posttoday

ฐานความรู้ (หลักวิชา) ในการเผยแผ่ของพระธรรมมังคลาจารย์

20 ธันวาคม 2558

ฐานความรู้ (หลักวิชา) ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมมังคลาจารย์ (หลวงปู่ทอง วัดพระธาตุศรีจอมทอง)

โดย...90 ปี พระธรรมมังคลาจารย์

ฐานความรู้ (หลักวิชา) ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระธรรมมังคลาจารย์ (หลวงปู่ทอง วัดพระธาตุศรีจอมทอง) ตอนที่แล้วจบที่ การเกิดวิปัสสนูปกิเลส 10 ชวนให้หลงผิดคิดว่าบรรลุมรรคผลนิพพาน หรือหลงยึดเอาวิปัสสนูปกิเลสว่าเป็นทางที่ถูก ให้ใช้สติสัมปชัญญะแก้ไขได้ แล้วกำหนดวิปัสสนาญาณที่ดำเนินถูกทาง พ้นจากอุปกิเลสแล้วนั่นแหละเป็นทาง หรือมรรคที่แท้จริง เมื่อเกิดความรู้แล้วเรียกว่าเป็นมัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความต่อเนื่องมีดังต่อไปนี้

3.3 ปหานปริญญา 3.3 ขั้นปหานปริญญา คือ รู้ถึงขั้นละความหลงผิด ถอนตัวเป็นอิสระได้

ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจนแห่งญาณอันรู้เห็นทางดำเนิน ได้แก่ วิปัสสนาญาณ มีดังนี้

3.3.1 อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ หรืออุทยัพพยญาณ (ญาณ 4) ญาณอันตามเห็นความเกิดดับ คือ พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งเบญจขันธ์จนเห็นปัจจุบัน ธรรมที่กำลังเกิดขึ้น และดับชัดเจน เข้าใจภาวะที่เป็นของไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่อยู่ในบังคับบัญชาตามความอยากของใคร หยั่งทราบว่าสิ่งทั้งหลาย เกิดขึ้นครั้นแล้วก็ดับไป ล้วนเกิดขึ้น แล้วก็ดับไปทั้งหมด เมื่อเกิดการรับรู้หรือเคลื่อนไหวใดๆ ในแต่ละขณะก็มองเห็นนามธรรม รูปธรรม และตัวรู้หรือผู้รู้ที่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งรูปธรรม นามธรรม และตัวรู้ก็ดับไปพร้อมกันหมด เป็นความรู้ เห็นชัด แก่กล้า ทำให้ละนิจจสัญญา สุขสัญญา และอัตตสัญญาได้

3.3.2 ภังคานุปัสสนาญาณ หรือ ภังคญาณ (ญาณ 5) ญาณอันตามเห็นความสลาย คือ เมื่อเห็นความเกิดดับเช่นนั้นชัดเจนถี่เข้า ก็จะคำนึงเห็นเด่นชัดในส่วนความดับที่เป็นจุดจบสิ้น มองเห็นแต่อาการที่สิ่งทั้งหลายดับไป เห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงจะต้องดับสลายไปทั้งหมด

3.3.3 ภยตูปัฏฐานญาณ หรือ ภยญาณ (ญาณ 6) ญาณอันมองเห็นสังขารเป็นของน่ากลัว คือ เมื่อพิจารณาเห็นแต่ความแตกสลาย อันมีแก่สิ่งทั้งปวงหมดทุกอย่างแล้ว สังขารทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นไปในภพใด คติใด ก็ปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนจะต้องดับสลายไปทั้งหมด

3.3.4 อาทีนวานุปัสสนาญาณ หรือ อาทีนวญาณ (ญาณ 7) ญาณอันคำนึงเห็นโทษ คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารทั้งปวงล้วนต้องแตกสลายไป เป็นของน่ากลัว ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้นแล้ว ย่อมคำนึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้นว่าเป็นโทษเป็นสิ่งที่มีความบกพร่อง จะต้องระคนอยู่ด้วยทุกข์

3.3.5 นิพพิทานุปัสสนาญาณ หรือ นิพพิทาญาณ (ญาณ 8) ญาณอันคำนึงเห็นด้วย ความหน่าย คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นโทษเช่นนั้นแล้ว จึงย่อมเกิดความหน่าย ไม่เพลิดเพลินใจ

3.3.6 มุญจิตุกัมยตาญาณ (ญาณ 9) ญาณหยั่งรู้ที่ทำให้ต้องการจะพ้นไปเสีย คือ เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลายแล้วย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น

3.3.7 ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ หรือปฏิสังขาญาณ (ญาณ 10) ญาณอันพิจารณาทบทวน เพื่อให้เห็นทาง คือ เมื่อต้องการจะพ้นไปเสียจึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลายขึ้นมาพิจารณา กำหนดด้วยไตรลักษณ์เพื่อมองหาอุบายที่ปลดเปลื้องออกไป

3.3.8 สังขารุเปกขาญาณ (ญาณ 11) ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ เมื่อพิจารณาสังขารทั้งหลายต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามเป็นจริง ว่ามันก็เป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็นธรรมดา หรือเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้นเอง จึงวางใจเป็นกลาง ทำเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย ไม่ขัดใจติดใจในสังขารทั้งหลาย

แต่นั้นก็มองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงโน้มน้อมที่จะมุ่งแล่นไปยังนิพพาน เลิกละความเกี่ยวเกาะกับสังขารทั้งหลาย ญาณข้อนี้จัดเป็นสิขาปปัตตวิปัสสนา คือ วิปัสสนาที่ถึงจุดสุดยอด และเป็นวุฏฐานคามินีวิปัสสนา คือ วิปัสสนาที่เชื่อมถึงมรรคอันเป็นที่ออกจากสิ่งที่ยึดหรือออกจากสังขาร

3.3.8 สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ (ญาณ 12) ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลม แก่การหยั่งอริยสัจ คือ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวงและญาณก็โน้มน้อมแล่นมุ่งตรงสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อการตรัสรู้อริยสัจย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ

ต่อจากอนุโลมญาณจะเกิดโคตรภูญาณ (ญาณ 13) ญาณครอบโคตร คือ ญาณอันเป็นหัวต่อระหว่างภาวะปุถุชนกับ ภาวะอริยบุคคลมาคั่นกลาง จากนั้นจึงเกิดมรรคญาณให้สำเร็จความเป็นอริยบุคคลต่อไป

ญาณทัสสนวิสุทธิ ความหมดจนแห่งญาณทัศนะ คือ ความรู้ในอริยมรรค 4 หรือ มรรคญาณ (ญาณ 14) นั่งเอง จากนั้นจึงเกิดผลญาณ (ญาณ 15) เกิดปัจจเวกขณญาณ (ญาณ 16) ขึ้นพิจารณากิเลสที่มรรคผล พิจารณากิเลสที่ละแล้วกิเลสที่ยังเหลืออยู่ และพิจารณานิพพาน