posttoday

สมเด็จพระสังฆราช 5 พระองค์ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

02 สิงหาคม 2558

พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระสังฆราช ไม่ทราบชื่อผู้ฉาย ผู้เขียนพบใน Online นานมาแล้ว

โดย...ส.สต

พระฉายาลักษณ์สมเด็จพระสังฆราช ไม่ทราบชื่อผู้ฉาย ผู้เขียนพบใน Online นานมาแล้ว ตอนนั้นได้แต่แปลกใจว่า เจ้าภาพงานนี้เก่งที่นิมนต์สมเด็จพระสังฆราชมาในงานทั้งในปัจจุบัน (2506) และในอนาคต แต่ละองค์นั่งตามลำดับอาวุโส และตามลำดับที่ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ในระยะเวลา 50 ปี อย่างน่าอัศจรรย์

ส่วนสถานที่ประทับสวดมนต์นั้น ถ้าผู้เขียนจำไม่ผิดน่าจะเป็นร้านจำหน่ายยางรถยนต์ ย่านสวนมะลิ ตรงหัวมุมถนนยุคล ตัดกับถนนพลับพลาไชย ใกล้กับสามแยกถนนบำรุงเมือง (แต่ร้านยางนั้นเปลี่ยนกิจการไปแล้วขณะนี้) ทั้งนี้ ในเช้าวันหนึ่งในปี 2506 ขณะที่ผู้เขียนเป็นสามเณรเดินบิณฑบาตจากวัดพระพิเรนทร์ วรจักร ผ่านไปที่หน้าร้านดังกล่าว ได้เห็นสมเด็จพระสังฆราชวัดสระเกศ ประทับเพื่อเจริญพระพุทธมนต์กับพระสงฆ์อื่นๆ เป็นบุญตาและอยู่ในความทรงจำเสมอ แม้เวลาจะผ่านไป 50 กว่าปีแล้วก็ตาม

วันนี้จึงรื้อฟื้นความทรงจำนำภาพดังกล่าวจาก Online มาขยายความ เพื่อเพิ่มศรัทธาปสาทะแก่พุทธศาสนิกชนในช่วงเข้าพรรษาปี 2558

1) สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย ป.ธ.9) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 15 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช วันที่ 4 พ.ค. 2506 สิ้นพระชนม์วันที่ 15 พ.ค. 2508 พระชันษา 90 ปี 5 เดือน 14 วัน

พระนามเดิม อยู่ นามสกุล แซ่ฉั่ว ต่อมาเปลี่ยนเป็น ช้างโสภา ประสูติวันที่ 1 ธ.ค. 2417 ณ เรือนแพหน้าวัดกัลยาณมิตร ทรงบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดสระเกศ จนถึงปี 2437 จึงทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยสมเด็จพระวันรัต (แดง สีลวฑฺฒโน) เป็นพระอุปัชฌาย์

เมื่อปี 2445 สอบประโยค ป.ธ.9 ได้ขณะที่มีอายุ 28 ปี และเป็น ป.ธ.9 รูปแรกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จึงโปรดฯ ให้นำรถยนต์หลวงมาส่งถึงอารามเป็นพิเศษ และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน ที่สำนักพระราชวังจะจัดรถยนต์หลวงส่งพระภิกษุสามเณรที่สอบ ป.ธ.9 ได้ถึงวัด หลังจากเข้ารับพระราชทานพัดเปรียญที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว

ส่วนคุณธรรมเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป นอกจากความเมตตาและเก่งภาษาอังกฤษแล้ว คือ ทรงความเป็นโหรหลวง

 2) สมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี ป.ธ.9) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 16 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมกุฏกษัตริยารามวรวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2508 สิ้นพระชนม์จากอุบัติเหตุทางรถยนต์เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2514 สิริพระชันษา 74 ปี ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 7 พรรษา

พระนามเดิมว่า จวน ประสูติเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2440 อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

วันที่ 2 ก.ค. 2457 ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดมกุฏกษัตริยาราม อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2460 โดยมีพระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย) เป็นพระอุปัชฌาย์

ระหว่างดำรงสมณเพศได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถในทางวิชาการ โดยเป็นบรรณาธิการหนังสือวารสารรายปักษ์ จึงทำให้พระองค์มีความสามารถในการประพันธ์ต่างๆ มีโคลง ฉันท์ เป็นต้น

 3) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ ป.ธ.6) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 17 สถิต ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2515 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2516 สิริพระชันษาได้ 77 ปี ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 1 ปีเศษ

ประสูติเมื่อวันที่ 30 มี.ค.2439 ต.สองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันศุกร์ที่ 27 เม.ย. 2460 ณ วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ขณะมีอายุ 22 ปี พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต) วัดสองพี่น้อง เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อโหน่ง อินฺทสุวณฺโณ วัดสองพี่น้อง (ต่อมาเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวัน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระศากยปุตติยวงศ์ (เผื่อน ติสฺสทตฺโต) ภายหลังเป็นสมเด็จพระวันรัต วัดพระเชตุพน เป็นพระอนุสาวนาจารย์

คุณสมบัติพิเศษ ทรงเป็นนักประพันธ์ ทรงนิพนธ์หนังสือพุทธชยันตี เล่าเรื่องฉลอง 25 พุทธศตวรรษที่ศรีลังกาและอินเดีย ทรงนิพนธ์นิยายหลายเรื่อง ในนามปากกา “สันติวัน”

ด้านสาธารณูปการ ทรงตั้งมูลนิธิพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ นำดอกผลมาใช้สอยเพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนฯ ให้ทรงสภาพเป็นวัดพระมหากษัตริย์สร้าง ส่วนอนุสรณ์ของพระองค์หลังสิ้นพระชนม์ คือโรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ 17 อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

4) สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน ป.ธ.4) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 18 สถิต ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. 2517 สิ้นพระชนม์ วันที่ 27 ส.ค. 2531 สิริพระชันษา 91 ปี อยู่ในตำแหน่ง 14 ปี

 พระองค์มีพระนามเดิมว่า มัทรี นามสกุล นิลประภา ภายหลังเปลี่ยนพระนามเป็น วาสน์ ประสูติเมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2440 อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา

อุปสมบทวันที่ 2 ก.ค. 2461 โดยมีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “วาสโน” เมื่ออุปสมบทแล้วได้ศึกษาพระปริยัติธรรมตามลำดับและสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค

 5) สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน ป.ธ.9) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 สถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2532 สิ้นพระชนม์วันที่ 24 ต.ค. 2556 และเป็นสมเด็จพระสังฆราชที่มีพระชันษามากถึง 100 ปี (3 ต.ค. 2456-24 ต.ค. 2556)

พระนามเดิมว่า เจริญ นามสกุล คชวัตร ประสูติเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2456 เป็นบุตรคนโตของ น้อย คชวัตร และกิมน้อย คชวัตร ชาวกาญจนบุรี

บรรพชาเป็นสามเณรเพื่อแก้บนในปี 2469 ณ วัดเทวสังฆาราม ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดเสน่หา จ.นครปฐม และวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่ออายุครบอุปสมบทกลับไปอุปสมบทที่วัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี เมื่อปี 2476 และเมื่อกลับเข้ามาอยู่วัดบวรนิเวศ จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทซ้ำในธรรมยุติกนิกาย โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์