posttoday

ครูบาพรหมจักรผู้เจริญตามรอยพุทธบาท

27 มิถุนายน 2553

แม้จะละขันธ์ไปแล้ว แต่นาม ครูบาพรหมจักร วัดพระพุทธบาทตากผ้านั้นยังอยู่ แต่การรับรู้ของผู้คนนั้นยังห่างความเป็นจริงมากนัก

แม้จะละขันธ์ไปแล้ว แต่นาม ครูบาพรหมจักร วัดพระพุทธบาทตากผ้านั้นยังอยู่ แต่การรับรู้ของผู้คนนั้นยังห่างความเป็นจริงมากนัก

โดย...ภัทระ คำพิทักษ์

แม้จะละขันธ์ไปแล้ว แต่นาม ครูบาพรหมจักร หรือครูบาพรหมา พรหมจักโก หรือ พระสุพรหมยานเถร วัดพระพุทธบาทตากผ้านั้นยังอยู่ แต่การรับรู้ของผู้คนนั้นยังห่างความเป็นจริงมากนัก

แน่นอนว่ามีแต่นักปฏิบัติผู้ล่วงมรรคาแห่งผู้รู้ด้วยเท่านั้นถึงจะรู้อย่างผู้รู้ แต่ในชั้นนี้ลองรู้จักครูบาพรหมจักรผ่านสายตาครูบาอาจารย์ที่นับว่าเป็น สุปฏิปันโน หมู่พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดี อุชุปฏิปันโน พระสงฆ์สาวกผู้ปฏิบัติตรง ญายปฏิปันโน พระสงฆ์สาวกผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์ สามีจิปฏิปันโน พระสงฆ์สาวกผู้ปฏิบัติสมควร บางท่านดังนี้

“...รู้สึกเสมือนหนึ่งเป็นเพื่อนร่วมอาจารย์กัน คือ ธรรมะที่มีลักษณะเดียวกัน ชอบใจธรรมะร่วมกัน อีกทางหนึ่งรู้สึกเหมือนท่านเป็นอาจารย์ของข้าพเจ้า คือ ความอ่อนโยนนิ่มนวลของท่าน ซึ่งข้าพเจ้าต้องจำไว้เป็นครู เพราะข้าพเจ้าไม่มีความนิ่มนวลเห็นปานนั้น บัดนี้ข้าพเจ้าก็ยังไม่มีความนิ่มนวลอ่อนโยนเหมือนท่าน ท่านเป็นมนุษย์ชั้นเลิศผู้หนึ่งซึ่งควรจะมีอายุยืนยาวนานกว่านี้ เพื่อประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลายนานยิ่งขึ้นไป”

ครูบาพรหมจักรผู้เจริญตามรอยพุทธบาท

นั่นคือคำกล่าวถึงครูบาพรหมจักรของ ท่านพุทธทาส อินทปัญโญ แห่งสวนโมกขพลารามพระภิกษุที่ท่านพุทธทาสยกย่องถึงปานนี้ย่อมไม่ธรรมดา

ครูบาพรหมจักรเกิดในสกุลชาวไร่ชาวนา บ้านป่าแพ่ง ต.แม่แรง อ.ปากป่อง จ.ลำพูน ซึ่งปัจจุบันคือ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เมื่อวันอังคารที่ 3 ส.ค. พ.ศ. 2441 เป็นบุตรของนายเป็ง พิมสาร และนางบัวถา พิมสาร มีพี่น้องรวมทั้งสิ้น 13 คน

หากจะกล่าวว่าครอบครัวพิมสารเป็นครอบครัวบุญก็คงจะกล่าวได้ เพราะพ่อแม่สนใจในการบุญจึงพาลูกๆ ไปทำบุญสุนทานตั้งแต่เด็ก ครูบาพรหมจักรนั้นบวชเป็นเณรตั้งแต่อายุ 15 ปี ใน พ.ศ. 2455 พออายุครบ 20 ปี ก็อุปสมบทที่วัดป่าเหียง โดยมีเจ้าอธิการแก้ว ขันติโย เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ 16 ม.ค. พ.ศ. 2461

