posttoday

หลวงปู่คำดี ปัญโญภาโส มีปัญญาเป็นแสงสว่างจึงได้ลิ้มรสแห่งธรรม

18 กรกฎาคม 2553

หลวงปู่คำดีเอาตัวรอดได้แล้ว ท่านก็ช่วยอบรมสั่งสอนผู้อื่น ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดสำคัญหลายแห่งเช่น วัดอรัญญิกาวาส จ.นครพนม ซึ่งเป็นวัดที่ครูบาอาจารย์ของท่านคือ หลวงปู่จันทร์อุปถัมภ์อยู่

หลวงปู่คำดีเอาตัวรอดได้แล้ว ท่านก็ช่วยอบรมสั่งสอนผู้อื่น ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดสำคัญหลายแห่งเช่น วัดอรัญญิกาวาส จ.นครพนม ซึ่งเป็นวัดที่ครูบาอาจารย์ของท่านคือ หลวงปู่จันทร์อุปถัมภ์อยู่

โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

ปลายเดือน พ.ค. 2549 หนังสือพิมพ์รายงานว่า วันที่ 29 พ.ค. หลวงปู่คำดี ปัญโญภาโส พระเถระชั้นผู้ใหญ่ เป็นลูกศิษย์ที่เดินตามรอยพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์ใหญ่สายวิปัสสนา มีปฏิปทาสูงส่งและมีวัตรปฏิบัติที่งดงาม เป็นที่เคารพของพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศ มรณภาพด้วยอาการอันสงบ ณ โรงพยาบาลสกลนคร สิริอายุ 79 พรรษา 60

“การมรณภาพของหลวงปู่คำดี ถือเป็นการสูญเสียพระเถระที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง” หนังสือพิมพ์ในวันนั้นรายงาน

หลวงปู่คำดี ซึ่งเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ในวงการกรรมฐานมีสองคำดีที่ชื่อและฉายาใกล้เคียงกัน หนึ่งคือ หลวงปู่คำดี ปภาโส วัดถ้ำผาปู่เนรมิต อ.เมือง จ.เลย อีกหนึ่งคือ หลวงปู่คำดี ปัญโญภาโส อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร รูปแรกนั้นท่านเป็นศิษย์อาวุโสรูปหนึ่งของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ส่วนหลวงปู่คำดีที่จะกล่าวถึงในคราวนี้ท่านเป็นศิษย์ของ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

หลวงปู่คำดี ปัญโญภาโส มีปัญญาเป็นแสงสว่างจึงได้ลิ้มรสแห่งธรรม

หลวงปู่คำดี ปัญโญภาโส หรือ พระรัชมงคลนายก อดีตเจ้าคณะจังหวัดสกลนคร ฝ่ายธรรมยุต เจ้าอาวาสวัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร เกิดเมื่อวันที่ 26 ก.ค. ปี พ.ศ. 2470 ที่บ้านหนองหอย หมู่ 4 ต.กุสุมาลย์ อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร ในครอบครัวชาวนา เป็นบุตรของนายถา ใบหะสีห์ และนางคำ ใบหะสีห์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งหมดจำนวน 6 คน

ชีวิตของท่านไม่เหมือนคนทั่วไป แต่ถึงที่สุดแล้วก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้หนึ่งที่มามืดแต่ไปสว่าง มีชีวิตและได้ใช้ชีวิตแบบไม่เสียชาติเกิด

อาจจะกล่าวได้ว่าหลวงปู่คำดีพลิกผันชีวิตของท่านด้วยการตั้งคำถาม และลงมือพิสูจน์ให้เห็นจริง ซึ่งจะว่าไปแล้วเป็นกระบวนการวิทยาศาสตร์ล้วนๆ

คำถามนั้นมีว่า “ป่าดงพงไพรนั้นมีดีอะไร จึงทำให้พระพุทธเจ้าต้องหนีออกบวช และพระองค์ก็ทรงค้นคว้าธรรมะจนสำเร็จ บรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลาย?”

