posttoday

วิธีทำสมาธิเบื้องต้น (1)

27 กันยายน 2558

ต่อไปนี้จะอรรถาธิบายข้อปฏิบัติ ในทางสมาธิภาวนาว่าจะต้องทำกันอย่างไร

โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

ต่อไปนี้จะอรรถาธิบายข้อปฏิบัติ ในทางสมาธิภาวนาว่าจะต้องทำกันอย่างไร ก่อนที่จะทำกิจเบื้องต้นนั้น ให้นั่งคุกเข่าประนมมือด้วยความตั้งใจ นอบน้อมถึงพระรัตนตรัยแล้วเปล่งวาจา ดังต่อไปนี้

อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ภควา, พุทธัง ภควันตัง อภิวาเทมิ (กราบลงหนหนึ่ง นี้ ไหว้พระพุทธ)

สวากขาโต ภควตา ธัมโม, ธัมมัง นมัสสามิ (กราบลงหนหนึ่ง นี้ ไหว้พระธรรม)

สุปฏิปันโน ภควโต สวากสังโฆ, สังฆัง นมามิ (กราบลงหนหนึ่ง นี้ ไหว้พระสงฆ์)

ลำดับนี้ตั้งใจปฏิบัติบูชาด้วยกาย วาจา ใจ กล่าวคำนอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ว่า นโม ตัสส ภควโต อรหโต สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 หน) แล้วปฏิญาณตนถือเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกของตน ที่เรียกว่า พระไตรสรณคมน์ ว่าตามบาลีดังนี้

พุทธัง สรณัง คัจฉามิ

ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ

สังฆัง สรณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ

ตติยัมปิ พุทธัง สรณัง คัจฉามิ

ตติยัมปิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ

ตติยัมปิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ

ต่อนั้นให้อธิษฐานใจถึงพระไตรสรณคมน์ให้มั่นก่อน ว่า ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าองค์พระอรหันต์ผู้ละกิเลสขาดจากสันดาน กับพระธรรมเจ้า กล่าวคือ คำสอนของพระองค์ที่เป็นปริยัติธรรม ปฏิบัติธรรม ปฏิเวธธรรม กับพระสงฆ์เจ้า กล่าวคือ พระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคามี พระอรหันต์ ว่าเป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกนับถือของข้าพเจ้าตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตราบเท่าชีวิตข้าพเจ้านี้แล

พุทธัง ชีวิตัง ยาว นิพพานัง สรณัง คัจฉามิ

ธัมมัง ขีวิตัง ยาว นิพพานัง สรณัง คัจฉามิ

สังฆัง ชีวิตัง ยาว นิพพานัง สรณัง คัจฉามิ

ต่อจากนั้นให้เจตนาวิรัติและเว้นในส่วนองค์ศีล 5 ศีล 8 ศีล 10 หรือศีล 227 ตามภูมิของตนที่สามารถจะรักษาได้ แล้วว่าคำสมาทานรวมลงในที่แห่งเดียวกันอีกว่า

1.อิมานิ ปัญจ สิกขาปทานิ สมาทิยามิ (ให้ว่า 3 หน นี้สำหรับศีล 5) แปลว่า ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งสิกขาบททั้งหลาย 5 คือ ปาณาฯ ไม่ฆ่าสัตว์ อทินนาฯ ไม่ลักทรัพย์, กาเมฯ ไม่ประพฤติผิดในกาม มุสาฯ ไม่กล่าวคำเท็จ, สุราฯ ไม่ดื่มสุราเมรัย (เป็น 5 ข้อ)

2.อิมานิ อัฏฐ สิกขาปทานิ สมาทิยามิ (ให้ว่า 3 หน นี้สำหรับศีล 8) แปลว่า ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งสิกขาบททั้งหลาย 8 คือ ปาณาฯ ไม่ฆ่าสัตว์, อทินนาฯ ไม่ลักทรัพย์, อพรหมจริยาฯ ไม่ประพฤติร่วมสังวาสกับหญิงชายทั้งปวง, มุสาฯ ไม่พูดเท็จ, สุราฯ ไม่ดื่มสุราเมรัย, วิกาลโภชนาฯ ไม่กินอาหารในเวลาตะวันบ่ายไปแล้ว, นัจจคีตมาลาฯ ไม่ดูการละเล่น ตกแต่งประดับประดาอัตภาพร่างกาย เพื่อความสวยงามต่างๆ, อุจจาสยนาฯ ไม่นั่งนอนบนเตียงตั่งที่สูงเกินประมาณ และฟูกเบาะที่ยัดด้วยนุ่นและสำลี (เป็น 8 ข้อ)