ครอบครัวนี้เป็นครอบครัวน่าอัศจรรย์ กล่าวคือ

ลูกชาย 3 ใน 7 คนก็ได้ออกบวช ทุกรูปล้วนแต่เจริญในธรรมและเจริญสมณศักดิ์ได้เป็นเจ้าอาวาสด้วยกันทั้งหมดนั่นคือ 1.พระสุธรรมยานเถระ หรือ ครูบาอินทจักร์รักษา วัดน้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ 2.ครูบาพรหมจักร วัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน 3.พระครูสุนทรคัมภีรญาณ หรือ ครูบาคัมภีระ วัดพระธาตุดอยน้อย อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่

ทั้ง 3 รูป มีพรรษาห่างกันท่านละ 2 ปีพอดิบพอดี พอน้องชายบวชในปีที่ 6 หลังจากนั้นอีก 2 ปี ล่วงเข้าปีที่ 8 ก็ถึงคราวโยมพ่ออุปสมบท

นายเป็ง ออกบวชเมื่ออายุ 62 ปี “ครูบาเป็ง โพธิโก” บวชได้ 28 พรรษา ก็มรณภาพขณะอายุ 90 ปี อยู่ประจำที่วัดป่าหรองเจดีย์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ขณะที่มารดาก็ถือศีลนุ่งขาวห่มขาวจนสิ้นอายุ

บวชได้หนึ่งปี ครูบาพรหมจักร เข้าสอบนักธรรมที่วัดเชตุพน จ.เชียงใหม่ ปีนั้นมีพระเข้าสอบเป็นร้อยรูป แต่สอบได้เพียง 2 รูป หนึ่งในนั้นก็คือครูบาพรหมจักร พระผู้ใหญ่เห็นแววจึงขอให้มาศึกษาต่อที่ กทม. แต่พระอุปัชฌาย์และพี่น้องทัดทาน พระอุปัชฌาย์ชี้ทางสว่างท่านว่า “ถ้ารักตัวก็จงตั้งใจปฏิบัติธรรม”

ท่านแสวงหาความรู้จากครูบาอาจารย์หลายรูป เช่น ครูบาอินทจักร์รักษา พี่ชาย ครูบาแสน ญาณวุฑฒิ วัดหนองเงือก ครูบาบุญมาบารมี วัดก่อม่วง ครูบาอนุธรรมวุฒิ ฯลฯ เป็นเวลานาน 4 ปี พอถึงวันที่ 29 ก.ค. พ.ศ. 2464 ในพรรษา 4 ท่านจึงกราบลาพระอุปัชฌาย์และพี่น้องออกปฏิบัติธรรมตามป่าเขา

ครูบาธรรมชัย ธัมมชโย วัดทุ่งหลวง จ.เชียงใหม่ หนึ่งในคณะธุดงค์ชุดนั้นเล่าว่า คณะครูบา 4 พ่อลูกได้ออกธุดงค์ตั้งแต่ พ.ศ. 2478 เริ่มจากวัดป่าหนองเจดีย์ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ไปวัดพระธาตุจอมทอง วัดพระธาตุโมคคัลลานะ ดอยเต่า ดอยเกิ้ง ทะลุออก อ.ลี้ อ.แม่สอด จ.ตาก ออกบ้านท่าสองยาง บ้านผาเงา วกกลับเข้าลำพูน

ครูบาพรหมจักร จาริกหลีกเร้นปฏิบัติเป็นเวลาร่วม 20 ปี จาริกไปทั่วแถบภาคเหนือ ข้ามไปยันพม่า ถือวัตรปฏิบัติฉันหนเดียว เดินจงกรม ปฏิบัติกรรมฐานอย่างแน่วแน่ตั้งแต่หนุ่มจนแก่เฒ่า

ท่านมาหยุดวิเวกเอาเมื่อครูบาบุญเป็งชรามากแล้ว พระลูกทั้ง 3 จึงอยากให้พระพ่อได้พัก จึงแยกย้ายกันอยู่ใน 4 สำนักดังกล่าว
ผลของการปฏิบัติเป็นอย่างไร?

