posttoday

ศาสนา (ฮินดู,พุทธ) ในเวทีการเมืองโลก ที่น่าศึกษา!!

20 กันยายน 2558

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ...ในธรรมส่องโลกฉบับที่แล้ว ได้เขียนวิสัชนาในเรื่อง การนำศาสนา

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา : เนื่องมาจากการจัดประชุมนานาชาติที่นครเดลี/อินเดีย ในชื่อ Global Hindu-Buddhist Initiative on conflict avoidance and environment consciousness เมื่อวันที่ ๓-๕ ก.ย.ที่ผ่านมา

วิสัชนา : เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ...ในธรรมส่องโลกฉบับที่แล้ว ได้เขียนวิสัชนาในเรื่อง การนำศาสนา (ฮินดู-พุทธ) มาช่วยในการหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และการสร้างความตระหนักรู้ในสิ่งแวดล้อม เพื่อการนำโลกไปสู่สันติสุข ซึ่งเป็นนโยบายเชิงรุกของรัฐบาลอินเดีย ในการนำของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี โดยการร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นและประเทศต่างๆ ในเอเชียและทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศพุทธศาสนาจากสามสิบกว่าประเทศทั่วโลก

การเปิดยุทธศาสตร์ด้วยการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา เพื่อปลุกเร้าให้ประชาชนที่ดำเนินชีวิตในฐานะศาสนิกชนของแต่ละศาสนา กลับคืนสู่กรอบความคิด การพูด การกระทำ ที่อยู่ภายใต้อำนาจของศีลธรรม ...จึงเป็นยุทธศาสตร์ที่ลุ่มลึกลงไปถึงจิตวิญญาณของชาวเอเชียและประชาคมโลก ที่ให้ความสำคัญในด้านศาสนาว่าเป็นเสาหลักของชีวิตและสังคมประเทศชาติ

การปลุกเร้าให้ประชาคมโลกโดยเฉพาะในเอเชีย ตื่นขึ้นมาตระหนักรู้ด้วยความสำนึกชอบต่อการสร้างความสัมพันธ์ในการอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมให้มีดุลยภาพโดยธรรม เพื่อความยั่งยืนแห่งความ

สงบสุขที่ต้องดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันอีกครั้ง เพื่อสังคมสันติสุข

การเปิดการประชุมโดยนายกรัฐมนตรี โมดี แห่งอินเดีย ทำให้บรรยากาศการเรียกร้องหาสันติภาพอย่างถูกต้อง ด้วยหลักการทางศาสนา (ฮินดู-พุทธ) เพื่อนำไปสู่การหลีกเลี่ยงความขัดแย้งในหมู่มนุษยชาติ และการสร้างความสำนึกตระหนักรู้ในด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก ได้ถูกกระตุ้นขึ้นอย่างน่าสนใจ ด้วยคำพูดที่เป็นปรัชญาโวหารจากนักการเมืองระดับแนวหน้าของโลก ที่ได้รับการยอมรับอย่างสูงในเอเชียปัจจุบัน

สิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้บรรยากาศหล่อหลอมเข้าสู่หัวข้อการประชุมที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง ได้แก่ การยกระดับการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด เมื่อผู้นำรัฐบาลอินเดียเดินทางมาร่วมงาน โดยเฉพาะในวันที่ได้เดินทางร่วมไปกับผู้นำในด้านต่างๆ ของแต่ละประเทศ ด้วยเที่ยวบินพิเศษสู่พุทธคยา...

จากสนามบินนานาชาติคยา รัฐพิหาร ไปสู่พุทธคยา ณ มหาโพธิมหาวิหาร สถานที่ตั้งของพระศรีมหาโพธิ์ฯ ได้มีการจัดวางกำลังรักษาความปลอดภัยไปตลอดเส้นทาง พร้อมกับการก่อสร้างไม้ปักปันแนวเขต สร้างแนวรั้วกีดขวาง ต่อเนื่องไปคล้ายคอกวัวควายบ้านของเราไปตลอดสองข้างทางจนถึงพุทธคยาที่เงียบสงบ ด้วยมีคำสั่งให้ปิดร้าน-แผงลอยสองข้างทางทั้งหมด โดยเฉพาะการรักษาความปลอดภัยในพื้นที่มหาโพธิมหาวิหาร พุทธคยาฯ สถานที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าระดับสูงสุด ด้วยการห้ามบุคคลโดยทั่วไป ไม่ว่าบรรพชิตหรือฆราวาสเข้าไปในเขตมหาโพธิมหาวิหาร เว้นแต่บุคคลที่มีบัตรอนุญาตเข้าร่วมงานนี้เป็นการเฉพาะ ซึ่งทราบว่าในเขตพุทธคยาได้มีการนิมนต์พระภิกษุหัวหน้ามหาวิหารประมาณสิบวัดจากทุกชาติเข้ามาร่วมงาน ต้อนรับคณะผู้เข้าร่วมประชุมที่มาจากนครเดลีในครั้งนี้

การปาฐกถาของนายกฯ โมดี ณ เขตแดนตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า แม้แฝงไปด้วยนัยทางการเมือง แต่ก็น่ายินดียิ่งต่อการให้ความสำคัญในพระพุทธศาสนา ที่เชื่อมั่นว่า เป็นศาสนาที่เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติของการสร้างความสุขและสันติภาพให้แก่ประชาคมโลก จึงไม่แปลกที่นายกฯ โมดี ได้ประกาศอย่างชัดเจนว่า “รัฐบาลอินเดีย ภายใต้การนำของข้าฯ จะพัฒนาสังเวชนียสถานที่ตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก...” (อ่านตอนต่อไป)

เจริญพร