posttoday

ศึกษาดร.อัมเบ็คก้าร์ กรณีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในชมพูทวีป(๘)

22 กันยายน 2552

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

หากพิจารณาในปฏิญญา ๖ ข้อแรก ที่กล่าวถึงไปในตอนที่แล้วอันได้แก่


๑.ข้าพเจ้าจะไม่บูชาพระพรหม พระศิวะ พระวิษณุต่อไป
๒.ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อว่าพระราม พระกฤษณะ เป็นพระเจ้า
ข้าพเจ้าจะไม่เคารพต่อไป
๓.ข้าพเจ้าจะไม่เคารพบูชาเทวดาทั้งหลายของศาสนาฮินดูต่อไป
๔.ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อลัทธิอวตารต่อไป
๕.ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าคืออวตารของพระวิษณุ การเชื่อเช่นนั้น คือคนบ้า
๖.ข้าพเจ้าจะไม่ทำพิธีสารท และบิณฑบาตแบบฮินดูต่อไป

จะเห็นว่า ดร.อัมเบ็คก้าร์ ได้ศึกษาศาสนาต่างๆ มาอย่างดีแล้ว โดยเฉพาะความเข้าใจในความจริงของพุทธศาสนาที่ประกาศหลักธรรมอันเป็นอริยสัจ และประกาศหลักปฏิบัติอยู่ที่การพึ่งตนและพึ่งธรรม ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มุ่งเน้นกรรมปัจจุบัน อยู่ที่กรรมบถ ๑๐ ได้แก่ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ ให้ตั้งมั่นอยู่บนขันติธรรมและความไม่ประมาท เป็นเกราะป้องกันภัยอันตรายทั้งปวง ไม่สั่งสอนให้ติดยึดอยู่ในอดีต และไม่พึงพะวงถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ให้ดำรงตนอย่างมีสติ เห็นธรรมเกิดขึ้นเฉพาะหน้าในที่นั้นอย่างแจ่มแจ้ง ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน ให้พอกพูนอาการนั้นไว้ และกระทำความเพียรในปัจจุบันให้เป็นปกติในวันนั้นๆ ทั้งนี้เพราะใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้...หลักธรรมการดำรงตนอยู่กับความเพียร พึ่งตน เจริญสติปัฏฐาน มีตนเป็นเกาะ อย่ามีอย่างอื่นเป็นที่พึ่ง และพึ่งธรรม มีธรรมเป็นสรณะ อย่ามีอย่างอื่นเป็นที่พึ่ง จึงเป็นอริยสัจที่แท้จริง สำหรับสัตว์มนุษย์ทั้งหลายที่สามารถพัฒนาการสร้างศักยภาพในตน เพื่อนำไปสู่ความสิ้นทุกข์ได้ ดังพระพุทธองค์ที่ได้ทรงปฏิบัติและประสบผลสำเร็จที่กล่าวว่า ทรงตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เอง ใต้ควงพระศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา อุรุเวลาเสนานิคม (ปัจจุบันอยู่ที่พุทธคยา อ.คยา รัฐพิหาร) ซึ่งดร.อัมเบ็คก้าร์ ได้เข้าถึงความจริงดังกล่าวนี้ ตามรอยบาทแห่งพระศาสดาทุกประการ จึงได้เขียนปฏิญญา ๖ ข้อแรกให้สัตว์มนุษย์ผู้สามารถประเสริฐได้ด้วยการพัฒนาตนเอง ละออกจากความลุ่มหลงในสิ่งที่เป็นอาสวะ ไม่มีประโยชน์ ไม่ได้นำออกไปจากความทุกข์ที่แท้จริง มิหนำซ้ำยังตกเป็นเครื่องมือของผู้แต่งตำราเทพเจ้า ให้มีอำนาจเหนือมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ที่หลอกให้ลุ่มหลงงมงาย เพื่อนำมาสู่ประโยชน์แห่งพวกตน ดังสังคมที่นิยมวรรณะโดยอ้างเทพเจ้า เพื่อตักตวงประโยชน์ให้ตน และลิดรอนประโยชน์ของผู้อื่น ดังเช่นพวกอธิศูทรที่ถูกเบียดเบียนรังแก และถูกสาปจากความคิดของบุคคลบางกลุ่มให้ตราตรึงอยู่กับความทุกข์มามากกว่า ๒,๐๐๐ ปี ซึ่งดร.อัมเบ็คก้าร์ ได้เข้าถึงหลักความจริงดังกล่าวนี้ จึงได้พยายามมุ่งเน้นการศึกษาเป็นสำคัญ พยายามติดอาวุธทางปัญญาที่จิตให้กับพวกอธิศูทร เพื่อผลิตความคิดออกมาให้ถูกต้องสอดคล้องกับธรรมชาติ และเป็นไปตามหลักอริยสัจ จึงเห็นได้ว่าดร.อัมเบ็คก้าร์ มิได้ผลีผลามกระทำการเปลี่ยนแปลงความคิดทางศาสนา เพื่อนำไปสู่การนับถือศาสนาที่ถูกต้องตรงตามความจริง อันปรากฏมีอยู่ในธรรมชาติ (Nature Law)