หลวงปู่คำดีออกบวชเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 21 ก.ย. ปี พ.ศ. 2488 ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงสงครามยุติใหม่ๆ ใครที่อพยพหนีภัยบ้านแตกสาแหรกขาดก็พากันอพยพคืนบ้านเคยอยู่อู่เคยนอน แต่ตัวท่านเองนั้นบวชเณรเข้าวัดศึกษาพระปริยัติธรรมด้วยความขยันหมั่นเพียรมาก

เหตุที่ขยันหมั่นเพียรมาก เพราะ “จิตใจมันชอบเรื่องธรรมะ”

ชอบขนาดไหน? ท่านว่าก็ขนาด “ได้อ่านหนังสือที่ครูผู้สอนนำมาเป็นเรื่องพุทธประวัติ จิตใจมันยิ่งสนใจเอามากมาย ถึงกับนอนฝันถึงตัวหนังสือเอาเลยทีเดียว อันนี้ก็แปลก จิตใจเรามันเป็นยังไงกันนะ ตอนกลางวันอ่านหนังสือธรรมะ กฎบัญญัติพระวินัยของพระภิกษุสามเณรตลอดจนถึงหนังสือธรรมะต่างๆ ที่ได้อ่านผ่านสายตาไป พอตกกลางคืน มันก็ฝันมองเห็นตัวหนังสือ มันเห็นชัดเสียด้วย พอได้ท่องข้อสอบมันก็จำได้ง่าย ปรากฏว่า ปีแรกสามารถสอบนักธรรมตรีได้”

นอกจากศึกษาปริยัติแล้ว อีกทางหนึ่งก็ศึกษาผ่านการสอนของเจ้าอธิการโท วรปัญญา เจ้าอาวาสวัดโพนธาราม อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร ผู้เป็นองค์อุปัชฌาย์ ระหว่างถวายน้ำร้อนน้ำชาตอนกลางคืน

ท่านว่าพระอุปัชฌาย์มักเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนสำคัญๆ ให้ฟัง ซึ่งฟังแล้วก็ได้คิด และยิ่งเพิ่มศรัทธา บางคราวฟังแล้วถึงกับน้ำตาไหลด้วยความตื้นตันที่พระพุทธองค์ทรงลำบากยากเข็ญ สละความสุขออกบวชไปอยู่ตามป่าตามเขาตามถ้ำต่างๆ เลยอยากรู้นักหนาว่า ชีวิตคนเราเมื่อเข้าไปอยู่ป่าจะลำบากแค่ไหน?

ชีวิตคนเราเมื่อเข้าไปอยู่ป่าจะลำบากแค่ไหน?

ป่าดงพงไพรนั้นมีดีอะไร จึงทำให้พระพุทธเจ้าต้องหนีออกบวช?

คำถามเหล่านี้กรุ่นอยู่ในใจและยังหาคำตอบไม่ได้ แต่การศึกษาก็ก้าวหน้าไปตามลำดับ สอบได้นักธรรมโท พออายุครบ 20 ปี ก็ได้อุปสมบทเมื่อวันที่ 6 มี.ค. ปี พ.ศ. 2490 โดยมีพระอุปัชฌาย์รูปเดิม พระอาจารย์พรหมา โชติโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ลี ธัมมธโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ แล้วก็สอบได้นักธรรมเอก เรียนบาลีสอบไวยากรณ์ได้ เรียนปริยัติก้าวหน้า แต่ก็ตั้งคำถามตนเองอีกว่า

“นี่เราจะต้องเรียนรู้อีกขนาดไหน จึงจะได้รู้จริงตามคำสอนของพระพุทธเจ้า?”

“มิต้องเก็บตำราจนล้นหลามไปนอกระเบียงดอกหรือ?”

“ทำไมวันคืนจึงจำเจเช่นนี้ ฉันเช้าไม่เท่าไหร่ก็มาฉันเพล ไม่มีอะไรเป็นแก่นสาร จะทำอย่างไรหนอ?”

ยิ่งปีนั้นโยมบิดามาถึงแก่กรรมต่อหน้า ยังความสลดสังเวชยิ่งนัก แม้ตนเองจะตั้งสติบอกให้บรรดาญาติมิตรที่เศร้าโศกระงับจิตและทำความเข้าใจเสียว่า โยมบิดาไม่ได้ตาย หากแต่เป็นเพียงวิญญาณ (จิต) ออกจากร่าง ธาตุทั้ง 4 แตกจากกันเท่านั้น แต่ความคุ้นทางธรรมที่เล่าเรียนมาเยอะแยะนั้นก็หาทำให้อุ่นใจได้ ด้วยเหตุนี้ดำริที่จะออกปฏิบัติธรรมกรรมฐาน
พอคิดจะออกปฏิบัติ ไปสอบถามจากหมู่คณะครูบาอาจารย์แล้ว ก็ไม่มิได้รับคำตอบใดเป็นที่น่าพอใจเลย บางท่านถึงกับให้คำตอบว่า ศาสนาล่วงมาสองพันกว่าปีแล้ว ถึงใครจะปฏิบัติก็ไม่สามารถทำ มรรค ผล นิพพาน ให้เกิดได้ ที่บวชเรียนกันอยู่นี่ก็เป็นไปเพื่ออุปนิสัยเท่านั้น ผิดบ้างถูกบ้างไม่เป็นไร

คำตอบต่อปัญหาเหล่านี้มาถึงเมื่อโยมบ้านหนึ่งจัดงานทำบุญแล้วเชิญพระภิกษุสงฆ์มาร่วมงานหลายรูป รวมทั้งครูบาอาจารย์ฝ่ายปฏิบัติ 3 รูป คือ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่กงมา จิรปุญโญ และหลวงปู่อ่อน ญาณสิริ

ท่านว่าเป็นปฏิปทาของครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นพระธุดงค์ทั้ง 3 รูปแล้วเกิดความประทับใจและเกิดศรัทธาอย่างมาก จึงใช้โอกาสนั้นเข้าไปกราบครูบาอาจารย์ทั้ง 3 รูปดังกล่าว ท่านก็เมตตาสอบถามชื่อและสำนักที่สังกัด วันถัดไปท่านก็ตามไปกราบหลวงปู่ฝั้น ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์

พอไปมาหาสู่มากขึ้น วันหนึ่งพระอาจารย์ฝั้นก็ชักชวนว่า “ไปเที่ยวกรรมฐานกันไหม?”

ท่านไม่ได้รับปากเสียทีเดียวเพราะรอสอบบาลีให้เสร็จก่อน เมื่อสอบเสร็จแล้วก็รวบรวมบริขารขึ้นบ่ากราบลาพระอุปัชฌาย์อาจารย์วงศ์วานว่านเครือออกธุดงค์เมื่อปี พ.ศ. 2792 ตามหาพระอาจารย์ฝั้นไปแต่เพียงผู้เดียว

ท่านว่าเหมือนนกออกจากกรงเข้าป่า ไม่กลัวตายแม้สักนิด เพราะคิดว่า ตายในป่าก็ไม่เสียดายชีวิต เพราะเป็นลูกพระตถาคต มีโอกาสได้เจริญรอยตามพระองค์ท่านแล้ว

ท่านมาพบหลวงปู่ฝั้นต่อเมื่อต่างฝ่ายต่างย้อนรอยกลับมาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ หรือที่เวลานั้นเรียกกันว่าพระธาตุนาเวง จากนั้นชีวิตการปฏิบัติโดยเป็นสัทธิงวิหาริกในพระอาจารย์ฝั้นก็เริ่มต้นขึ้น

หลวงปู่ฝั้น ได้ให้หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ นำท่านเป็นพระธรรมยุต ที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม ในวัย 23 ปี หลวงปู่คำดี ได้ญัตติเป็นพระธรรมยุต เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ปี พ.ศ. 2492 โดยมีพระเทพสิทธาจารย์ หรือหลวงปู่จันทร์ เขมิโย พระพุทธเจ้าน้อยของชาวนครพนมเมื่อครั้งที่เป็นพระสารภาณมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระราชสุทธาจารย์ (พรหมา โชติโก) เมื่อครั้งที่เป็น พระครูวิจิตวินัยการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ วัดอรัญญิกาวาส จ.นครพนม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

พระอุปัชฌาย์ให้ฉายาว่า “ปัญโญภาโส” แปลว่า “ผู้มีปัญญาเป็นแสงสว่าง”

ช่วงเวลา 4 พรรษาต่อมากับพระอาจารย์ฝั้นนั้น เป็นช่วงของการได้รับฝึกฝนอย่างหนัก ผู้เป็นสัทธิงวิหาริก เป็นศิษย์ร่วมพระอาจารย์เดียวกันในเวลานั้นคือ มีอาทิ พระอาจารย์ถวิล จิณณธัมโม เจ้าคุณสุนทรธรรมภาณ วัดยโสธรธรรมาราม พระอาจารย์สุพัฒน์ สุกาโม พระอาจารย์บุญเพ็ง เขมาภิรโต

ท่านสรุปแนวทางการอบรมของหลวงปู่ฝั้น ไว้ว่า “เน้นหนักในพุทธานุสสติ กับกายคตาสติ สอนให้บริกรรมพุทโธเป็นอารมณ์ ให้ภาวนาในทุกอิริยาบถ ให้มีสติกำหนดรู้กายรู้จิตอยู่เสมอ จะยืน เดิน นั่ง นอน ฉัน ดื่ม จะเดินจงกรม นั่งภาวนา หรือนอนสีหไสยาสน์ภาวนา ก็ให้มีสติระลึกรู้อยู่ตลอดเวลา จนกว่าความรู้กับสติที่ระลึก สัมพันธ์เป็นอันเดียวกันเป็น สติชาคโร คือ จิตตื่นอยู่ หรือสว่างอยู่เป็นนิจ เป็นจิตที่ปราศจากนิวรณ์ จิตก็จะตั้งมั่นเป็นสมาธิ “สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ ยถาภูตํ ปชานาติ ภิกษุเมื่อสมาธิตั้งมั่นแล้วย่อมรู้ตามความเป็นจริง เมื่อความรู้ รู้ตามความเป็นจริงของสภาวธรรมโดยรอบ คือบริบูรณ์แล้ว จิตก็จะพ้นจากอารมณ์ครอบงำ หรือ ดอง ที่เรียกว่า อาสวะ”

ครบ 4 ปีผ่านก็ออกธุดงค์

ท่านว่า ไม่ชอบอยู่กับครูบาอาจารย์นานๆ ชอบออกธุดงค์ไปเรื่อยๆ ต่อเมื่อภาวนาแล้วมีปัญหาติดขัดจึงจะกลับมากราบนมัสการขอรับการชี้แนะจากครูบาอาจารย์ อุปนิสัยนี้เกิดจากการศึกษาปฏิปทาของพ่อแม่ครูอาจารย์ผู้ใหญ่ทั้งหลายที่ “ไม่ค่อยจะอยู่ให้หลวงปู่มั่นต้องกังวลเลย”

ท่านไปทั่วขึ้นเขาลงห้วยไปทะเล ไปอยู่กับพ่อแม่ครูอาจารย์หลายรูป อาทิ หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม หลวงปู่แหวน |สุจิณโณ ท่านพ่อลี ธัมมธโร หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

ประสบการณ์ภาวนาที่สำคัญที่ท่านเคยบอกเล่าไว้นั้น หนหนึ่งเกิดที่ภูวัว

ท่านว่าวันหนึ่งขณะเดินจงกรมจนจิตรวมลงเป็นสมาธิ จิตรวมเป็นหนึ่งซึ่งในสภาพนั้นอะไรภายนอกไหวเพียงเล็กน้อยก็จะกำหนดรู้ได้ ระหว่างยืนนิ่งกำหนดจิตอยู่นั้นได้ยินเสียงผิดปกติจึงเปิดไฟฉายดู เจอว่าห่างไปข้างหน้าเพียงวาเดียวมีเสือโคร่งนั่งจ้องมองอยู่

ท่านมีบทสรุปหลังจากนั้นว่า อย่าว่าแต่คนกับสัตว์เลย คนกับคนถ้าไม่ปิดขังจิตใจเราไว้ในที่คับแคบ ไม่ล้อมคอกตัวเอง สมาคมกัน สามัคคีกัน มีเมตตา กรุณาต่อกัน ความเจริญรุ่งเรือง ความผาสุกก็เกิดขึ้นได้

อีกหนหนึ่งเกิดขึ้นเมื่อไปอยู่กับหลวงปู่ตื้อ ที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ แล้ว เกิดนิมิตเห็นภูเขาสูงลูกหนึ่งและมีพระภิกษุห่มจีวรเฉียงไหล่ยืนกวักมือเรียกด้วยหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสพลางบอกว่า “เอ้า...มานี่ซิมาภาวนาธรรมอยู่ที่นี่แหละ”

หลวงปู่คำดีออกไปตามนิมิต แล้วพบว่าภูเขาแห่งนั้นคือ ผาแด่น

ท่านภาวนาอยู่ที่นั่นเป็นเวลานาน และได้ไปกราบขอรับการชี้แนะจากหลวงปู่ชอบซึ่งอยู่ที่บ้านยางหนาด อีก 1 พรรษา

“อาตมามีความรู้สึกที่สามารถจะพูดได้เลยว่า ตั้งแต่ไปอยู่ที่ภูผาแด่นและที่วัดป่ายางหนาด ทำให้อาตมาเข้าใจธรรมะปฏิบัติ แม้จิตใจยังเกาะเกี่ยวขัดข้องสงสัยอยู่ก็สามารถปฏิบัติแก้ไขจิตใจของตนเอง จนหลุดไปเป็นข้อๆ ไม่ติดไม่หลงอีกต่อไป สิ่งไหนที่มันเป็นสาเหตุของความเศร้าหมอง อะไรที่ทำให้เป็นเครื่องถ่วงจิตใจเราอยู่ สิ่งเหล่านั้นอาตมาคิดว่า สามารถเอาจิตใจรอดจากกิเลสร้ายๆ ได้พอสมควรทีเดียว” (โลกทิพย์ ฉบับที่ 128 ปีที่ 7 เดือน พ.ค. ปี พ.ศ. 2531)

ท่านขยายรายละเอียดการ “ปฏิบัติแก้ไขจิตใจของตนเอง จนหลุดไปเป็นข้อๆ ไม่ติดไม่หลงอีกต่อไป” ไว้อีกทีหนึ่งว่า

“วันหนึ่งยกเอาความตายขึ้นพิจารณา โดยการแยกธาตุหยาบธาตุละเอียดและขันธ์ 5 ทุกส่วน พิจารณาแล้วไม่มีอะไรตายแล้วอะไรตาย ใครตายจิตคือผู้รู้นี้หรือตาย ก็เปล่าทั้งนั้นในที่สุดหาผู้ตายไม่มี ส่วนธาตุขันธ์ก็เพียงแต่แปรสภาพ แยกจากกันกลับสู่สภาพเดิม จิตคือผู้รู้ก็ไม่ตาย เพียงแต่มีอะไรเป็นอารมณ์เศร้าหมองหรือผ่องใส ก็เป็นไปตามอารมณ์นั้น คืนนี้ทั้งคืน ธาตุขันธ์แตกกระจายออกจากกัน ไม่มีใครหลับไม่มีใครนอน นิวรณ์หายหมด “สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ...รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวงหนอ”

เมื่อจะออกปฏิบัติมีผู้ทักท้วงว่า ศาสนาล่วงมาสองพันกว่าปีแล้ว ถึงใครจะปฏิบัติก็ไม่สามารถทำ มรรค ผล นิพพาน ให้เกิดได้ แต่ท่านไม่เชื่อแล้วลงมือปฏิบัติตามรอยพระพุทธองค์ สุดท้ายท่านสรุปว่า “อำนาจของความดียังมีอยู่ในโลกนี้ และหนทางแห่งพระนิพพานก็ยังจะไม่หมดไป ถ้ายังมีผู้ปฏิบัติธรรมอยู่”

หลวงปู่คำดีเอาตัวรอดได้แล้ว ท่านก็ช่วยอบรมสั่งสอนผู้อื่น ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดสำคัญหลายแห่งเช่น วัดอรัญญิกาวาส จ.นครพนม ซึ่งเป็นวัดที่ครูบาอาจารย์ของท่านคือ หลวงปู่จันทร์อุปถัมภ์อยู่ เป็นเจ้าอาวาสวัดวัดป่าสุทธาวาสวัดสำคัญในประวัติศาสตร์พระกรรมฐานเมืองไทย เป็นพระป่าที่เข้ามาสั่งสอนอบรมคนกรุงเทพฯ ที่วัดนรนาถสุนทริการาม กทม. เป็นประจำตั้งแต่หลายสิบก่อน ก่อนที่คนกรุงจะตื่นพระกรรมฐานอย่างทุกวันนี้

“ผู้มีปัญญาเป็นแสงสว่าง” ละขันธ์ไปแล้วและรู้แล้วว่า “สพฺพรสํ ธมฺมรโส ชินาติ...รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวงหนอ” นั้นเป็นเยี่ยงไร