posttoday

ศึกษาดร.อัมเบ็คก้าร์ กรณีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในชมพูทวีป(๗)

20 กันยายน 2552

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

จากการกล่าวปราศรัยดังกล่าวเท่ากับเป็นการประกาศว่าดร.อัมเบ็คก้าร์ พร้อมที่จะเปลี่ยนไปนับถือพุทธศาสนาอย่างแน่นอน โดยต้องการประกอบพิธีปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะอย่างถูกต้องตามศาสนพิธี ซึ่งต่อมาได้มีการจัดพิธีดังกล่าวขึ้นที่เมืองนาคปุระ (Nagpur) เมื่อวันที่ ๑๔ ต.ค. ปีพ.ศ. ๒๔๙๙ (14th October 1956) พิธีครั้งนั้นถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนศาสนาครั้งมโหฬาร (Great Conversion) โดยมีตัวเลขที่อ้างอิงจากรายงานใน PRABUDDHA BHARAT ว่ามีผู้คนเข้าร่วมพิธีในครั้งนั้นถึง ๕ แสนคน เพื่อปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ โดยมีพระภิกษุร่วมเป็นสักขีพยานด้วย ๓ รูป ทั้งนี้ในพิธีดังกล่าว นอกจากได้กล่าวปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะแล้ว ยังกล่าวคำปฏิญญา ๒๒ ข้อ ตาม ดร.อัมเบ็คก้าร์ ดังนี้

๑.ข้าพเจ้าจะไม่บูชาพระพรหม พระศิวะ พระวิษณุต่อไป
๒.ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อว่าพระราม พระกฤษณะ เป็นพระเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่เคารพต่อไป
๓.ข้าพเจ้าจะไม่เคารพบูชาเทวดาทั้งหลายของศาสนาฮินดูต่อไป
๔.ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อลัทธิอวตารต่อไป
๕.ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อว่า พระพุทธเจ้าคืออวตารของพระวิษณุ การเชื่อเช่นนั้น คือคนบ้า
๖.ข้าพเจ้าจะไม่ทำพิธีสารท และบิณฑบาตแบบฮินดูต่อไป
๗.ข้าพเจ้าจะไม่ทำสิ่งที่ขัดต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า
๘.ข้าพเจ้าจะไม่เชิญพราหมณ์มาทำพิธีทุกอย่างไป
๙.ข้าพเจ้าเชื่อว่าทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้มีศักดิ์ศรีและฐานะเสมอกัน
๑๐.ข้าพเจ้าจะต่อสู้เพื่อความมีสิทธิเสรีภาพเสมอกัน
๑๑.ข้าพเจ้าจะปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ โดยครบถ้วน
๑๒.ข้าพเจ้าจะบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ โดยครบถ้วน
๑๓.ข้าพเจ้าจะแผ่เมตตาแก่มนุษย์และสัตว์ทุกจำพวก
๑๔.ข้าพเจ้าจะไม่ลักขโมยคนอื่น
๑๕.ข้าพเจ้าจะไม่ประพฤติผิดในกาม
๑๖.ข้าพเจ้าจะไม่พูดปด
๑๗.ข้าพเจ้าจะไม่ดื่มสุรา
๑๘.ข้าพเจ้าจะบำเพ็ญตนในทาน ศีล ภาวนา
๑๙.ข้าพเจ้าจะเลิกนับถือศาสนาฮินดู ที่ทำให้สังคมเลวทราม แบ่งชั้นวรรณะ
๒๐.ข้าพเจ้าเชื่อว่าพุทธศาสนาเท่านั้นที่เป็นศาสนาที่แท้จริง
๒๑.ข้าพเจ้าเชื่อว่าการที่ข้าพเจ้าหันมานับถือพระพุทธศาสนานั้นเป็นการเกิดใหม่ที่แท้จริง
๒๒.ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะปฏิบัติตนตามคำสอนของพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด

หลังจากปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะแล้ว ดร.อัมเบ็คก้าร์ได้กล่าวเป็นสัตยาธิษฐานว่า “ข้าพเจ้าเกิดมาจากตระกูลที่นับถือศาสนาฮินดู แต่ข้าพเจ้าจะขอตายในฐานะพุทธศาสนิกชน”

