posttoday

พระธรรมและพระสงฆ์ วัดราชประดิษฐ (2)

12 กรกฎาคม 2558

วัดราชประดิษฐ ตอนที่แล้ว เล่าเรื่องมาจบเพียงเรื่องพระพุทธ หรือพระประธานในพระอุโบสถ

โดย...ส.สต

วัดราชประดิษฐ ตอนที่แล้ว เล่าเรื่องมาจบเพียงเรื่องพระพุทธ หรือพระประธานในพระอุโบสถ ดังนั้นวันนี้จึงพาท่านผู้อ่านมาชมตอนที่ว่าด้วยพระธรรมและพระสงฆ์ ครบพระรัตนไตรในพระพุทธศาสนา

พระครูวินัยธรอารยพงศ์ ได้นำบูชาและบรรยายให้ทราบถึงที่มาที่ไปของหอพระไตรปิฎก ว่าภายในบรรจุ “พระธรรม” หรือพระไตรปิฎก

พระครูวินัยธร กล่าวว่า พระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์ที่บันทึกคำสอนทางพระพุทธศาสนา จารลงใบลานด้วยอักษรขอม มีรูปเล่มอย่างหนังสือ สันปกหนังสือทองเหลืองเป็นอักษรภาษาไทย บอกชื่อพระไตรปิฎกในแต่ละหมวดหมู่ พร้อมตราพระมหาพิชัยมงกุฎเปล่งรัศมี แทนการใช้ผ้าห่อคัมภีร์และฉลากบอกชื่อคัมภีร์ตามแบบเดิม บรรจุอยู่ในหีบไม้ในตู้ไม้สักปิดทองประดิษฐานอยู่ภายในปราสาทพระไตรปิฎก

ตัวอาคารปราสาท เป็นสถาปัตยกรรมแบบขอม ออกแบบโดยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ในสมัยรัชกาลที่ 6 เพื่อสร้างแทนอาคารหลังเก่าที่เป็นไม้แต่ผุผังลงตามกาลเวลา

พระธรรมและพระสงฆ์ วัดราชประดิษฐ (2)

 

ทุกคนได้แต่ยืนดู และทำการบูชาพระธรรมที่ด้านหน้าปราสาทเท่านั้น เพราะไม่สามารถจะขึ้นไปดูให้เห็นกับตาได้ แต่ถึงกระนั้นพระครูวินัยธรอารยพงศ์ได้ชี้ให้ดูที่หน้าบันของปราสาทว่าเป็นรูปปูนปั้นแสดงภาพพระโพธิสัตว์ประสูติจากครรภ์มารดา ที่แปลกกว่าที่อื่นคือพระพุทธมารดาทรงชุดส่าหรี ตามประเพณีและวัฒนธรรมการนุ่งห่มของชาวอินเดีย

สำหรับพระธรรมที่เป็นของโบราณ ที่วัดราชประดิษฐนี้มีอยู่ที่ศาลาการเปรียญ หรือพระที่นั่งทรงธรรมอีกชุดหนึ่ง แต่เป็นพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์ด้วยอักษรไทย ปกแข็งเดินทอง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์เมื่อพุทธศักราช 2436

แต่ถ้าสังเกตปีที่พิมพ์คือ พ.ศ. 2436 ซึ่งตรงกับรัตนโกสินทร์ศก 112 นั้น เป็นปีที่กรุงสยามประสบวิกฤตการณ์ร้ายแรงด้านความมั่นคงแห่งชาติ แต่เป็นที่น่าอัศจรรย์ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกปาฬิ อักษรสยาม ชุด 39 เล่ม เป็นครั้งแรก เพื่อเป็นพระธัมมทานเนื่องในงานฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 25 ปีในปีดังกล่าว โดยได้พระราชทานพระไตรปิฎกชุดนี้แก่พระอารามต่างๆ ประมาณ 500 สำรับทั่วราชอาณาจักร และต่อมายังได้พระราชทานแก่สถาบันสำคัญต่างๆ ไม่น้อยกว่า 260 สถาบันในนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งถือเป็นการจัดพิมพ์พระไตรปิฎก และเผยแผ่เป็นพระธัมมทานในระดับโลกเป็นครั้งแรก

(ต่อมาต้นฉบับดังกล่าวได้มีการชำระในสมัยรัชกาลที่ 7 และพิมพ์เพิ่มจนครบ 45 เล่ม เมื่อ พ.ศ. 2470 เรียกว่าพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ พร้อมทั้งการแก้ไข คือเปลี่ยนใช้ พินทุ แทนวัญฌการ และยามักการ จัดวางระยะวรรคตอนหนังสือนั้นเสียใหม่ และใช้เครื่องหมายประกอบให้เป็นอย่างเดียว ตามแบบที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ประทานไว้ในการพิมพ์อรรถกถาพระไตรปิฎก)

