posttoday

ศิษย์รุ่นสุดท้ายสายวิปัสสนาพระอาจารย์มั่น

13 ธันวาคม 2558

พระสายวิปัสสนากัมมัฏฐานพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต รุ่นสุดท้ายที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือ หลวงตาบุญหนา ธัมมทินโน

โดย...เอกชัย จั่นทอง

พระสายวิปัสสนากัมมัฏฐานพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต รุ่นสุดท้ายที่ยังคงอยู่ในปัจจุบัน นั่นคือ หลวงตาบุญหนา ธัมมทินโน วัดป่าโสตถิผล อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร นับเป็นศิษย์รุ่นสุดท้ายที่ให้ประชาชนได้กราบไหว้เสมือนพระอาจารย์มั่นมีชีวิตอยู่

หลวงตาบุญหนาท่านเป็นหลานของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อีกทั้งยังเคยรับใช้พระอาจารย์อีกหลายต่อหลายรูปในสายกัมมัฏฐาน อาทิ พระอาจารย์ตื้อ อจลธัมโม ท่านพ่อลี ธัมมธโร หลวงปู่แหวน สุจิณโณ พระอาจารย์สิม พุทธาจาโร พระอาจารย์จาม มหาปุญโญ และพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ฯลฯ ท่านได้ปฏิบัติรับใช้ครูบาอาจารย์นานถึง 12 ปี ตั้งแต่ครั้งสมัยเป็นสามเณรที่วัดแจ้ง บ้านหนองโดก ต.ช้างมิ่ง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของหลวงตาบุญหนา

หลายต่อหลายพระอาจารย์ที่หลวงตาบุญหนาคลุกคลีใกล้ชิดมากที่สุด คือ พระอาจารย์อ่อน ซึ่งหลวงตาบุญหนาได้รับใช้มาตลอด เนื่องจากสมัยพระอาจารย์อ่อนเดินธุดงค์มาพำนักหาความสงบวิเวกอยู่ที่บริเวณป่าช้าบ้านหนองโดก หรือวัดป่าโสตถิผล ตอนนั้น หลวงตาบุญหนาได้บรรพชาเป็นสามเณร แต่เป็นฝ่ายมหานิกาย ได้ 4 พรรษา พักอยู่วัดแจ้ง บ้านหนองโดก เป็นวัดบ้านของท่านเอง และไม่ไกลจากป่าช้าที่พระอาจารย์อ่อนไปพักอยู่ กอปรกับหลวงตาบุญหนามีความเลื่อมใสการปฏิบัติ จึงเป็นโอกาสให้ท่านสนใจไปฟังการอบรมภาวนาและอุปัฏฐากใกล้ชิดกับพระอาจารย์อ่อนตั้งแต่นั้นมา และในภายหลังจึงได้เปลี่ยนเป็นสามเณรฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และติดตามพระอาจารย์อ่อนมาโดยตลอด

หลวงตาบุญหนา เล่าว่า ตอนไปกราบพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ ครั้งแรกไปกับพระอาจารย์อ่อน พร้อมกับสามเณรอีกรูป และญาติโยมส่วนหนึ่ง โดยเดินทางไปเทือกเขาภูพานอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านหนองโดก คณะเดินตามทางไปเรื่อยๆ ใช้เวลานานพอสมควร ก่อนไปถึงที่พักของคนเดินทาง บริเวณนั้นเป็นลำห้วยเล็กๆ อยู่ฟากเขาใกล้บ้านหนองผือ น้ำใสไหลเย็นตลอดแนว มีชื่อว่า “ห้วยหมากกล้วย” ถึงช่วงนี้พระอาจารย์อ่อนผู้เป็นหัวหน้า จึงพูดขึ้นอย่างใจเย็นๆ ว่า “เอาล่ะ ถึงที่นี่แล้ว ให้พักผ่อนเอาแฮงสาก่อน”

