posttoday

ศูนย์กลางจักรวาลที่วัดสุทัศนเทพวราราม

04 กรกฎาคม 2553

หากศึกษาประวัติและพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ทรงสร้างวัดสุทัศน์ใหญ่โตมโหฬาร เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลางจักรวาล

หากศึกษาประวัติและพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่ทรงสร้างวัดสุทัศน์ใหญ่โตมโหฬาร เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลางจักรวาล

โดย...สมาน สุดโต

ชื่อเรื่องที่ผมตั้งไว้ไม่เกินความจริง หากศึกษาประวัติและพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ที่ทรงสร้างวัดสุทัศน์ใหญ่โตมโหฬารให้เป็นศูนย์กลางกรุงเทพมหานคร (วัด) เปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลางจักรวาล (กรุงเทพฯ)

เมื่อเป็นศูนย์กลางจักรวาลจึงสร้างองค์ประกอบ เริ่มจากชื่อ ก่อนที่จะใช้ชื่อปัจจุบันเคยมีชื่อว่าวัดมหาสุทธาวาส ในสมัยรัชกาลที่ 1 วัดสุทัศนเทพธาราราม ในรัชกาลที่ 3 ส่วนชื่อวัดสุทัศนเทพวราราม รัชกาลที่ 4 พระราชทานให้ แต่ละชื่อมีความหมายว่าสุทัสสนนคร ที่ประทับของพระอินทร์ทั้งหมด และสุทัสสนนครยังเป็นศูนย์กลางสวรรค์ชั้นดาวดึงส์บนเขาพระสุเมรุอีกด้วย

พระโองการ

บันทึกของกรมหลวงนรินทรเทวีที่กล่าวว่า พระโองการรับสั่งให้สร้างวัดขึ้นกลางพระนครให้สูงเท่าวัดพนัญเชิง ให้พระพิเรนทรเทพขึ้นไปรับพระใหญ่ ณ เมืองโศกโขทัย ชะลอเลื่อนลงมากรุง ประทับท่าสมโภช 7 วัน โดยเริ่มจากการกำหนดพระฤกษ์ขุดรากพระวิหารหลวง วันจันทร์ที่ 1 ก.พ. 2350 เมื่อก่อสร้างเสร็จให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนีจากวิหารหลวงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัยมาประดิษฐานบนฐานชุกชีพระวิหารหลวง วันที่ 9 พ.ค. 2351
 
วัดประจำ ร.8

ศูนย์กลางจักรวาลที่วัดสุทัศนเทพวราราม

วันนี้ผมพาเข้าวัดสุทัศน์ทางด้านเสาชิงช้า เพื่อเข้าไปในบริเวณวิหารหลวง สิ่งแรกที่ผ่านคือซุ้มประตู หนังสือแนะนำวัดบอกว่านี่คือซุ้มประตูทรงจุลมงกุฎ หรือพระเกี้ยวแปลง หน้าบันปูนปั้นสวยงาม บานประตูไม้สองบาน วันที่ผมเข้าไปเป็นวันที่ 10 มิ.ย. ทางขวามือจึงเห็นหรีดจากหน่วยราชการและภาคเอกชนที่นำมาถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล

รัชกาลที่ 8 ซึ่งประดิษฐานที่ลานประทักษิณ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือพระวิหารหลวง เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคต (9 มิ.ย. 2489) ทั้งนี้เพราะเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8 โดยเมื่อพระองค์เสด็จมาแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะกับสมเด็จพระสังฆราช (แพ) ใน พ.ศ. 2489 ได้มีพระราชดำรัสกับผู้ใกล้ชิดว่า หากอุปสมบทจะมาประจำที่วัดนี้ เพราะร่มรื่นดีมาก ดังนั้นจึงควรไปถวายบังคมก่อนเดินไปไหว้พระและชมที่น่าสนใจอื่นๆ

ตามเอกสารของวัดบอกว่าวัดนี้มีของยิ่งใหญ่ที่ควรบูชา น่าดู น่าชมมากมาย เริ่มที่วิหารหลวงก่อน วิหารนี้เป็นอาคารเครื่องก่อขนาด 5 ห้อง กว้าง 23.84 เมตร ยาว 26.25 เมตร มีความสูงเด่นกว่าศาสนสถานอื่นๆ ทั้งหมด ฐาน 3 ชั้น แต่ละชั้นสูง 2 เมตร รวมแล้วสูง 6 เมตรจากพื้นดิน รอบพระวิหารมี ถะ หรือเจดีย์จีนประดิษฐานจำนวน 28 ถะ ด้วยกัน