นมัสการ ‘พระสงฆ์’ ณ ปาสาณเจดีย์

พระครูวินัยธรอารยพงศ์ พามานมัสการพระรูปหล่อของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (สา ปุสฺสเทโว) สมเด็จพระสังฆราช ผู้ทรงเป็นองค์ปฐมเจ้าอาวาส ที่ประดิษฐาน ณ ปาสาณเจดีย์ หรือปฐมสงฆ์แห่งวัดราชประดิษฐ เป็นพระรูปหล่อสัมฤทธิ์ปิดทองผลงานของช่างขาวสวิตเซอร์แลนด์ ชื่อ ร.เวนิง และส่งไปหล่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ใต้ฐานภายในบรรจุกล่องพระอัฐิ พระสุพรรณบัฏจารึกพระนาม และดวงพระชะตา ประดิษฐานในซุ้มคูหาฐานปาสาณเจดีย์ด้านทิศเหนือ

พระครูวินัยธร ชี้ให้สังเกตฝีมือการปั้นและหล่อโดยช่างชาวสวิส ว่าแสดงกายภาพให้เห็นคล้ายร่างกายมนุษย์จริงๆ และเล่าถึงความอัศจรรย์ สมเด็จพระสังฆราช (สา) ว่าผู้ที่ปรารถนาความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียนมักมากราบไหว้บูชา เพราะสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ มีความรู้ความสามารถทางภาษาบาลีสูงมาก กล่าวคือสอบ ป.ธ.9 ได้เมื่อเป็นสามเณร อุปสมบทอยู่ในสำนักสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อทรงครองสมณเพศ ครองวัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมาทรงได้รับพระราชทานอนุญาตลาสิกขาไปเป็นฆราวาสระยะหนึ่ง ต่อมากลับมาอุปสมบทใหม่ แล้วขอเข้าสอบบาลีซ้ำ สามารถสอบได้ 9 ประโยคเป็นครั้งที่ 2 จึงกลายเป็นสมเด็จฯ 18 ประโยค

เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (สา) ครองวัดราชประดิษฐในยุคต้นนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จมาพบปะเสมอ เพื่อทรงเรียนรู้และสอบถามพระราชประวัติ และพระราชวินิจฉัยต่างๆ ของสมเด็จพระราชบิดา คือสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงปฏิบัติ เพราะไม่มีใครที่ใกล้ชิดสมเด็จพระราชบิดาในรัชกาลที่ 5 ยิ่งกว่าสมเด็จพระสังฆราช (สา) อีกแล้ว

พระธรรมและพระสงฆ์ วัดราชประดิษฐ (2)

 

สำหรับปาสาณเจดีย์นั้นเป็นเจดีย์ทรงลังกา ประดับด้วยหินอ่อนทั้งหลัง เพราะมีพระราชดำริว่า หากทาสีหรือปูนขาวจะเปลืองแรงงานของพระสงฆ์ในการทะนุบำรุงรักษา แต่ถ้าเป็นหินอ่อน ไม่ลบไม่เลือนคงทนถาวร พระภิกษุสามเณรในวัดใช้เวลาปฏิบัติธรรมและศึกษาเล่าเรียนได้มากกว่า ส่วนยอดสุดนั้นประดับด้วยทองคำ

สำหรับเจ้าอาวาสวัดราชประดิษฐที่ผ่านมา นอกจากสมเด็จพระสังฆราช องค์ปฐมเจ้าอาวาส อีก 3 รูป คือ พระสาสนโสภณ (อ่อน อหึสโก) พระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส)
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ทิม อุฑาฒิโม) อังคารของทุกองค์บรรจุไว้ที่พระปรางค์เขมร หลังปาสาณเจดีย์

ถวายราชสักการะ  ‘พระมหากษัตริย์’ ณ ปราสาทพระบรมรูป

พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นพระบรมรูปหล่อโลหะขนาดเท่าพระองค์จริง ที่ฐานพระบรมรูปตกแต่งด้วยภาพปูนปั้นนูนต่ำระบายสีเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชประวัติแบบสามมิติทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านหน้าเป็นภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้านขวาของพระองค์เป็นภาพพระโกศทรงพระบรมศพในพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้านซ้ายเป็นภาพการถวายพระเพลิงพระบรมศพภายในปราสาทพระบรมรูป

พระบรมรูปนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ ช่างประติมากรหลวงประจำราชสำนักทรงปั้นหล่อมขึ้นเมื่อคราวพระราชพิธีสมาคาภิเษกสมโภช พ.ศ. 2428 จำลองจากพระบรมรูปในปราสาทพระเทพบิดร ในขณะนั้นยังประดิษฐานในพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท แก้ไขส่วนที่บกพร่องจากพระบรมรูปที่หลวงเทพรจนาปั้นไว้เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระชนม์อยู่