posttoday

ปุจฉาจากกรณีภาพยนตร์ ‘อาบัติ’

11 ตุลาคม 2558

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา มีปุจฉาว่าด้วยเรื่องภาพยนตร์ที่ชื่อ อาบัติ เหมาะสมหรือไม่...

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา มีปุจฉาว่าด้วยเรื่องภาพยนตร์ที่ชื่อ อาบัติ เหมาะสมหรือไม่... ควรหรือไม่ ที่องค์กรพิทักษ์พระพุทธศาสนาจะต่อต้าน...

อาตมาไม่ทราบในเนื้อหาสาระของภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวทั้งหมด จึงไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ให้คุณโทษต่อพุทธศาสนาอย่างไรหรือไม่ เรื่องดังกล่าวควรเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงวัฒนธรรม หรือกระทรวงศึกษาธิการ หรือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ที่ควรพิจารณาลงไปในรายละเอียดทุกมิติ เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายโดยเฉพาะพระพุทธศาสนาของเรา

คำว่า อาบัติ นั้น จริงๆ แล้ว เป็นศัพท์บาลีคำหนึ่งที่นำมาใช้ในพระพุทธศาสนา แปลว่า การล่วงละเมิดในศีลหรือสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงแสดงบัญญัติไว้ดีแล้ว จัดเป็นบาป เมื่อกระทำการล่วงละเมิด ส่วนจะเป็นบาปหรือโทษในระดับใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับเนื้อหาสาระแห่งอาบัตินั้นๆ ซึ่งจัดแบ่งไว้ถึง ๗ กอง (ปาราชิก, สังฆาทิเสส /ถุลลัจจัย, ปาจิตตีย์, ปาฏิเทสนียะ, ทุกกฎ และทุพภาสิต) เป็นสองคณะ (ครุกาบัติและลหุกาบัติ)

ในทั้งเจ็ดกองสองคณะนั้น ปาราชิก/ครุกาบัติ เป็นบาปหรือโทษหนักที่สุด เทียบเท่ากับโทษประหารชีวิตของทางโลก ทำให้ผู้ล่วงละเมิดขาดจากความเป็นภิกษุ ส่วนอาบัติมีโทษหนักรองลงมาชื่อ สังฆาทิเสส มี ๑๓ สิกขาบท ผู้ล่วงละเมิดต้องประพฤติวัตรอย่างหนึ่งจึงจะพ้นอาบัติได้ ส่วนอีกห้ากองที่เหลือ เป็นอาบัติฝ่ายลหุกาบัติหรือมีโทษเบา ผู้ล่วงละเมิดออกจากอาบัติ (บาป/โทษ) นั้นได้ ด้วยต้องประกาศสารภาพผิดต่อหน้าภิกษุด้วยกัน ที่เรียกว่า “ปลงอาบัติ”

สำหรับในภาพยนตร์ เรื่อง อาบัติ ดูจะเป็นการแสดงความผิดในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้หญิง... และไม่ทราบว่าเป็นภิกษุหรือสามเณร ซึ่งถ้าเป็นสามเณร ก็ไม่ควรใช้คำว่า “อาบัติ” เพราะสามเณรสำเร็จเข้าสู่กระบวนการบรรพชาด้วยการเข้าถึงพระไตรสรณคมน์และรับสิกขาบท (ศีล) สิบ หากประพฤติผิดสิกขาบท เรียกว่า ล่วงละเมิดศีล... โดยมีการโยงเรื่องไปเกี่ยวเนื่องกับภูตผีเปรตทั้งหลายของผู้กระทำบาปอันหยาบช้า ล่วงเกินสิกขาบทในพระพุทธศาสนา

หากพิจารณาดูจุดประสงค์ของภาพยนตร์ดังกล่าว ถ้าเป็นไปตามเนื้อหาสาระโดยสรุปที่พอจะหามาได้ ก็คงรับได้ ถ้ามองในเชิงบวกว่า... ก็ดีเหมือนกัน อย่างน้อยๆ จะได้กระตุ้นให้สังคมชาวพุทธรู้จักคำว่า อาบัติ จะได้สนใจนำมาศึกษาว่าด้วยเรื่องอาบัติต่างๆ ที่เป็นบทลงโทษชี้ความเป็นบาป เมื่อภิกษุในพระพุทธศาสนานี้ได้กระทำการล่วงเกินสิกขาบทหรือข้อควรศึกษาที่ทรงบัญญัติแสดงไว้ดีแล้ว ในทางตรงข้ามจะได้เห็นคุณประโยชน์ของผู้ประพฤติอยู่ในสิกขาบท รักษาไว้ซึ่งศีลหรือวินัยของภิกษุอย่างบริสุทธิ์หมดจดว่า ให้คุณานุประโยชน์เป็นอย่างไร... สมดังที่กล่าวว่า ศีลเป็นรากแก้วของศาสนา วินัยเป็นรากเหง้าเค้ามูลของกุศลธรรมทั้งปวง... โลกียบุญกุศล โลกุตตรบุญกุศลเกิดขึ้นได้ด้วยการประพฤติถูกต้องตรงตามศีล... ตามวินัย...

แต่อย่างไรก็ตาม ในการนำเสนอเนื้อหาสาระใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ควรอย่างยิ่งที่จะต้องนำเสนอให้ครบถ้วนสมบูรณ์ทุกด้าน หมายถึง ต้องนำเสนออย่างปราศจากอคติต่อพระพุทธศาสนา... เพื่อจะไม่ชี้นำสังคมที่ไร้แก่นสาร เข้าสู่ความรู้ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนผิดไปจากธรรม

จึงควรระวังอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในกระแสโลกาภิวัตน์ ที่สัตว์สังคมตกอยู่ในอิทธิพลของสื่อ ...ผู้นำเสนอเรื่องราวต่างๆ ผ่านสื่อทุกชนิดจึงต้องรอบคอบ และควรวัดผลย้อนกลับจากกรณีการนำเสนอนั้นๆ ด้วย...  ...จะคิดคำนึงแค่เพียงประโยชน์ส่วนตน สนุกสนาน ถูกใจตัวอย่างเดียวไม่ได้ โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องที่กระทบต่อกระแสศรัทธา ดังเช่น กรณีนำเรื่องศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้องในการนำเสนอ... ซึ่งหากมีผลสะท้อนเกิดขึ้น ไม่ว่าในรูปแบบใด ผู้นำเสนอต้องตอบสังคมได้ตามวิถีแห่งธรรม!...

เจริญพร