศักดิ์ ซึ่งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ อายุ 91 ปี มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ ตั้งแต่วันที่ 5 ธ.ค. 2538 ซึ่งคณะสงฆ์ที่ออกมาเคลื่อนไหวเห็นว่า การปกครองคณะสงฆ์มีที่มาที่ไปตั้งแต่เจตนารมณ์ตั้งต้นของพระศาสดา จึงไม่มีเหตุผลใดที่ฝ่ายอาณาจักรจะเข้ามาก้าวก่าย ศาสนจักร

ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ได้เกิดจากความแตกแยกของคณะสงฆ์ด้วยกันเอง เพราะในที่ประชุมมหาเถรสมาคมมีทั้งฝ่ายมหานิกายและฝ่ายธรรมยุต มีมติร่วมกันให้เสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่ฝ่ายฆราวาสต่างหากที่ไม่เห็นด้วยและออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านในรูปแบบต่างๆ ซึ่งหากมองแบบไทยๆ จิ้งจกทักยังต้องฟัง แต่นี่คนตัวเป็นๆ ออกมาทักไม่ฟังก็คงไม่ได้

แต่ที่น่าห่วงมากที่สุดก็คือ เวลานี้ประเทศไทยมีความแตกแยกไปทั่วทุกหัวระแหง ประชาชนมีการแบ่งขั้วเป็นพวกเสื้อเหลือง-เสื้อแดง วงการสงฆ์ก็มีฆราวาสออกมาเป็นตัวแทนเคลื่อนไหว จนเกิดภาพความ
ขัดแย้งระหว่างสองนิกาย

เหลือก็แต่เหล่าทัพต่างๆ ที่วันนี้ยังเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพราะหากมีความขัดแย้งในกองทัพเกิดขึ้น คำว่าปฏิวัติซ้อนก็จะกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที