posttoday

พระครูดีโลด ผู้ปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุพนม (จบ)

27 กันยายน 2558

ถัดจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องราวการซ่อมแซมองค์พระธาตุพนมกำลังเข้มข้น

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ถัดจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องราวการซ่อมแซมองค์พระธาตุพนมกำลังเข้มข้น ว่าที่สุดแล้วจะมีใครสามารถปรับแต่งซ่อมแซมองค์พระธาตุพนมที่ทรุดโทรมได้หรือไม่ หลังจากพระครูสีทา วัดบูรพา อาจารย์มั่น ภูริทัตโต และพระอาจารย์หนู เจ้าอาวาสวัดสระปทุม ได้เดินธุดงค์มาจำพรรษาอยู่ในป่ารอบสะพังโบราณ บริเวณวัดพระธาตุพนม และแนะนำให้ชาวพระธาตุพนมลงไปเชิญท่านพระครูวิโรจน์ (หลวงปู่รอด) ขึ้นมาเป็นหัวหน้าดำเนินการซ่อมแซมองค์พระธาตุพนม ซึ่งท่านเจ้าประคุณหลวงปู่รอดก็ยินดีรับและมาตามความประสงค์

พลันหลังจาก “หลวงปู่รอด” เดินทางขึ้นมาถึงวัดพระธาตุพนม ตรงกับเดือนอ้ายข้างขึ้น ก่อนจะร่วมประชุมกับผู้นำชาวบ้านและชาววัดว่าจะให้ท่านทำอย่างใด ชาวบ้านทั้งหลายต่างประสานเสียงเป็นเสียงเดียวกันว่าให้ท่านช่วยซ่อมแซมลานพระธาตุก็เพียงพอ เพื่อหวังไว้กราบไหว้บูชาเท่านั้น

เวทีการประชุมถูกขมวดในประเด็นการซ่อมแซมและบูรณะ จากเสียงของประชาชน “หลวงปู่รอด” จึงสวนกลับไปว่า ถ้าเราซ่อมแซมตั้งแต่พื้นดินจนถึงยอด และตั้งแต่ยอดถึงพื้นดินแล้วท่านจะทำ ชาวบ้านจึงพากันคัดค้านไม่ยอม แล้วกล่าวหาหลวงปู่รอดไม่ตั้งอยู่ในพระธรรมวินัย เพราะจะรื้อพระเจดีย์ตัดโพธิ์ศรีออกลอกหนังพระเจ้าซึ่งเป็นบาปอย่างยิ่ง และถ้าปล่อยให้ท่านทำตามที่กล่าวไว้ เทวดาอารักษ์พระบรมธาตุจะรบกวนเบียดเบียนชาวบ้านให้ได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำของหลวงปู่รอด ก่อนที่หลวงปู่รอดและคณะของท่านจะชี้แจงเหตุผลต่างๆ แต่ไม่เป็นผล ไม่สามารถตกลงกันได้สำเร็จ

ท้ายที่สุด “หลวงปู่รอด” จึงแจ้งให้ชาวบ้านรับทราบว่า ถ้าญาติโยมไม่ยอมให้ทำการซ่อมแซมดังกล่าวแล้วก็จะกลับ จ.อุบลราชธานี ชาวบ้านจึงเรียนท่านว่า “จะกลับก็ตามใจ” แล้วก็พากันเลิกประชุมแยกย้ายกันกลับบ้าน จากนั้นได้เกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นกับชาวบ้านบางคน มีคนทรงเจ้าถูกเจ้าเฮือน 3 พระองค์ เข้าสิงและบ่นว่าดุด่าอาฆาตผู้นำชาวบ้านที่ขัดขวางการไม่ให้ “หลวงปู่รอด” ซ่อมแซมองค์พระธาตุพนม

จากเหตุการณ์ประหลาดในเวลานั้น ชาวบ้านจึงต่างตกใจและรีบเดินทางกลับไปวัดกราบไหว้ขอขมาโทษต่อ “หลวงปู่รอด” พร้อมขอไม่ให้ท่านเดินทางกลับ จ.อุบลราชธานี โดยชาวบ้านทั้งหลายต่างตกลงปลงใจเห็นพ้องกันว่าไม่ขัดข้องใจและยินยอมให้หลวงปู่รอด ทำทุกอย่างและพร้อมปฏิบัติตามทุกสิ่ง ทำให้หลวงปู่รอดตอบตกลงยอมรับที่จะอยู่ปฏิบัติงานซ่อมแซมบูรณะพระธาตุพนมต่อไป