พิเคราะห์ปฏิญญา ๒๒ ข้อของดร.อัมเบ็คก้าร์

จากคำปราศรัยดังกล่าวสามารถแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการก้าวสู่ดินแดนพระพุทธศาสนา ซึ่งได้ศึกษาหลักพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้ามาดีแล้วพอควร จึงนำพระพุทธวจนะมากล่าวอ้างอิงแสดงให้เห็นถึงหลักธรรมของพระพุทธศาสนาที่ปฏิเสธระบบวรรณะเป็นอเทวนิยม และให้เสรีภาพและภราดรภาพโดยธรรมแก่ทุกๆ คน ดังคำกล่าวปราศรัยของดร.อัมเบ็คก้าร์ที่ว่า “พระพุทธเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอมาจากตระกูลต่างๆ กันย่อมมีความเสมอกันเมื่อมาสู่พระธรรมวินัยนี้แล้ว เหมือนมหาสมุทรย่อมเป็นที่รวมของแม่น้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำและทะเลต่างๆ เมื่อมาสู่มหาสมุทรแล้ว ก็ไม่สามารถจะแยกได้ว่า น้ำส่วนไหนมาจากที่ใด”

จากหลายๆ ครั้งที่ดร.อัมเบ็คก้าร์บรรยายเรื่องพระพุทธศาสนา หรือกล่าวสดุดีพระพุทธเจ้า โดยเขียนหนังสือเผยแผ่พระพุทธธรรมหลายเล่ม แสดงให้เห็นถึงความสนใจพระพุทธศาสนามานานแล้วจึงสรุปได้อย่างตรงหลักธรรมว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่มีข้อรังเกียจเรื่องชนชั้นวรรณะ ไม่ปิดกั้นการศึกษาพระธรรม ให้ความเสมอภาคภราดรแก่คนทุกชั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความศรัทธาเลื่อมใสของดร.อัมเบ็คก้าร์ที่ตกผลึกอย่างมีความรู้ มีความเข้าใจ จึงได้วางแผนที่จะเข้าสู่การปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ พร้อมกับหมู่ชนชาวอธิศูทร เพื่อต้องการเปลี่ยนศาสนามาตั้งแต่พุทธศักราช ๒๔๙๐ แต่เหตุการณ์ยังไม่อำนวย จนเข้าสู่พุทธศักราช ๒๔๙๙ จึงนำชาวอธิศูทรจำนวน ๕ แสนคน เข้าพิธีปฏิญาณตนโดยเลือกเมืองนาคปุระ เป็นเมืองปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ ทั้งนี้เพราะเมืองนาคปุระมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์พุทธศาสนา โดยดร.อัมเบ็คก้าร์ได้กล่าวชักชวนให้ทุกคนทำหน้าที่เป็นชาวพุทธที่ดี ช่วยกันศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาให้มากๆ และขอให้ช่วยกันเผยแพร่พระพุทธศาสนาต่อไป

เมื่อพิจารณาดูปฏิญญา ๒๒ ข้อ ของ ดร.อัมเบ็คก้าร์ จะเห็นได้ว่า เขาพยายามวางรากฐานให้กับชาวพุทธใหม่ที่เปลี่ยนมาจากการนับถือศาสนาฮินดู อันคุ้นเคยกับเทพเจ้าตามคัมภีร์มหาภารตะ ที่พราหมณ์แต่งขึ้นมายาวนาน จึงได้วาง ๖ ข้อแรกไว้อย่างแจกแจงว่า จะไม่บูชา...จะไม่เชื่อในเรื่องเทพเจ้าทั้งหลายของศาสนาฮินดูอีกต่อไป และจะไม่เชื่อลัทธิอวตาร โดยเฉพาะการกล่าวอ้างว่า พระพุทธเจ้าคืออวตารของพระวิษณุที่พราหมณ์แต่งขึ้น

อ่านต่อฉบับหน้า

**ส่งคำถามหรือ แสดงความเห็นในเรื่องต่างๆได้ที่ คอลัมน์ธรรมส่องโลก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ อาคารบางกอกโพสต์ 136 ถนน ณ ระนอง แยกสุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110 โทรสาร 02-671-3132