ดังเช่นพุทธศาสนา แต่ได้ค่อยๆ ให้ความรู้ความเข้าใจให้การศึกษาทั้งทางตรงและทางอ้อม จนถึงความพร้อมในระดับหนึ่งแล้ว จึงนำไปสู่การประกาศเปลี่ยนศาสนา ปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ และประกาศปฏิญญา ๒๒ ข้อตามที่กล่าว โดยมุ่งเน้นความสำคัญเบื้องต้นอยู่ที่ ๖ ข้อแรก ซึ่งตรงตามคุณสมบัติของชาวพุทธที่ประกาศแสดงตนเป็นอุบาสก อุบาสิกา ในพระพุทธศาสนา ซึ่งจะรักษาพระไตรสรณคมณ์ ซึ่งก็คือการถึงซึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะ ไม่ให้ขาด ไม่ให้เศร้าหมอง ไม่ให้เสื่อมจากความเป็นชาวพุทธ

ประการที่ ๑ ต้องตั้งอยู่ในความเคารพ ๖ ประการ คือ

๑.เคารพในพระพุทธเจ้า
๒.เคารพในพระธรรม
๓.เคารพในพระสงฆ์
๔.เคารพในความไม่ประมาท
๕.เคารพในไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา
๖.เคารพในปฏิสันถาร การต้อนรับ ดูแลอย่างมีพรหมวิหาร

ประการที่ ๒ จะต้องไม่นับถือสิ่งอื่น ว่าเป็นที่พึ่ง ซึ่งสอดคล้องรองรับในข้อประการที่ ๑ โดยแสดงให้เห็นสิ่งที่ควรเคารพนับถือ หรือสักการบูชา และสิ่งที่ไม่ควรเข้าไปนับถือว่าเป็นที่พึ่ง ซึ่งได้แก่ ให้เว้นการนับถือพระภูมิเจ้าที่ ภูตผีปีศาจ เทวดา เทพเจ้าทั้งหลาย การเชื่อในมนต์กลคาถา ที่สวดกล่าววิงวอน กระทำการบวงสรวงอย่างไร้สาระ ไม่ปรากฏเป็นความจริงใดๆ ที่สามารถพิสูจน์ได้ โดยวิถีธรรมปฏิบัติ ที่สามารถรู้ได้ พิสูจน์ได้ เห็นเองได้ บอกให้ผู้อื่นเข้ามาดูได้ ไม่มีกาลคั่น ผู้ที่เข้าถึงความรู้นั้น จะเป็นไปเฉพาะตน แต่สามารถบอกกล่าวให้ผู้อื่นเข้ามาดูได้

หมายความว่าตนปฏิบัติได้ผล ทราบชัดในผลดังกล่าวนั้นด้วยตนเอง และสามารถบอกกล่าวสั่งสอนให้ผู้อื่นประพฤติปฏิบัติ อันนำไปสู่การรู้ในผลนั้นได้ตามที่กล่าว ซึ่งเป็นคุณสมบัติของพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่มีลักษณะธรรมดังกล่าวในศาสนาอื่น
ดังนั้น ในประการที่ ๓ จึงไม่เข้าไปนับถือลัทธิพิธีกรรมในศาสนาอื่นๆ เพราะไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์คือความสิ้นทุกข์ หรือพระนิพพาน

อ่านต่อฉบับหน้า

**ส่งคำถามหรือ แสดงความเห็นในเรื่องต่างๆได้ที่ คอลัมน์ธรรมส่องโลก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ อาคารบางกอกโพสต์ 136 ถนน ณ ระนอง แยกสุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110 โทรสาร 02-671-3132