posttoday

การบริหารคณะสงฆ์ในยุคปัจจุบัน

15 กุมภาพันธ์ 2558

เมื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีพระบัญชาปลดพระพรหมสุธี (เสนาะ)

โดย...สมาย สุดโต

เมื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีพระบัญชาปลดพระพรหมสุธี (เสนาะ) ออกจากตำแหน่งกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ต่อมาพระพรหมดิลก ในฐานะเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร สั่งพักพระพรหมสุธีจากการปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร และสมเด็จพระ
พุฒาจารย์ (สนิท) เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก สั่งพักจากตำแหน่ง
เจ้าคณะภาค 12 จึงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก ทำให้สังคมอยากรู้ว่าคณะสงฆ์บริหารงานกันอย่างไร

ในที่นี้จึงขอเล่าลักษณะการบริหารคณะสงฆ์ไทยในยุคปัจจุบันพอสังเขป

สังฆราชผู้ทรงอำนาจสูงสุด

การบริหารคณะสงฆ์ยุคนี้ เป็นไปตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535

โครงสร้างการบริหารองค์กรคณะสงฆ์แบ่งดังนี้

1.ผู้บัญชาการ ได้แก่ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นประมุขสงฆ์และเป็นผู้บัญชาการสูงสุด ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ผ่านมหาเถรสมาคม ตามอำนาจแห่งกฎหมายและพระธรรมวินัย (ปัจจุบันสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช)

2.องค์กรปกครองส่วนกลาง แบ่งออกเป็น มหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุด เป็นองค์กรหลักประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราช ทรงดำรงตำแหน่งประธาน

สมเด็จพระราชาคณะ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ปัจจุบันมี 7 รูป และพระราชาคณะชั้นธรรมขึ้นไป ที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง แต่ไม่เกิน 12 รูป เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

ในการดำเนินการ ประธานกรรมการเป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นเลขาธิการโดยตำแหน่ง (แต่ก่อนนั้นเป็นอธิบดีกรมการศาสนา)

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ทำหน้าที่สำนักเลขาธิการ และองค์กรย่อยเป็นหน่วยบริหารและจัดกิจกรรมแทน

องค์กรย่อยในส่วนกลาง

1.เขตปกครองคณะสงฆ์ ได้แก่ เขตปกครองคณะสงฆ์แต่ละนิกาย (คณะสงฆ์ไทย มี 2 นิกาย คือ มหานิกาย และพระธรรมยุต)

ก.หน (มหานิกาย) เจ้าคณะใหญ่เป็นผู้บังคับบัญชา เรียกว่า เจ้าคณะใหญ่หน มี 4 คือ หนกลาง หนใต้ หนเหนือ และหนตะวันออก และ ข.คณะ (ธรรมยุต) เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เป็นผู้บังคับบัญชา

2.คณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ของมหาเถรสมาคม เช่น กรรมการ
ฝ่ายปกครอง ศาสนศึกษา ศึกษา สงเคราะห์ เผยแพร่พระพุทธศาสนา สาธารณูปการ และสาธารณสงเคราะห์

3.คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการอื่นๆ อีกหลายคณะ

4.กองงาน ได้แก่ กองบาลีสนามหลวง กองธรรมสนามหลวง กองงานพระธรรมทูต

องค์กรปกครองคณะสงฆ์ส่วนภูมิภาค มี 4 ขั้น คือ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล

และวัดเป็นองค์กรชั้นล่างสุด เป็นองค์กรหลัก เป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานการบริหารกิจการคณะสงฆ์และพระศาสนา โดยมีเจ้าอาวาสเป็นผู้บังคับบัญชา มีรองเจ้าอาวาส หรือผู้ช่วยเจ้าอาวาสเป็นผู้ช่วย

พระเถระที่ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะ รองเจ้าคณะ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาส มีฐานะเป็นพระสังฆาธิการ โดยเฉพาะเจ้าอาวาสเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย

พระสังฆาธิการ

เมื่อเจ้าคณะทั้งหลาย รวมทั้งเจ้าอาวาสเป็นพระสังฆาธิการ แต่ละท่านต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามจริยาพระสังฆาธิการ หากท่านผู้ใดผู้หนึ่งละเมิด อาจถูกลงโทษได้หลายสถาน แต่ต้องทำตามวิธีการ คือ ผู้บังคับบัญชาสั่งการตามอำนาจหน้าที่ และไม่ก้าวก่ายระหว่างมหานิกายและธรรมยุต ดูตัวอย่างกรณีเณรคำนั้น คณะสงฆ์มหานิกายไม่ก้าวก่าย เพราะเณรคำสังกัดคณะสงฆ์ธรรมยุต เช่นเดียวกันกับเรื่องที่เกี่ยวกับมหานิกาย คณะสงฆ์ธรรมยุตไม่ยื่นมือเข้ามา แม้จะนั่งบริหารในฐานะกรรมการมหาเถรสมาคมด้วยกันก็ตาม นอกจากโฆษก มส. (พระพรหมเมธี) ที่ทำหน้าที่แถลงผลประชุมของ มส.โดยรวม แม้ว่าตัวท่านจะสังกัดคณะธรรมยุตก็ตาม

กรณีพระพรหมสุธีนั้น คณะผู้บริหารทำตามหลักการ และอำนาจตามวิธีถอดถอนพระสังฆาธิการ หลังจากสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สั่งปลดจากตำแหน่งกรรมการ มส.แล้ว เจ้าคณะที่กำกับแต่ละชั้นก็ดำเนินการตามวิธีการลดหลั่นกันไป

การสั่งพักและปลด

วิธีให้พระสังฆาธิการพัก และปลดจากตำแหน่งหน้าที่

การให้พระสังฆาธิการพักจากตำแหน่งหน้าที่ และการปลดพระสังฆาธิการออกจากตำแหน่งหน้าที่ เป็นบทบัญญัติเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่การคณะสงฆ์ มีข้อที่ควรศึกษาดังนี้

ผู้ที่จะถูกสั่งให้พักได้ ต้องมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง

1.ต้องอธิกรณ์และอยู่ในระหว่างพิจารณาวินิจฉัย

2.ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญา และอยู่ในระหว่างพิจารณาวินิจฉัย

3.ต้องหาว่าละเมิดจริยาอย่างร้ายแรง และอยู่ในระหว่างสอบสวน

เหตุผลประกอบ หากให้คงอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ในระหว่างนั้น จะเป็นการเสียหายแก่การคณะสงฆ์

กรณีนี้ผู้มีอำนาจสั่งพัก ได้แก่ ผู้บังคับบัญชาใกล้ชิด และให้พักจากตำแหน่งหน้าที่นั้น ให้พักตลอดเวลาที่พิจารณาหรือสอบสวน

และอาจสั่งให้กลับดำรงตำแหน่งเดิม เมื่อไม่พบความผิดและมลทินแห่งความผิดเลย

วิธีการสั่งให้พักนั้น ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ให้รอบคอบ และต้องทำโดยปราศจากอคติและยึดหลักพรหมวิหารธรรมเป็นที่ตั้ง เมื่อได้สั่งให้พักแล้ว ต้องสั่งแต่งตั้งผู้รักษาการแทนตำแหน่งนั้นด้วย และเมื่อเสร็จการพิจารณาหรือสอบสวนแล้ว ถ้าได้ความชัดว่าไม่มีความผิดและไม่มีมลทินแห่งความผิดเลย ต้องสั่งให้กลับเข้าดำรงตำแหน่งเดิม

ส่วนการปลดจากตำแหน่งหน้าที่ให้ทำได้ในกรณีที่เมื่อพิจารณาหรือสอบสวนแล้ว พบความจริงแก้ตัวไม่ได้อยู่ไปก็มีมลทิน อาจเสียหายแก่การคณะสงฆ์ ก็ให้สั่งปลดจากตำแหน่งหน้าที่ได้ เพราะบทบัญญัติ ข้อ 56 วรรค 4 มุ่งป้องกันความเสียหายแก่การคณะสงฆ์เป็นสิ่งสำคัญ

(จากวิทยาพระสังฆาธิการเล่ม 2 พระพรหมกวี (วรวิทย์ ป.ธ.8) รวบรวม  พิมพ์ในโอกาสที่พระเมธีวราภรณ์ (สุทัศน์ ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระราชปริยัติโมลี  5 ธ.ค. 2556)