3.อิมานิ ทส สิกขาปทานิ สมาทิยานิ (ให้ว่า 3 หน นี้สำหรับศีล 10) แปลว่า ข้าพเจ้าขอสมาทานเอาซึ่งสิกขาบททั้งหลาย 10 คือ ปานาฯ อทินนาฯ อพรหมจริยาฯ มุสาฯ สุราฯ วิกาลโภชนาฯ นัจจคีตมาลาฯ อุจจาสยนาฯ ชาตรูปรชตปฏิคคหณาฯ ไม่ให้รับเงินทองใช้สอยด้วยตนเอง (เป็น 10 ข้อ)

4.ศีล 227 ให้ว่าดังนี้

ปาริสุทโธ อหัง ภันเต
ปาริสุทโธติ มัง พุทโธ ธาเรตุ

ปาริสุทโธ อหัง ภันเต
ปาริสุทโธติ มัง ธัมโม ธาเรตุ

ปาริสุทโธ อหัง ภันเต
ปาริสุทโธติ มัง สังโฆ ธาเรตุ

เมื่อทำความบริสุทธิ์ของตนด้วยกาย วาจา ใจ ต่อคุณพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆ์เจ้า แล้วกราบลง 3 หน แล้วจึงค่อยนั่งราบลง ประนมมือไหว้ทำใจให้เที่ยงแล้วเจริญพรหมวิหาร 4 ถ้าแผ่ไปไม่เจาะจงเรียกว่า อัปปมัญญา พรหมวิหาร ว่าโดยคำบาลีย่อๆ ให้สะดวกแก่ผู้จำยากก่อนดังนี้

เมตตา คือ จิตคิดเมตตารักใคร่ ปรารถนาให้ตนและสัตว์ทั้งหลายเป็นสุขทั่วหน้ากัน

กรุณา คือ จิตคิดกรุณา เอ็นดู สงสารตนและคนอื่น

มุทิตา คือ จิตอ่อนน้อม พลอยยินดีในกุศลของตนและคนอื่น

อุเปกขา คือ จิตคิดวางเฉยในสิ่งที่ควรปล่อยวาง

ต่อนี้ให้นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งกายให้ตรง ดำรงสติให้มั่นอย่าให้ฟั่นเฟือนประนมมือไหว้แล้วระลึกถึงคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่ในใจว่า พุทโธ เม นาโถ พระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า, ธัมโม เม นาโถ พระธรรมเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า, สังโฆ เม นาโถ พระสงฆ์เป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า แล้วว่าซ้ำอีกว่า พุทโธๆ ธัมโมๆ สังโฆๆ แล้วปล่อยมือลงข้างหน้า บริกรรมภาวนาแต่คำเดียวว่า อรหัง 3 หน

ต่อจากนี้ให้นึกถึงลมหายใจเข้าออก คือให้นับลมเป็นคู่ๆ ดังนี้ พุท ลมเข้า โธ ลมออก อย่างนี้ไปจนถึง 10 ครั้ง แล้วให้ตั้งต้นใหม่อีกดังนี้ คือ ลมเข้า พุทโธ หนหนึ่ง ลมออก พุทโธ หนหนึ่ง ภาวนาอย่างนี้ไปจนถึง 6 หน แล้วให้ตั้งต้นใหม่อีกดังนี้ คือ ลมเข้าลมออกให้ภาวนา พุทโธ หนหนึ่ง ทำอย่างนี้ไปจนถึง 5 หน แล้วให้ตั้งต้นใหม่อีกดังนี้ คือ ลมเข้าลมออกหนหนึ่งให้ภาวนา พุทโธ 3 คำ ทำอย่างนี้ไปจนครบ 3 วาระของลมเข้าและลมออก