หน้าบันวิหารเป็นไม้แกะสลักปิดทองประดับกระจกสี กรอบลายกนกเครือวัลย์ออกช่อเทพพนม กลางกรอบเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ถือว่าเป็นสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร เทพคือพระอินทร์ อาจหมายถึงพระมหากษัตริย์ซึ่งเปรียบเสมือนสมมติเทพ
หน้าบันของมุขวิหารเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ หมายถึงพระมหากษัตริย์แบ่งภาคจากเทพเพื่อคุ้มครองมนุษย์โลก

ร.2 ทรงแกะสลักบานประตู

บานประตูวิหารหลวงเป็นสิ่งน่าอัศจรรย์ของสยามประเทศ เป็นบานไม้ทั้งแผ่น กว้าง 1.30 เมตร สูง 5.64 เมตร หนา 0.16 เมตร แกะสลักลายลึกเป็นรูปพฤกษามีกิ่งก้านใบและดอกกระหวัดเกาะเหนี่ยวเหมือนธรรมชาติ ลวดลายเหล่านี้เป็นฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ที่ทรงกำหนดลักษณะลาย แบบวิธีการแกะ และเริ่มแกะด้วยพระองค์เองก่อน แล้วโปรดให้ช่างฝีมือแกะต่อ เป็นบานประตูที่งามหาที่เปรียบมิได้ บานประตูลายลึกมหัศจรรย์นี้มี 6 ประตู ด้านหน้า 3 ด้านหลัง 3 แต่ละด้านมีประตูกลาง 1 ประตู และด้านข้าง 2 ประตู

บานประตูกลางที่เห็นด้านหน้านั้น แต่เดิมอยู่ด้านหลัง ที่ย้ายมาเพราะบานประตูกลางด้านหน้าบานหนึ่งถูกไฟไหม้ บางส่วนได้นำไปเก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนครในขณะนี้

บานประตูกลางด้านหลังที่เห็นนั้น สร้างขึ้นใหม่เป็นลายรดน้ำพันธุ์พฤกษา เพื่อแทนบานที่ย้ายไปด้านหน้า

พระศรีศากยมุนี

ศูนย์กลางจักรวาลที่วัดสุทัศนเทพวราราม

ตามที่อ้างไว้ข้างต้นว่าพระประธานนี้ชะลอมาจากเมืองโศกโขทัย เป็นพระพุทธรูปหล่อสำริดที่กล่าวกันว่าใหญ่กว่าทุกองค์ที่มีในสยามประเทศ หน้าตักกว้าง 6.25 เมตร สร้างโดยพระมหาธรรมราชาลิไท ระหว่าง พ.ศ. 1890-1919 เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา ครองจีวรห่มเฉียง ชายสังฆาฏิยาวถึงระดับพระนาภี ปลายเป็น 2 แฉกเขี้ยวตะขาบ ลักษณะพระองค์ค่อนข้างสั้น บั้นพระองค์เล็ก พระอังสาใหญ่ หัวพระถันโปน เส้นพระศกขมวดเล็กแบบก้นหอย พระพักตร์รูปไข่เกือบกลม พระขนงโก่งแยกจากกัน ระหว่างพระขนงมีอุณาโลมคั่นอยู่ พระนาสิกงุ้ม พระโอฐยิ้มเล็กน้อย พระหนุกลม

ที่ประดิษฐานพระศรีศากยมุนีเป็นชุกชีแบบฐานลายแข้งสิงห์ ตลอดทั้งฐานชุกชีประดับลายปูนปั้นเป็นลายดอก ลายเถา ลายเทศ ปิดทองคำเปลวประดับกระจกสีทั้งหลัง

ด้านหลังฐานชุกชีเป็นภาพศิลาสลักนูนต่ำ สูง 2.40 เมตร กว้าง 0.95 เมตร เป็นสมบัติชิ้นเอกของวัดชิ้นหนึ่ง มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-13 เล่าเรื่องพุทธประวัติตอนยมกปาฏิหาริย์ และตอนเทศนาโปรดพระพุทธมารดาที่ดาวดึงส์ รอบผนังเป็นจิตรกรรมฝาผนังเป็นอดีตพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ มีจารึกบนแผ่นศิลาอธิบายภาพบอกประวัติพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์

เสาวิหารไม่ได้ปล่อยให้ว่างเปล่า หากแต่ทั้ง 8 ต้นที่เป็นเสาประธานมีภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องไตรภูมิโลกยสันฐาน พร้อมศิลาจารึกบอกเล่าเรื่องแต่ละภาพ

วิหารเปิดให้ประชาชนเข้าสวดมนต์ ภาวนา ฟังพระธรรมเทศนาทุกวันตั้งแต่ 08.00 น. เป็นต้นไป

