posttoday

ใช่ หรือ คือ พระภิกษุในพระพุทธศาสนา!!

05 เมษายน 2558

ทำไมพระสงฆ์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้สละขาดจากโลก แต่ยังออกมายุ่งเกี่ยวกับการบ้านการเมือง

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา : ทำไมพระสงฆ์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้สละขาดจากโลก แต่ยังออกมายุ่งเกี่ยวกับการบ้านการเมือง เรื่องของชาวโลก ดังข่าวที่เป็นอยู่...

วิสัชนา : เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ก่อนจะตอบคำถาม ขอนำสาธุชนเข้าสู่การเรียนรู้พระพุทธศาสนาในเบื้องต้น ด้วยความหมายของ พุทธะ คือ รู้ ตื่น เบิกบาน และปลุกให้ผู้อื่นตื่นตามได้...

...พุทโธ – ผู้รู้ นั้นคือ รู้อริยสัจ ซึ่งเป็นธรรมอันตรัสรู้โดยปัญญาอันชอบของพระพุทธเจ้า

...พุทโธ – ผู้ตื่น นั้นคือ ตื่นจากหลับใหลเพราะกิเลสครอบงำ

...พุทโธ – ผู้เบิกบาน นั้นคือ จิตที่เบิกบานเพราะสิ้นแล้วซึ่งความเศร้าหมอง แจ่มใสเหมือนพระจันทร์ในวันเพ็ญที่ปราศจากเมฆหมอก

...พุทโธ – ปลุกให้ตื่น หรือ โพเธตา นั้นคือ ปลุกให้สัตว์โลกตื่นจากหลับด้วยอำนาจของกิเลส

มีคำกล่าวว่า... พระพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้ด้วยปัญญาอันชอบในอริยสัจ ซึ่งเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้วนั้น เป็นเหมือนผู้บอกทางอันประเสริฐ ...เหมือนนายเรือผู้ฉลาด ..เหมือนดอกปทุมที่แย้มบานแล้ว !

ส่วนพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์นั้น จึงเปรียบเหมือน ...เส้นทางที่ราบเรียบและภูมิภาคที่ปลอดภัย ...เหมือนเรือข้ามฟาก ...เหมือนรสหวานที่เกิดจากดอกปทุมนั้น

ในส่วนพระสงฆ์ จึงเปรียบเหมือน ...ผู้เดินทางไปตามหนทางนั้น ...เหมือนคนที่ต้องข้ามฝั่งด้วยเรือ ...เหมือนหมู่ตัวผึ้งซึ่งกินน้ำผึ้งนั้น

ดังนั้น พระสงฆ์...หมู่สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น จึงต้องเป็นผู้ถือปฏิบัติดำเนินตามพระธรรมวินัย อันพระผู้มีพระภาคเจ้าแสดงไว้ดีแล้ว จะไม่สามารถออกนอกแนวได้เลย

พระธรรมวินัย จึงเปรียบดุจกฎหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา ซึ่งหมู่สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าจะต้องปฏิบัติตนอยู่ภายใต้คำสั่ง (พระวินัย)... และคำสอน (พระธรรม) นี้ ...พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงมอบพระพุทธศาสนาไว้ให้อยู่ในการกำกับดูแลของพระธรรมวินัย ดุจเป็นศาสดาแทนพระองค์ ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน

ต่อมา เมื่อโลกเริ่มเข้ามาผสมผสาน ด้วยอ้างความศรัทธาเลื่อมใส จึงต้องมีระบอบการปกครองคณะสงฆ์ขึ้น โดยอ้างหลักกฎศาสนา (พระวินัย) กฎหมาย กฎสังคม (จารีตประเพณี) แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ขัดแย้งกับพระธรรมวินัย อันอยู่ภายใต้พระโอวาทปาติโมกข์ ที่เป็นดุจธรรมนูญแม่บทในพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนา จึงให้ความเสมอภาค ...ความมีสิทธิเสรีภาพภายใต้พระธรรมวินัย โดยยึดหลักเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ตัดสินปัญหา แต่จะต้องเป็นเสียงข้างมากที่อิงพระธรรมวินัย ที่ถือหลักการเป็นสำคัญ มีธรรมเป็นใหญ่ โดยมีความถูกต้องชอบธรรมเป็นศูนย์รวมจิตใจ

กระบวนการพัฒนาคน สังคม บ้านเมือง โดยอำนาจธรรมจึงเกิดขึ้นด้วยหลักคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา ดังเช่น หากจะพิจารณาการกระทำใดๆ ว่ามีโทษหรือไม่... ให้ยึดธรรมเป็นใหญ่ ดังบางเรื่องผิดกฎหมาย ...บางเรื่องไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดกฎสังคม (จารีตประเพณี) ...บางเรื่องไม่ผิดกฎหมาย กฎสังคม (จารีตประเพณี) แต่ผิดศีล และบางเรื่อง ไม่ผิดกฎหมาย ไม่ผิดกฎสังคม (จารีตประเพณี) ไม่ผิดศีล แต่ผิดธรรม ...ทั้งนี้ ในที่สุดให้คำนึงถึงธรรมเป็นหลักสำคัญที่สุด

...และหลักธรรมในศาสนานี้ คือ การแสดงความจริงของโทษทุกข์ภัย อันเกิดจากการเข้าไปเกี่ยวข้องกับโลก ดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงความเป็นกลางๆ ตามธรรมชาติ คือ ตามสภาวะที่สิ่งทั้งหลาย มันเป็นของมันเองตามเหตุปัจจัย อันเป็นไปเพื่อเกิดทุกข์-ดับทุกข์ เรียกหลักธรรมดังกล่าวว่า มัชเฌนธรรม โดยมีหลักปฏิบัติที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา (ข้อปฏิบัติในท่ามกลาง) เพื่อความไม่เกี่ยวข้องกับโลก เพื่อการทำโลก (ความทุกข์) ให้สิ้นไป

ดังนั้น พระภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ จึงไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับโลกดุจดังชาวบ้านทั้งหลาย หากแต่สามารถสงเคราะห์โลกด้วยธรรมได้ และธรรมนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อการออกจากโลก ดังที่กล่าวความหมายของ  ที่แสดงรูปลักษณ์ของพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา ซึ่งสาธุชนพึงควรเข้าใจ...

เจริญพร