เรื่องนี้ พระสุธรรมยานเถระ หรือ พระมหาวีระ ถาวโร หรือที่รู้จักกันทั่วไปในนาม หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี เขียนไว้ว่า เมื่อ พ.ศ. 2504 ขณะนั้นท่านเอง “ยังเป็นเด็กที่เพิ่งจะลืมตาเห็นโลกได้ในระยะใกล้ ระยะไกลยังมองไม่เห็น เพราะยังต้วมเตี้ยมในธรรมปฏิบัติ จึงสนใจพระที่ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเพื่อขอความรู้คำแนะนำจากท่าน...”

ปีนั้นท่านไปถึง จ.ลำพูน แล้วแวะเยี่ยมคุณแม้นเทพ ศุภนคร สรรพากรจังหวัดลำพูน เมื่อพบกันได้ถามว่าแถวนั้นมีพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไหม คุณแม้นเทพ ว่า มีที่วัดพระพุทธบาทตากผ้า “ท่านปฏิบัติดีมาก”

นั่นคือคำบอกเล่าสั้นๆ ซึ่งกินความได้ทั้งหมด

ครูบาพรหมจักรผู้เจริญตามรอยพุทธบาท

เมื่อหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ปรารภว่า อยากไปกราบนมัสการ คุณแม้นเทพกลับว่า “ไม่ไหว ท่านดีแต่ท่านไม่พูด เคยเอาผ้าป่าไปถวายตั้งหมื่นบาท ท่านออกมานั่งเฉย เราพูดคำ ท่านก็ตอบคำ ไม่พูดต่อ”

“อาตมาก็คะนองปากพูดล้อเธอว่า ถ้าไม่พูดก็เอาไม้ทิ่มปากเสียก็แล้วกัน จะได้พูดเป็น...”

รุ่งขึ้นคณะชุดนี้ก็ไปวัดพระพุทธบาทตากผ้า สรรพากรจังหวัดเข้าไปกราบก่อน ออกมาแล้วกราบเรียนหลวงพ่อฤาษีลิงดำว่า “วันนี้ดีกว่าวันนั้นมาก เพราะออกมาแล้วนั่งหลับตาปี๋เลย ไม่พูดไม่จากับใครทั้งหมด อาตมาฟังแล้วก็มีความรู้สึกว่าวันนี้คงพบละครโรงใหญ่แสดงบทพิเศษแน่ ด้วยพระขนาดนั้นไม่รู้อะไรเลย ไม่มี เว้นไว้แต่จะพูดหรือไม่พูดเท่านั้น”

เมื่อหลวงพ่อฤาษีลิงดำเข้าไปกราบนมัสการครูบาพรหมจักรด้วยความเคารพ ปรากฏว่า

“คราวนี้ท่านพูดเก่งมาก พูดกับคนโน้นคนนี้ไม่หยุดปากเลย ขณะที่ท่านพูดอยู่อาตมาก็คิดในใจว่า ท่านบรรลุขั้นไหน ที่คิดอย่างนี้ไม่ใช่อวดวิเศษ คิดด้วยความชื่นชอบในปฏิปทาของท่าน เมื่อคิดอย่างนั้นแล้ว อารมณ์ใจที่ใช้เป็นปกติก็อยากรู้กำลังใจ แต่ท่านผู้อ่าน...เป็นเรื่องจริงที่หาได้ยาก นั่นก็คือ มองใจท่านไม่เห็น มืดตื้อไปหมด

ที่เป็นอย่างนี้ไม่ใช่ท่านมืด แต่เป็นเพราะอาตมาพบของจริงเข้า นั่นคือเด็กไม่สามารถเสมอผู้ใหญ่ได้ หรือคนตามัวไม่สามารถมองเห็นอณูเล็กๆ ได้ นั่นก็คืออาตมามีอารมณ์ใจเลวกว่าท่านมาก จึงไม่สามารถเห็นอารมณ์ใจของท่านได้

ทันทีที่ต้องการรู้อารมณ์ใจของท่าน ท่านก็หันมาพูดทันทีว่า คนเรานี่แปลกนะ เห็นคนอื่นเขาได้ ก็คิดว่าตนเองจะได้บ้าง ท่านพูดตรงกับอารมณ์ที่นึกอยู่พอดี จึงแน่ใจว่าท่านองค์นี้เป็นพระที่ควรบูชาอย่างยิ่งองค์หนึ่ง...”

เมื่อถึงเวลาพอสมควร ทุกคนอำลาเตรียมตัวกลับ โดยแวะชมสถานที่ก่อน ระหว่างนั้นหลวงพ่อฤาษีลิงดำได้ขออนุญาตคุยกับครูบาพรหมจักรเพียงลำพังสองรูป

“เมื่อปลอดคนก็เรียนถามท่านว่า ท่านปรารถนาพุทธภูมิหรือตัดตรงไปเลย”

“ท่านตอบว่า ตัดตรงไปเลยดีกว่า เป็นอันทราบว่าท่านมุ่งอะไร จึงได้เรียนถามท่านถึง สังโยชน์สิบ บอกท่านว่าต้องการศึกษา ท่านยิ้มแล้วท่านก็อธิบายย่อสังโยชน์ถึงข้อห้า แล้วกลับต้นใหม่ รวม 3 รอบ ท่านบอกว่า ผมเข้าใจจริงๆ เท่านี้เองครับ ฟังแล้วเมื่อเทียบกับตำราที่เคยรับทราบมา ถ้าตำราไม่โกหกก็ต้องยอมรับว่า ท่านบรรลุพระอนาคามี เมื่อคิดว่า เวลานี้ท่านทรงอนาคามีและกำลังอยู่ในอรหัตมรรค มองหน้าท่านไม่ได้พูดด้วยวาจา ท่านมองหน้าแล้วท่านก็ยิ้ม ท่านพูดออกมาโดยที่ไม่ได้ถามว่า ใช่แล้ว”

พูดชัดๆ ก็คือ ใน พ.ศ. 2504 ครูบาพรหมจักรบรรลุพระอนาคามี กำลังอยู่ในอรหัตมรรค ความข้อนี้เป็นบทสรุปที่กังวานขึ้นในใจของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ โดยองค์ท่านเองตอบรับออกมาเองว่า “ใช่แล้ว”

8 ปีถัดมา พระอาจารย์เปลี่ยน ปัญญาปทีโป วัดป่าอรัญญวิเวก อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ พระสุปฏิปันโนอีกรูปหนึ่งในวงกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น ได้ไปกราบนมัสการครูบาพรหมจักรเป็นครั้งแรก ท่านว่าเมื่อเดินตามครูบาพรหมจักรไปที่กุฏิ สังเกตดูวัดเป็นระเบียบเรียบร้อย ครูบาท่านก็มีศีลาจารวัตรนุ่มนวล พูดจาอ่อนหวาน เมื่อนำผ้าไตรเข้าไปถวาย “ท่านก็รับผ้าไตรด้วยความอ่อนน้อม สมกับเป็นครูบาอาจารย์ที่ได้ฝึกอบรมมาดีแล้วจริงๆ...”

