posttoday

พระกริ่งและพระชัยวัฒน์นวลจันทร์

26 เมษายน 2558

พ.ศ. 2512 เป็นปีครบรอบชาตกาล 72 ปีของ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร)

โดย...ประสาร ปัจฉิมชน

พ.ศ. 2512 เป็นปีครบรอบชาตกาล 72 ปีของ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร)

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์รูปนี้เป็นพระมหาเถระในฝ่ายธรรมยุต นอกจากเป็นศิษย์ของ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสฺโส อ้วน) และพระศาสนดิลก (ชิตเสโน เสน) แล้ว ท่านยังเป็นเจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กทม. เป็นผู้ช่วยเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา รองเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา เจ้าคณะธรรมยุต 3-4-5 เจ้าคณะภาค 8-9-10-11 สมาชิกสังฆสภา สังฆมนตรี กรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุต กรรมการคณะธรรมยุต ฯลฯ และน่าสนใจว่า

เคยเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชถึง 3 ครั้ง

พระกริ่งและพระชัยวัฒน์นวลจันทร์

 

ในโอกาสฉลองชาตกาลครบ 6 รอบของท่าน ในวันที่  1 พ.ค. 2512 มีการสร้างพระบูชา พระกริ่ง และพระชัยวัฒน์ สมเด็จทุ่งบางเขน ขึ้น

หลังพิธีเสร็จสิ้นไปแล้ว คนกลับไม่ค่อยเรียกพระชุดนี้ว่า พระบูชา พระกริ่ง และพระชัยวัฒน์ สมเด็จทุ่งบางเขน อย่างที่มีการขนานพระนามกันไว้แต่แรก แต่กลับเรียกว่า พระกริ่ง และพระชัยวัฒน์นวลจันทร์ หรือแสงจันทร์

มีเหตุให้เป็นเช่นนั้น

เรื่องของเรื่องคือ ขณะที่หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร วัดสันติธรรม จ.เชียงใหม่  หลวงปู่ท่อน ญาณธโร วัดศรีอภัยวัน จ.เลย และหลวงปู่พระครูปัญญาวรากร  วัดพระบาทภูพานคำ จ.ขอนแก่น นั่งอธิษฐานจิตอยู่นั้น เกิดเหตุอัศจรรย์ปรากฏแสงจันทร์สีทองส่องลงมาเป็นลำปกคลุมทั่วมณฑลพิธี

จึงเรียกกันติดปากว่า พระกริ่งนวลจันทร์ พระชัยวัฒน์นวลจันทร์ นับแต่วันนั้นมา

พระกริ่งและพระชัยวัฒน์นวลจันทร์

 

ความจริงพิธีอธิษฐานจิตพระชุดนี้มีขึ้น 3 วัน คือ ในวันที่ 24-25-26 เม.ย. 2512 หรือวันเดียวกันนี้ เมื่อ 42 ปีก่อน

ทำพิธีกันในพระอุโบสถวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน โดยเริ่มพิธีกันในเวลา 19.00 น.ของทั้ง 3 วัน แต่ละวันจะมีครูบาอาจารย์มาเจริญพุทธมนต์ 1 ชุด อธิษฐานจิต 2 ชุด ชุดละ 4 รูป

พระสงฆ์ที่มาร่วมแผ่เมตตาอธิษฐานจิตเหล่านี้ ล้วนเป็นครูบาอาจารย์สายกัมมัฏฐานรูปสำคัญทั้งสิ้น

วันแรกนั้น คณาจารย์ที่อธิษฐานจิตชุดแรกประกอบด้วย หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม จ.อุดรธานี หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.อุดรธานี หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม วัดสิริสาลวัน จ.อุดรธานี หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ วัดป่าหนองแซง จ.อุดรธานี

ชุดที่ 2 คือ หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ วัดอรัญบรรพต จ.หนองคาย หลวงปู่อ่อนสี สุเมโธ วัดพระงามศรีมงคล จ.หนองคายและหลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส วัดป่าพระสถิตย์ จ.หนองคาย

พระกริ่งและพระชัยวัฒน์นวลจันทร์

 

วันที่ 2 ชุดแรกคือ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร วัดสันติธรรม จ.เชียงใหม่  หลวงปู่ท่อน ญาณธโร วัดศรีอภัยวัน จ.เลย และหลวงปู่พระครูปัญญาวรากร วัดพระบาทภูพานคำ จ.ขอนแก่น 

ชุดที่ 2 คือ พระราชสุธาจารย์หรือหลวงปู่โชติ คุณสมฺปนฺโน วัดวิชาลงกรณวราราม จ.นครราชสีมา หลวงปู่จันทร์ เขมปตฺโต วัดศรีภูเวียง จ.ขอนแก่น หลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดประชาคมวนาราม จ.ร้อยเอ็ด พระครูสังฆรักษ์กาวงศ์ (โอทาตวณฺโณ) วัดป่าดาราภิรมย์ จ.เชียงใหม่

วันที่ 26 เม.ย. ชุดแรกคือ พระสุธรรมคณาจารย์ วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา พระอาจารย์ตื้อ อจลธมฺโม วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ พระครูญาณวิศิษฐ์ วัดพุทธมงคลนิมิตร จ.นครสวรรค์ และหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี

พระกริ่งและพระชัยวัฒน์นวลจันทร์

 

ชุดที่ 2 คือ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม จ.อุดรธานี หลวงปู่ศรี มหาวีโร วัดประชาคมวนาราม จ.ร้อยเอ็ด พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ วัดเจติยาคีรีวิหาร จ.หนองคาย หลวงปู่จันทร์ เขมปตฺโต วัดศรีภูเวียง จ.ขอนแก่น

พระกริ่งและพระชัยวัฒน์ ชุดนี้วรรณะงดงามเพราะพระอาจารย์ไสว สุมโน วัดราชนัดดาฯ เจ้าตำรับพระกริ่งยอดนิยมในยุคนั้น เป็นผู้ผสมเนื้อ

อาจเพราะคณาจารย์ผู้อธิษฐานจิตล้วนแต่เป็นพระมหาเถระฝ่ายพระป่า และในจำนวนนี้หลายรูปก็ไม่เคยปรากฏนามในการอธิษฐานจิตพระที่ไหนมากนัก เช่น หลวงปู่บัว สิริปุณฺโณ หลวงปู่บัวพา ปญฺญาภาโส และหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ฯลฯ พระกริ่งและพระชัยวัฒน์ชุดนี้จึงเป็นของดีและหายากของผู้มีศรัทธาในยุคปัจจุบัน