posttoday

ดันสตช.เป็นกระทรวง สลายดาวบนบ่าลดเหลื่อมล้ำ

23 มิถุนายน 2558

การปฏิรูปกิจการตำรวจเป็นหนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้เร่งปฏิรูปโดยเร็ว

โดย...เจษฎา จี้สละ

การปฏิรูปกิจการตำรวจเป็นหนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้เร่งปฏิรูปโดยเร็ว แต่ก็ต้องผิดหวังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กลับโยนให้เป็นภารกิจของรัฐบาลหน้า โดยอ้างว่าต้องใช้เวลาในการปฏิรูปเรื่องเร่งด่วนอื่นก่อน

ทว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. คณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการตำรวจ ภายใต้คณะกรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ อดีตรักษาการ ผบ.ตร. เป็นประธาน ได้นำร่างข้อเสนอการปฏิรูปกิจการตำรวจที่คณะอนุ กมธ.ฯ ได้จัดทำเสร็จเรียบร้อย มาจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

ข้อเสนอการปฏิรูปตำรวจของอนุ กมธ.ฯ คือ 1.การพัฒนาคุณภาพและศักยภาพข้าราชการตำรวจ เสนอให้ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายจะต้องผ่านการฝึกอบรมพื้นฐานวิชาชีพตำรวจอย่างน้อยในระดับเทียบเท่าอนุปริญญาขึ้นไป นอกจากนั้นยังเสนอให้ยกเลิกการแบ่งชั้นข้าราชการตำรวจระหว่างสัญญาบัตรและประทวน เพื่อให้ตำรวจมีความเท่าเทียมกัน รวมถึงปรับระบบยศและตำแหน่งที่สอดคล้องกับความรับผิดชอบ อาทิ ดาบตำรวจเป็นนายตำรวจเอก จ่าสิบตำรวจเป็นนายตำรวจโท สิบตำรวจเอก-โท-ตรี เป็นนายตำรวจตรี ผู้บังคับหมู่เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและเจ้าหน้าที่ชำนาญการ เป็นต้น

ส่วนการปฏิรูปการศึกษาตำรวจกำหนดให้ตำรวจระดับปฏิบัติการจะต้องสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ของโรงเรียนนายร้อยตำรวจและกองบัญชาการศึกษา รวมถึงจัดตั้งสถาบันการศึกษาวิจัยและพัฒนาข้าราชการตำรวจ โดยควบคุมนโยบายการศึกษาของตำรวจทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนนายร้อยตำรวจ กองบัญชาการศึกษา และกองวิจัย

2.การพัฒนาระบบงานสอบสวนและการอำนวยความยุติธรรมในชั้นตำรวจ เสนอให้มีการไกล่เกลี่ยคดีอาญาได้ในชั้นสอบสวน เพื่อลดจำนวนคดีและความยุ่งยากของประชาชน และปรับแท่งตำแหน่งพนักงานสอบสวนให้เป็นตำแหน่งเทียบเท่ารองสารวัตรถึงผู้บัญชาการ เพื่อให้สอดคล้องกับระบบบริหารงานบุคคลในสายงานสอบสวน รวมถึงพัฒนางานนิติวิทยาศาสตร์ โดยปรับโครงสร้างเป็นส่วนราชการระดับกรมหรือนิติบุคคล เพื่อความเป็นอิสระและความคล่องตัวในการบริหารราชการอีกด้วย

3.การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการ เสนอให้ โดยกำหนดให้ สตช.เป็นส่วนราชการมีฐานะเทียบเท่ากับกระทรวง แต่ยังคงใช้ชื่อว่า “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ” อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำหนดให้ตัดบทบัญญัติหรือข้อยกเว้นที่ให้อำนาจ ผบ.ตร.ในการแทรกแซงแก้ไขหรือระงับการใช้อำนาจของอธิบดี รวมถึงกำหนดให้ส่วนปฏิบัติการหลักที่ดูแลความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินประชาชนโดยตรง เป็นส่วนราชการระดับกรมและมีฐานะในนิติบุคคล นอกจากนั้นยังกำหนดให้มีการลดขนาดหน่วยงานในส่วนกลางและจำนวนตำแหน่งผู้บังคับบัญชาระดับสูง โดยยุบเลิกตำแหน่งที่ปรึกษา (สบ10) ตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. รวมถึงตำแหน่ง ผบช. ประจำ สง.ผบ.ตร. ออกทั้งหมด

นอกจากนี้ยังเสนอให้ปฏิรูปการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ โดยคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) จะต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์และวิธีคัดเลือก ผบ.ตร.ที่ชัดเจน ซึ่งคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เป็นผู้ออกกฎ ก.ตร. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีหัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรม ขณะที่ ก.ตร.ถูกตัดอำนาจในการแต่งตั้งออกทั้งหมด โดยโอนเป็นอำนาจของผู้บังคับบัญชาหัวหน้าส่วนราชการระดับกรม อย่างไรก็ตามยังเสนอให้ปรับโครงสร้างของ ก.ตร. โดยให้ ผบ.ตร.เป็นประธานกรรมการ เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองอีกด้วย

ทั้งนี้ การสัมมนาดังกล่าวมีการอภิปรายประเด็นการปฏิรูปโครงสร้างกิจการตำรวจอย่างกว้างขวาง อาทิ พล.ต.ท.ปัญญา มาเม่น ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า การกำหนดให้ส่วนปฏิบัติการหลักเป็นนิติบุคคลจะลดตำรวจที่อยู่ใต้อิทธิพลของท้องถิ่น เพราะดูแลกำลังคนได้อย่างอิสระ รวมทั้งส่งผลให้ตำรวจไม่ต้องวิ่งเต้นไปเป็น ผบ.ตร. เพราะมีอำนาจในการตัดสินใจในส่วนงานได้อีกด้วย

ด้าน พ.ต.อ.สัญญา เนียมประดิษฐ์ ผกก.ฝอ.10 กล่าวว่า เมื่อตำรวจยังกระจายอำนาจไปยังตำรวจส่วนอื่นได้ ก็ควรกระจายอำนาจไปยังจังหวัด เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพิจารณาแต่งตั้งตำรวจ เพราะตำรวจในพื้นที่จะได้รับความเป็นธรรมจากผู้บัญชาการในพื้นที่นั้นด้วย

“ทุกวันนี้ตำรวจระดับล่างไม่มั่นใจแล้วว่าการประเมินจะไปถึงเจ้านายระดับสูงหรือเปล่า กังวลว่าจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ฉะนั้นจึงควรที่จะให้อำนาจของตำรวจในส่วนนั้นและประชาชนร่วมกันคัดกรอง” พ.ต.อ.สัญญา กล่าว

ดังนั้น การปฏิรูปตำรวจจะบรรลุผลมากน้อยแค่ไหน อีกไม่นานจะมีความชัดเจน