หลังจากสนทนาไต่ถามกันถึงการปฏิบัติ พระอาจารย์เปลี่ยนก็มีข้อสรุปตั้งแต่พบกันครั้งแรกว่า “ท่านพูดไปแล้วก็ยิ้มๆ ไปแบบท่านมีเมตตาต่อเรา และท่านก็อยู่แบบมีความสุขอยู่ในจิตใจของท่านตลอด เมื่อข้าพเจ้าได้นั่งสนทนากับท่านครูบาอยู่บนกุฏิของท่านในครั้งแรก และดูกิริยาท่าทางในการยืน เดิน นั่ง พูดจาปราศรัยกับท่านอยู่ ก็พอเข้าใจได้ว่าท่านครูบาเจ้าองค์นี้ต้องมีคุณธรรมสูง น่าเลื่อมใสศรัทธาในตัวท่านว่าเป็นพระปฏิบัติดี มีศีลาจารวัตรในคุณธรรมอันงามทางพระพุทธศาสนา...”

ว่ากันว่าใครได้พบล้วนแต่ลงความเห็นเป็นเช่นนั้น แม้แต่ในหมู่พระสงฆ์ก็บอกเช่นเดียวกัน

ครูบาพรหมจักรสร้างทั้งคนทั้งวัด วัดพระพุทธบาทตากผ้ามีทั้งสำนักโรงเรียนพระปริยัติ นักธรรมบาลี และสำนักปฏิบัติธรรมวิปัสสนากรรมฐาน วัดเจริญรุ่งเรืองจนได้รับการยกย่องว่าเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง ศิษย์ในสำนักของท่านนั้นเรียนทั้งปริยัติและลงมือปฏิบัติ มีศิษย์ที่เป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น อาทิ ครูบาชัยยะวงศา วัดพระบาทห้วยต้ม ฯลฯ

ท่านเป็นที่นับถือสักการะของทั้งเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินและประชาชนทั่วไป เมื่อเจริญธรรมเจริญชนม์มากระทั่งวัย 87 ปี พรรษาที่ 67 |สังขารที่ร่วงโรยประดุจไม้แห้งก็หลุดจากขั้ว

เช้ามืดวันที่ 17 ส.ค. พ.ศ. 2527 พอออกจากจำวัด ท่านลุกขึ้นนั่งสมาธิแล้วก็ดับขันธ์ไปในท่านั่งสมาธิภาวนา เมื่อเวลา 06.00 น.
มีงานพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุชั่วคราววัดพระพุทธบาทตากผ้า อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เมื่อวันเสาร์ที่ 30 ม.ค. พ.ศ. 2531 ครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จไปพระราชทานเพลิงครูบาเจ้าพรหมจักรด้วยพระองค์เอง เมื่อเก็บอัฐิปรากฏว่าอัฐิธาตุของท่านได้แปรสภาพเป็นพระธาตุ มีวรรณะสีต่างๆ หลายสีให้เห็นโดยทั่วกัน

ท่านแนะวิธีก้าวสู่หนทางอันประเสริฐนี้ไว้ว่า “ขอให้ท่านทั้งหลายจงเก็บกำข้อธรรมะไว้ประจำจิตประจำใจ ธรรมะที่ควรตั้งไว้ในจิตในใจนั้น ท่านแสดงไว้ 4 ประการด้วยกัน

ข้อ 1 ปัญญา ความรอบรู้

ข้อ 2 สัจจะ ความจริงใจ คือประพฤติสิ่งใดก็ให้ได้จริง

ข้อ 3 จาคะ สละสิ่งเป็นข้าศึกแก่ความจริงใจ และ

ข้อ 4 อุปสมะ สงบใจจากสิ่งเป็นข้าศึกแก่ความสงบ รวมเป็น 4 ประการด้วยกัน

ท่านทั้งหลาย ธรรมะ 4 ประการนี้ท่านเรียกว่า อธิษฐานธรรม คือ ธรรมที่ควรตั้งไว้ในใจ มี 4 อย่างตามใจความที่ได้กล่าวมานี้”