ครั้นเวลาขึ้น 14 ค่ำ เดือนอ้าย หลวงปู่รอดพร้อมลูกศิษย์ได้ลงมือเริ่มทำความสะอาดพระธาตุพนม และตั้งเครื่องสักการบูชาขอขมาองค์พระธาตุ ก่อนค่อยๆ รื้อนั่งร้านถอนต้นไม้ หญ้าและกะเทาะส่วนที่หักพังออก แต่กลับไม่มีชาวคนไหนกล้าเข้ามาช่วยทำแม้แต่คนเดียว เพราะกลัวเทพาอารักษ์ที่รักษาอยู่จะทำอันตราย เพราะแม้แต่พระเณรในวัดก็ต่างพากันปิดประตูกุฏิไม่กล้ามองดู เหตุเกรงอันตรายเช่นกัน จะหาคนมาช่วยก็ยากมาก การซ่อมแซมล่วงเลยมา 7 วัน เริ่มมีชาวบ้านมายืนดูห่างๆ จำนวน 9-10 คน จากนั้นก็ค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

กระทั่งถึงวันเพ็ญเดือน 3 ชาวบ้านหลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศ พากันช่วยตัดหญ้าและปลูกปะรำจนถึงริมบึงหน้าวัด เงินทองไหลมาจนผิดความคาดหมาย กากอิฐเศษปูนที่เหลือจากการกะเทาะจากองค์พระธาตุเจดีย์ หลวงปู่รอดสั่งให้ก่อเจดีย์เล็กบรรจุไว้ต่างหาก โดยไม่ทิ้งไว้เรี่ยราด เพราะชาวบ้านถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก เนื่องจากเป็นที่สักการบูชาของชาวบ้านและตามหัวเมืองต่างๆ ในภาคอีสาน ดังนั้นวัดไหนจะสร้างเจดีย์ก็จะพากันนำเครื่องสักการะมาไหว้ขอเศษอิฐปูนไปบรรจุเพื่อความสิริมงคลจนถึงทุกวันนี้

สำหรับงานที่หลวงปู่รอดได้ทำในครั้งนี้ คือ การเซาะทรายพระธาตุ กำจัดหญ้าตัดแต่งต้นไม้จนหมด แล้วทำการโบกปูนใหม่ตั้งแต่ยอดพระธาตุลงมาจนถึงพื้นดิน ก่อนประดับด้วยกระจกและปิดทอง ประดับดอกไม้ที่ทำด้วยดินเผาติดแผ่นจังโกทองคำที่บริเวณยอดพระธาตุ ซ่อมกำแพงชั้นกลางให้มีความสูงขึ้นอีก 1 แขน และโบกปูนใหม่ เมื่อเสร็จแล้ว หลวงปู่รอดจึงให้มีการจัดงานฉลองสมโภช ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชาพอดี

ครั้งนั้นมีประชาชนและภิกษุสามเณรจากทั่วทุกทิศมาร่วมประชุมหลายหมื่นคน จนที่พักอาศัยแน่นขนัด และนับว่าเป็นงานมโหฬารงานหนึ่ง ครั้นเมื่อซ่อมพระธาตุเสร็จสิ้นท่านได้เดินทางกลับ จ.อุบลราชธานี

เข็มนาฬิกาแสดงเวลาและหมุนเดินไม่หยุด ส่งผลให้หลวงปู่รอดได้มรณภาพลงวันที่ 1 ธ.ค. 2484 ณ วัดทุ่งศรีเมือง จ.อุบลราชธานี สิริอายุได้ 88 ปี ศิษยานุศิษย์และญาติโยมทั้งหลายจึงได้ร่วมจัดพิธีฌาปนกิจถวายแด่หลวงปู่รอดอย่างยิ่งใหญ่ ในเดือน ก.ย. 2485 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ได้เป็นผู้อุปถัมภ์นำศพท่านบรรจุไว้ในหีบไม้ลงรักปิดทองแบบโบราณ ตั้งบนหลังนกหัสดีลิงค์ภายใต้เมรุอันวิจิตรงดงามตระการตาสมเกียรติแก่คุณงามความดีของหลวงปู่รอดทุกประการ

หลวงปู่รอดทิ้งไว้เพียงคุณงามความดีแก่สาธุชนรุ่นหลังและผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด