posttoday

ระลึกวิธีกัมมัฏฐาน "หลวงพ่อจรัญ" แห่งวัดอัมพวัน

31 มกราคม 2559

ขอนำวิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานเบื้องต้นของหลวงพ่อจรัญมาเผยแพร่ใก้กับผู้สนใจ เพื่อระลึกถึงสิ่งที่ท่านได้สั่งสอนลูกศิษย์ไว้

โดย...เอกชัย จั่นทอง

พระธรรมสิงหบุราจารย์ หรือที่สาธุชนรู้จักมักคุ้นกันในนาม “หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม” แห่งวัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี เป็นพระกัมมัฏฐาน จริยวัตรงดงาม เป็นพระสุปฏิปันโน แสวงหาความรู้และประสบการณ์นำมาสอนสั่งญาติโยมให้รู้ซึ้งถึงกฎแห่งกรรม รู้ถึงการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ การบำเพ็ญภาวนา อันเป็นที่มาของศีล สมาธิ ปัญญา จนเป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนทั่วประเทศ

เป็นพระนักพัฒนา พระนักเทศน์ และพระวิปัสสนาจารย์ สืบสานเส้นทางธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

หลวงพ่อจรัญ มรณภาพอย่างสงบ สิริอายุ 87 ปี 5 เดือน เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ด้วยท่านเป็นพระนักปฏิบัติ จึงขอนำวิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานเบื้องต้นของหลวงพ่อจรัญ เพื่อระลึกถึงสิ่งที่ท่านได้สั่งสอนลูกศิษย์ไว้ทั่วทุกสารทิศของประเทศไทยมาถ่ายทอด

สำหรับการปฏิบัติกัมมัฏฐาน การเดินจงกรม ก่อนเดินให้ยกมือไขว้หลัง มือขวาจับข้อมือซ้าย วางไว้ตรงกระเบนเหน็บ ยืนตัวตรง เงยหน้า หลับตา ให้สติจับอยู่ที่ปลายผม กำหนดว่า “ยืนหนอ” ช้าๆ 5 ครั้ง เริ่มจากศีรษะลงมาปลายเท้า และจากปลายเท้าขึ้นไปบนศีรษะ กลับขึ้นกลับลงจนครบ 5 ครั้ง

แต่ละครั้งแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกคำว่า “ยืน” จิตวาดมโนภาพร่างกาย จากศีรษะลงมาหยุดที่สะดือ คำว่า “หนอ” จากสะดือลงไปปลายเท้า กำหนดคำว่า “ยืน” จากปลายเท้ามาหยุดที่สะดือ คำว่า “หนอ” จากสะดือขึ้นไปปลายผม กำหนดกลับไปกลับมาจนครบ 5 ครั้ง ขณะนั้นให้สติอยู่ที่ร่างกาย อย่าให้ออกไปนอกกาย

เสร็จแล้ว ลืมตาขึ้น ก้มหน้าทอดสายตาไปข้างหน้าประมาณ 1 ศอก สติจับอยู่ที่เท้า การเดิน กำหนดว่า “ขวา...”  “ย่าง...”  “หนอ...” กำหนดในใจ คำว่า “ขวา” ต้องยกส้นเท้าขวาขึ้นจากพื้นประมาณ 2 นิ้ว เท้ากับใจ

นึกต้องให้พร้อมกัน “ย่าง” ต้องก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าช้าที่สุด เท้ายังไม่เหยียบพื้น คำว่า “หนอ” เท้าลงถึงพื้นพร้อมกัน เวลายกเท้าซ้ายก็เหมือนกัน กำหนดว่า “ซ้าย...” “ย่าง...” “หนอ...” คงปฏิบัติ เช่นเดียวกันกับ “ขวา...” “ย่าง...” “หนอ...”

ระยะก้าวในการเดินห่างกันประมาณ 1 คืบ เป็นอย่างมากเพื่อการทรงตัว ขณะก้าวจะได้ดีขึ้น เมื่อเดินสุดสถานที่ใช้แล้ว ให้นำเท้ามาเคียงกัน เงยหน้าหลับตา กำหนด “ยืนหนอ” ช้าๆ อีก 5 ครั้ง ทำความรู้สึกโดยจิต สติ รู้อยู่ตั้งแต่กลางกระหม่อม แล้วกำหนด “ยืนหนอ” 5 ครั้ง เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงมาถึงปลายเท้า เบื้องบนตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมา “ยืนหนอ” 5 ครั้ง แล้วหลับตา ตั้งตรงๆ เอาจิตปักไว้ที่กระหม่อม เอาสติตาม ดังนี้ “ยืน...” (ถึงสะดือ) “หนอ...” (ถึงปลายเท้า) หลับตาอย่าลืมตา นึกมโนภาพ เอาจิตมอง ไม่ใช่มองเห็นด้วยสายตา “ยืน…” (จากปลายเท้าถึงสะดือ หยุด) แล้วก็ “หนอ…” ถึงปลายผม คนละครึ่ง พอทำได้แล้ว ภาวนา “ยืน…หนอ...” จากปลายผมถึงปลายเท้าได้ทันที ไม่ต้องไปหยุดที่สะดือ แล้วคล่องแคล่วว่องไว ถูกต้องเป็นธรรม

ขณะนั้นให้สติอยู่ที่ร่างกายอย่าให้ออกไปนอกกาย เสร็จแล้วลืมตาขึ้น ก้มหน้า ทอดสายตาไปข้างหน้าประมาณ 1 ศอก สติจับอยู่ที่เท้า การเดิน กำหนดว่า “ขวา...” “ย่าง...” “หนอ...” กำหนดในใจ คำว่า “ขวา” ต้องยกส้นเท้าขวาขึ้นจากพื้นประมาณ 2 นิ้ว เท้ากับใจนึกต้องให้พร้อม คำว่า “ย่าง” ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าให้ช้าที่สุด เท้ายังไม่เหยียบพื้น คำว่า “หนอ” เท้าเหยียบพื้นเต็มฝ่าเท้า อย่าให้ส้นเท้าหลังเปิด

เวลายกเท้าซ้ายก็เหมือนกัน กำหนดคำว่า “ซ้าย...” “ย่าง...” “หนอ...” คงปฏิบัติเช่นเดียวกับ “ขวา...” “ย่าง...” “หนอ...” ระยะก้าวในการเดินห่างกันประมาณ 1 คืบ เป็นอย่างมาก เพื่อการทรงตัวขณะก้าวจะได้ดีขึ้น เมื่อเดินสุดสถานที่ใช้เดินแล้ว พยายามใช้เท้าขวาเป็นหลักคือ “ขวา...” “ย่าง...” “หนอ...” แล้วตามด้วยเท้า “ซ้าย...” “ย่าง...” “หนอ...” จะประกบกันพอดี แล้วกำหนดว่า “หยุด...หนอ...” จากนั้นเงยหน้า หลับตากำหนด “ยืน...หนอ...” ช้าๆ อีก 5 ครั้ง เหมือนกับที่ได้อธิบายมาแล้ว ลืมตา ก้มหน้า ท่ากลับ การกลับกำหนดว่า “กลับหนอ” 4 ครั้ง คำว่า “กลับหนอ”

ครั้งที่หนึ่ง ยกปลายเท้าขวา ใช้ส้นเท้าขวาหมุนตัวไปทางขวา 90 องศา ครั้งที่ 2 ลากเท้าซ้ายมาติดกับเท้าขวา ครั้งที่ 3 ทำเหมือนครั้งที่ 1  ครั้งที่ 4 ทำเหมือนครั้งที่ 2

หากฝึกจนชำนาญแล้วเราสามารถกำหนดให้ละเอียดขึ้น โดยการหมุนตัวจาก 90 องศา เป็น 45 องศา จะเป็นการกลับหนอทั้งหมด 8 ครั้ง เมื่ออยู่ในท่ากลับหลังแล้วต่อไปกำหนด “ยืน...หนอ...” ช้าๆ อีก 5 ครั้ง ลืมตา ก้มหน้า แล้วกำหนดเดินต่อไป กระทำเช่นนี้จนหมดเวลาที่ต้องการ

การนั่งทำต่อจากการเดินจงกรม อย่าให้ขาดตอนลง เมื่อเดินจงกรมถึงที่จะนั่ง ให้กำหนด “ยืน...หนอ...” อีก 5 ครั้ง ตามที่กระทำมาแล้วเสียก่อน แล้วกำหนดปล่อยมือลงข้างตัวว่า “ปล่อยมือหนอๆๆๆ” ช้าๆ จนกว่าจะลงสุดเวลานั่งค่อยๆ ย่อตัวลงพร้อมกับกำหนดตามอาการที่ทำไปจริงๆ เช่น “ย่อตัวหนอๆๆๆ” “เท้าพื้นหนอๆๆๆ” “คุกเข่าหนอๆๆๆ” “นั่งหนอๆๆๆ” เป็นต้น

วิธีนั่ง ให้นั่งขัดสมาธิคือ ขาขวาทับขาซ้าย นั่งตัวตรง หลับตา เอาสติมาจับอยู่ที่สะดือที่ท้องพองยุบ เวลาหายใจเข้าท้องพอง กำหนดว่า “พองหนอ” ใจนึกกับท้องที่พองต้องให้ทันกัน อย่าให้ก่อนหรือหลังกัน หายใจออกท้องยุบ กำหนดว่า “ยุบหนอ” ใจนึกกับท้องที่ยุบต้องทันกัน อย่าให้ก่อนหรือหลังกัน

ข้อสำคัญให้สติจับอยู่ที่พองยุบเท่านั้น อย่าดูลมที่จมูก อย่าตะเบ็งท้องให้มีความรู้สึกตามความ เป็นจริงว่าท้องพองไปข้างหน้า ท้องยุบมาทางหลัง อย่าให้เห็นเป็นไปว่า ท้องพองขึ้นข้างบน ท้องยุบลงข้างล่าง ให้กำหนดเช่นนี้ตลอดไป จนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด

หมายเหตุ : จากหนังสือระเบียบปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี

ภาพจาก...www.jarun.org