ต่อจากนั้นให้บริกรรมแต่อรหังคำเดียวไม่ต้องนับลมอีกต่อไป ปล่อยลมตามสบายทำใจให้นิ่งๆ ไว้ที่ลมหายใจเข้าออกที่มีในช่องจมูก เมื่อลมเข้าอย่าส่งจิตเข้าตามลม ทำความรู้สึกอย่างกว้างขวางเบิกบาน แต่อย่าสะกดจิตให้มากเกินไป ทำให้ใจสบายๆ เหมือนเราหายใจออกไปในอากาศโปร่งฉะนั้น

ทำจิตให้นิ่งอยู่เหมือนเสาที่ปักไว้ริมฝั่งทะเล น้ำทะเลขึ้น เสาก็ไม่ขึ้นตาม น้ำทะเลลงเสาก็ไม่ลงตาม เมื่อทำจิตนิ่งสงบได้ในขั้นนี้แล้ว ให้หยุดคำภาวนาอรหังนั้นเสีย

กำหนดความรู้สึกไว้เฉพาะลมหายใจ แล้วค่อยขยับจิตเลื่อนเข้าไปตามกองลม คือ กองลมที่สำคัญๆ อันจะทำให้เกิดความรู้สึกต่างๆ เช่น ทิพพจักขุ ตาทิพย์, ทิพพโสต หูทิพย์, เจโตปริยญาณ รู้ใจคนอี่น, ปุพเพนิวาสานุสติญาณ ระลึกชาติได้, จุตูปปาตญาณ รู้จักความเกิดตายแห่งสัตว์ต่างๆ, นานาธาตุวิชชา วิชาความรู้ในเรื่องของธาตุต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องถึงอัตภาพร่างกาย อันจะเป็นประโยชน์แก่ร่างกาย ธาตุเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นจากรากฐานของลมหายใจ ฐานที่ 1 ให้ตั้งจิตไว้ที่จมูก แล้วค่อยเลื่อนไปกลางหน้าผาก อันเป็นฐานที่ 2 ทำความรู้สึกอย่างกว้างขวาง ทำจิตให้นิ่งไว้ที่หน้าผากราวกับคนขึ้นภูเขาฉะนั้น ทำให้ได้สัก 7 เที่ยว ก็นิ่งไว้ที่หน้าผาก อย่าให้จิตลงมาที่จมูกอีก

ต่อนั้นให้ตามเข้าไปในฐานที่ 3 คือกลางกระหม่อมข้างนอก แล้วหยุดอยู่ที่กลางกระหม่อม ทำความรู้สึกอย่างกว้างขวาง สูดลมในอากาศเข้าไปในศีรษะกระจายลม ครู่หนึ่งจึงกลับลงมาที่หน้าผากกลับไปกลับมา ในระหว่างหน้าผากกลับกลางกระหม่อมอยู่เช่นนี้สัก 1 เที่ยว แล้วก็นิ่งอยู่กลางกระหม่อมตามเข้าไปในฐานที่ 4 อีก คือลงในสมองที่กลางกะโหลกศีรษะ ให้นิ่งอยู่สักครู่หนึ่ง จึงเลื่อนจิตให้ออกไปที่กลางกระหม่อมข้างนอก กลับไปกลับมาติดต่อกันในระหว่างกลางสมองกับกลางกระหม่อมข้างนอก แล้วก็นิ่งอยู่ที่สมอง ทำความรู้สึกให้กว้างขวาง กระจายลมอันละเอียดจากสมองให้ลงเบื้องต่ำ

เมื่อทำจิตมาถึงตอนนี้แล้ว บางทีจะเกิดนิมิตของลมขึ้น เป็นต้นว่ารู้สึกขึ้นในศีรษะ แลเห็นหรือรู้สึกให้เสียวๆ ให้เย็นๆ ร้อนๆ ให้เป็นไอเป็นหมอกสลัวๆ ขึ้น บางทีก็มองเห็นกะโหลกศีรษะของตัวเอง ถึงอย่างนั้นก็อย่าให้มีความหวั่นไหวไปตามนิมิตที่ปรากฏ ถ้าเราไม่ปรารถนาที่จะให้เป็นเช่นนั้น ก็ให้สูดลมหายใจเข้าไปยาวๆ ถึงหัวอก นิมิตเหล่านั้นก็จะหายไปทันที เมื่อเห็นนิมิตอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว ให้ตั้งสติรู้อยู่ที่นิมิต แต่ให้เอานิมิตเดียว สุดแท้แต่นิมิตอันใดเป็นที่สบาย