และพระอาจารย์อ่อนก็รับผ้าอาบจากสามเณร เอามาพับครึ่งแล้วปูลงบนลานหิน เสร็จแล้วท่านก็นั่งลงขัดสมาธิหลับตา ซึ่งเป็นการพักเหนื่อยตามวิธีของท่าน สำหรับสามเณรพร้อมญาติโยมที่ไปด้วยต่างแยกย้ายหาที่พักเหนื่อย ต่างหามุมสงบทำสมาธิของแต่ละคนตามอัธยาศัย จนบ่ายคล้อยอากาศเริ่มเย็นคณะจึงพากันออกจากสมาธิแล้วเตรียมเดินทางต่อไป จนกระทั่งถึงวัดป่าบ้านหนองผือช่วงอาทิตย์คล้อย 

ส่วนพระอาจารย์อ่อนได้เข้าไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่นบนกุฏิ เสร็จแล้วก็กลับที่พัก หลวงตาบุญหนาขณะเป็นสามเณรนั้น ก็ได้ปัดกวาดลานวัด ตักน้ำใช้น้ำฉันจากบ่อน้ำ เสร็จจากนั้นก็เตรียมรอสรงน้ำพระอาจารย์มั่นบริเวณหน้ากุฏิท่าน ซึ่งมีพระเตรียมน้ำสรงไว้โดยใช้น้ำร้อนผสมพอให้อุ่นๆ เมื่อพระอาจารย์มั่นเข้ามานั่งบนตั่งแล้ว คราวนี้พระเณรทั้งหลายห้อมล้อม เพื่อเข้าไปถูหลังขัดไคลถวายอย่างเปี่ยมล้นด้วยศรัทธา ส่วนหลวงตาบุญหนามีโอกาสเข้าไปร่วมสรงน้ำท่านพระอาจารย์มั่นในครั้งนี้ด้วย

เนื่องจากสามเณรบุญหนามีรูปร่างเล็ก พอได้แทรกเข้าไปกับพระส่วนมากมีร่างกายใหญ่โตทั้งนั้น เช่น พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ พระอาจารย์คำพอง ติสโส พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน และอีกหลายๆ ท่าน เมื่อพระอาจารย์มั่นเห็นหลวงตาบุญหนาซึ่งเป็นสามเณรมาใหม่ พระอาจารย์มั่นจึงพูดสำเนียงอีสานขึ้นว่า “เณรมาแต่ไส...” แต่สามเณรบุญหนาไม่ทันตอบ มีพระอาจารย์ทองคำตอบแทนว่า “เณรมากับครูบาอ่อน ข้าน้อย” เหตุการณ์ในวันนั้นเป็นสิ่งที่ท่านประทับใจมาจวบจนกระทั่งทุกวันนี้

หลังจากหลวงตาบุญหนาพักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือได้ระยะหนึ่ง จึงออกเดินธุดงค์ต่อไปกับพระอาจารย์อ่อน เพื่อหาความสงบวิเวกอยู่ใกล้ละแวกนั้น กระทั่งทราบข่าวว่าพระอาจารย์มั่นออกจากวัดป่าบ้านหนองผือ แล้วไปพักอยู่ที่วัดป่ากลางโนนภู่ ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร สุดท้ายท่านได้มรณภาพลงที่วัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร

หลวงตาบุญหนาได้ติดตามไปกับพระอาจารย์อ่อนโดยตลอด และไปพักอยู่ช่วยงานเตรียมเมรุชั่วคราว เพื่อถวายเพลิงศพพระอาจารย์มั่น ที่วัดป่าสุทธาวาส จนเสร็จเรียบร้อยหมดทุกอย่าง ก่อนออกเที่ยวเดินธุดงค์ต่อไป

ท้ายสุดหลวงตาบุญหนาได้มาจำพรรษาอยู่ ณ วัดวัดป่าโสตถิผล บ้านหนองโดก ต.ช้างมิ่ง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ตราบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน นับว่าท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยอย่างจริงจัง จนได้รับการยอมรับของชาว จ.สกลนคร ต่างให้ความเลื่อมใสศรัทธาในตัวท่าน เพราะมีความเมตตาธรรม หลวงตาบุญหนาคือพระสายกัมมัฏฐานยุคนี้ที่กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