ลงจากวิหารจะเห็นม้าหล่อด้วยสำริด โดยช่างสมัยรัชกาลที่ 3 ประมาณ พ.ศ. 2389 ตั้งอยู่ตามมุมต่างๆ ของวิหารอีก 8 ตัว ม้าเหล่านี้สมมติว่าเป็นม้ากัณฐกะ พาหนะที่เจ้าชายสิทธัตถะใช้เป็นพาหนะออกบวช ด้านหลังวิหารเขาพระสุเมรุและป่าหิมพานต์จำลอง มีศิลาสลักเป็นฤาษี สัตว์ต่างๆ อีกหลายชนิด สมมติว่าเป็นเขาพระสุเมรุศูนย์กลางจักรวาล เดิมเป็นฉากสำหรับแสดงโขนกลางแปลงในรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ 3 ทรงนำมาถวายพระอารามแห่งนี้

วิหารคดโดยรอบพระวิหารมี 4 ด้าน เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทอง 156 องค์ ออกจากวิหารมองไปรอบๆ จะพบสัตตมหาสถานที่พระพุทธเจ้าทรงเสวยวิมุตติสุขหลังตรัสรู้เมื่อวันเพ็ญวิสาขมาส รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น

ศูนย์กลางจักรวาลที่วัดสุทัศนเทพวราราม

เดินไปด้านในจะพบพระอุโบสถที่ทางวัดบอกว่าโบสถ์ยาวใหญ่กว่านี้ในประเทศนี้ไม่มีอีกแล้ว มีความกว้าง 22.60 เมตร ยาว 72.25 เมตร สร้างปี 2377 แล้วเสร็จปี 2386 ในรัชกาลที่ 3

หน้าบันอุโบสถด้านทิศตะวันออกเป็นไม้แกะสลักลวดลายรูปพระอาทิตย์ทรงราชรถเทียมราชสีห์ ด้านตะวันตกเป็นรูปพระจันทร์ทรงราชรถเทียมม้า บานประตูพระอุโบสถเป็นลายรดน้ำและรูปวิมานเมืองสุทัสสนนคร เมืองของพระอินทร์ พระประธานในอุโบสถมีนามว่า พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 หน้าตักกว้าง 10 ศอก 8 นิ้ว ปางมารวิชัย ด้านหน้าพระประธานมีรูปหล่อพระอรหันตสาวก 80 องค์ ที่รัชกาลที่ 4 ทรงให้สร้างด้วยปูนปั้นลงสี เพื่อแทนพระศรีศาสดาที่ให้อัญเชิญไปเป็นพระประธานพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร

นอกจากนั้นเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่แบ่งเป็นส่วนต่างๆ ถึง 11 ส่วน แต่ละส่วนเป็นภาพเล่าเรื่องต่างกัน แต่ส่วนมากเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ปัจเจกพุทธเจ้า ชาดก รามเกียรติ์ ภาพสุทัสสนนคร ภาพพระอิศวรพันกรแห่งศาสนาฮินดู และที่น่าทึ่งมากบนผนังทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ คือ มีภาพเหมือนการล้างเท้าของพระเยซูคริสต์

สังฆาวาส

ในเขตสังฆาวาสมีศาลาการเปรียญที่สร้างสมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2397) ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไม่มีช่อฟ้าหางหงส์ หน้าบันปูนปั้นลายเถา ภายในศาลาประดิษฐานพระพุทธเสฏฐมุนี ที่รัชกาลที่ 3 ให้หล่อขึ้นจากกลักฝิ่นที่ปราบจากหัวเมืองต่างๆ
ส่วนกุฏิสงฆ์นั้นเป็นทรงไทยชั้นเดียว ยกพื้นสูง สร้างไว้เป็นตึกแถวยาว มีถนนคอนกรีตคั่นกลางเป็นตาราง แบ่งเป็น 3 แถว 11 หมู่ 15 คณะ แต่ละคณะยังแบ่งเป็นคณะใหญ่ 3 คณะ คณะย่อม 8 คณะ และคณะขนาบยาวอีก 4 คณะ

นี่คือสภาพศูนย์กลางจักรวาลกลางกรุงเทพมหานคร ที่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ทรงออกแบบและสร้างสรรค์ไว้ เมื่อไปกราบไหว้บูชาพระศรีศากยมุนี หรือพระพุทธตรีโลกเชษฐ์ ควรที่จะถวายพระราชกุศลแด่พระมหากษัตริย์ และบุรพมหากษัตริย์ทุกๆ พระองค์ เพราะหากไม่ใช่บุญบารมีของพระองค์ท่าน เราชาวไทยจะไม่มีสิ่งนี้ วันนี้ ขอจงทรงพระเจริญ