posttoday

ก้าวย่างแห่งการปฏิรูป องค์กรพระพุทธศาสนา!!

29 มีนาคม 2558

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธามั่นคงในพระศาสนา... นึกถึงคำภาษิตที่ว่า ...ใดใดในโลกล้วนอนิจจัง สรรพสิ่งที่เกิดมาย่อมเสื่อมสูญ

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธามั่นคงในพระศาสนา... นึกถึงคำภาษิตที่ว่า ...ใดใดในโลกล้วนอนิจจัง สรรพสิ่งที่เกิดมาย่อมเสื่อมสูญ หากยึดมั่นจะพานพบโศกอาดูร แม้ตัวตนยังดับสูญสลายเอย...

การรู้-เห็นความเป็นธรรมดา ด้วยจิตที่มีสติปัญญา จึงเป็นเรื่องสำคัญในการเรียนรู้พระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา จนสามารถรู้-เห็นได้อย่างสะอาดหมดจด สอดส่องเห็นในภายในได้อย่างแจ่มแจ้ง จักย่อมเข้าถึงความเป็นธรรมดาในโลกสังขาร จึงให้ดำเนินชีวิตมุ่งไปสู่ประโยชน์และความควร ด้วยความไม่ประมาท เพื่อให้ถึงจุดมุ่งหวังสูงสุดในประโยชน์และความควรนั้น อันเป็นไปเฉพาะแต่ละชีวิต

พระพุทธศาสนาอุบัติเกิดขึ้น เพื่อประโยชน์ในแต่ละชีวิต ที่สามารถเข้าถึงความรู้-เห็นที่ถูกต้อง ตรงตามความเป็นธรรมดา ที่มีอยู่ในโลก (สังขาร) นี้ ...และสามารถก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม-สิ่งแวดล้อม เมื่อนำไปสานสัมพันธ์ก่อปฏิสัมพันธ์ต่อกัน จนเกิดการถ่ายทอดความรู้-เห็น ที่เรียกว่า ปัญญาอันชอบ สู่สาธารณชน

จึงไม่แปลก หากผู้มีปัญญาทั้งหลาย จะพร้อมใจกันลุกขึ้นมา คิด อ่าน ทำ ใดๆ เพื่อปกป้องดูแลรักษาไว้ซึ่งพระธรรมวินัยอันบริสุทธิ์ เพื่อให้คงดำรงอยู่สืบต่อไป เพื่อประโยชน์ของหมู่สัตว์ทั้งหลาย ดังที่บรรพชนพุทธบริษัท เคยกระทำสืบกันมา นับตั้งแต่พุทธปรินิพพาน ที่ได้จัดให้มีการกระทำสังคายนาพระธรรมวินัย ได้แก่ การรวบรวมเรียบเรียงพระพุทธวจนะให้เป็นหมวดหมู่แน่นอน ดังที่ได้มีเหตุการณ์สังคายนาที่สำคัญเกิดขึ้นถึง ๓ ครั้ง ในชมพูทวีป และต่อเนื่องอีกหลายครั้งในแผ่นดินอื่นๆที่รองรับพระพุทธศาสนา จนเกิดพระไตรปิฎกฉบับสมบูรณ์ที่สุดขึ้น ดังปรากฏมาถึงปัจจุบันให้ชาวโลกได้ศึกษาปฏิบัติกัน

ดังนั้น เรื่องพระธรรมวินัย จึงมิได้เป็นสาเหตุหลักต่อปัญหาที่ก่อเกิดขึ้นในแวดวงของมหาชนที่นับถือพระพุทธศาสนา ...แต่ปัญหาหลักนั้นแสดงปรากฏในกลุ่มชนที่แสดงตนว่าเป็นพุทธบริษัท ที่มีความคิดเห็นที่ปฏิบัติแตกต่างกันไป

ยามใดสังคมชาวพุทธมีบริษัทที่มั่นคงอยู่ในระเบียบแบบแผนตามพระธรรมวินัย พระพุทธศาสนาย่อมรุ่งเรืองแผ่กว้างออกไปอย่างน่าอัศจรรย์ ...แต่สมัยใดเต็มไปด้วยอสัตบุรุษ ...ผู้อ้างตนเป็นพุทธบริษัท เราจึงพบเห็นกาลโกลาหล เกิดขึ้นในเขตพระพุทธศาสนา ด้วยการประพฤติที่ออกนอกแนว ไม่ซื่อตรง มั่นคงในคำสั่งสอนที่เป็นไปตามพุทธมติดั้งเดิม

จริงๆ แล้ว มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๒-๓ มี.ค. ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา เมื่อมีการประชุมร่วมกันของคณะสงฆ์นานาชาติ ที่พุทธคยา/อินเดีย โดยมหาโพธิสมาคมในอินเดียเป็นแกนนำ จนมีมติให้มีการประชุมใหญ่ของคณะสงฆ์จากทั้งสองนิกายขึ้นในปีหน้า (พ.ศ. ๒๕๕๙-๒๕๖๐) ณ เวฬุวันมหาวิหาร แห่งพระนครราชคฤห์ แคว้นมคธในอดีต เพื่อร่วมกันปฏิรูปองค์กรพระพุทธศาสนาให้กลับคืนมาสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้พระธรรมวินัยเดียวกัน และได้มีการรวมพลังคณะสงฆ์นานาชาติ ประกาศปฏิญญาร่วมกันเมื่อวันที่ ๓ มี.ค. ๒๕๕๘ ณ ลานพระโอวาทปาติโมกข์ แห่งเวฬุวันมหาวิหาร เพื่อจะร่วมกันขับเคลื่อนพระพุทธศาสนาไปในทศวรรษหน้า ด้วยความเป็นหนึ่งเดียวกัน ในชื่ออย่างเป็นทางการที่ว่า... “Joint Declaration of Vision to move forward the Propagation of Buddhism ... on the occasion of Maghpuja 2558 B.E.” ซึ่งงานการประชุมคณะสงฆ์ในครั้งนี้ สำเร็จลุล่วงไปได้ดีทุกประการ ด้วยความเห็นชอบตรงกันว่า ถึงเวลาแล้วที่คณะสงฆ์ทุกฝ่าย จะต้องกลับมาร่วมมือกัน... สู่ความเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อการสืบอายุพระพุทธศาสนาไปเบื้องหน้า ภายใต้พระธรรมวินัยเดียวกัน ดังคำกล่าวปฏิญญา ณ เวฬุวันมหาวิหาร เมื่อวันที่ ๓ มี.ค. ๒๕๕๘ ในตอนหนึ่งว่า

“...บัดนี้ เราทั้งหลาย จึงพร้อมใจกันประกาศปฏิญญาร่วมกันว่า... จะถือปฏิบัติตามพระวินัยที่เป็นไปตามพระโอวาทปาติโมกข์ และพร้อมที่จะชำระความเห็นผิด... การตีความผิด การปฏิบัติที่ผิดแผกไปจากพระโอวาทปาติโมกข์ และพร้อมใจกันที่จะร่วมกระทำการสังคายนาพระวินัย เพื่อความเป็นแบบอย่างอันเดียวกันในการถือปฏิบัติของคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ที่มุ่งศึกษาปฏิบัติเป็นไปเพื่อพระนิพพาน...

และเราทั้งหลาย ขอให้สัญญากันและกันว่าจะรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนองค์กรพระพุทธศาสนาไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อการสืบอายุพระพุทธศาสนาให้สืบเนื่องต่อไป...”

เจริญพร