posttoday

วัดพระพิเรนทร์เชิญต่อเติมบุญ และบูรณะอุโบสถกลางกรุง

11 มกราคม 2558

วัดพระพิเรนทร์ วัดเล็กๆ กลางกรุง จัดบริการสังคมไม่หยุดยั้ง เพื่อต่อเติมบุญของศรัทธาสาธุชนที่บริจาคทรัพย์

วัดพระพิเรนทร์ วัดเล็กๆ กลางกรุง จัดบริการสังคมไม่หยุดยั้ง เพื่อต่อเติมบุญของศรัทธาสาธุชนที่บริจาคทรัพย์ พร้อมทั้งเริ่มงานบูรณะอุโบสถโบราณ ในปีแพะทอง 2558

พระครูภัทรกิตติสุนทร (พระมหาแถม กิตติภทฺโท) เจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ ถนนวรจักร ย่านคลองถม แจ้งว่า วัดจัดบริการสังคมและสาธารณประโยชน์สม่ำเสมอ  ล่าสุดเปิด 2 ศาลาติดต่อกันจัดงานวันเด็ก เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2558 ก่อนงานวันเด็กอย่างเป็นทางการ 1 วัน เพื่อให้เด็กๆ ที่เป็นนักเรียนของโรงเรียนวัดพระพิเรนทร์ประมาณ 150 คน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ได้ฉลองอย่างมีความสุข ในบรรยากาศเย็นสบาย และได้รับของขวัญทุกคน นอกจากนั้นทางวัดจัดอาหารให้ผู้ปกครองและนักเรียนรับประทานร่วมกัน เป็นการสร้างสามัคคีปรองดองตามนโยบาย คสช.และรัฐบาลอีกด้วย

การที่ทางวัดจัดงานวันเด็กล่วงหน้า 1 วัน เพื่อให้นักเรียนที่มาโรงเรียนตามปกติในวันศุกร์ได้ร่วมฉลองเต็มที่ เมื่อถึงวันที่ 10 ม.ค. ซึ่งเป็นวันเด็กและวันหยุด เด็กและผู้ปกครองจะได้ไปร่วมกิจกรรมที่อื่นได้อีก

พระครูภัทรกิตติสุนทร กล่าวว่า ของขวัญที่วัดจัดให้เด็กทุกคน ได้แก่ ผ้าเช็ดตัวอย่างดี ถุงเท้าคุณภาพชั้น 1 คนละ 2 คู่ ของเล่นต่างๆ ที่เจ้าของกิจการและนักธุรกิจมอบให้ รวมทั้งรถจักรยานหลายคัน และพัดลมหลายชิ้น นอกจากสมุดดินสอที่จัดให้ครบทุกคน เมื่อเห็นทุกคนมีความสุข ทางวัดจะจัดให้ดียิ่งขึ้นในปีหน้า และปีต่อๆ ไปเพื่อให้แก่สังคม เป็นการทำงานเพื่อสาธารณประโยชน์อีกด้านหนึ่ง นอกเหนือจากกิจกรรมอื่นๆ ที่วัดจัดประจำ

วัดพระพิเรนทร์เชิญต่อเติมบุญ และบูรณะอุโบสถกลางกรุง

 

กิจกรรมเพื่อสังคม

กิจกรรมเพื่อสังคมที่วัดดำเนินการจนเป็นที่ยอมรับทั่วไป ได้แก่ การฌาปนกิจศพพระสงฆ์ที่มรณภาพจากโรงพยาบาลสงฆ์ และประชาชนทั่วไปที่ไม่มีญาติที่ทำติดต่อเกิน 60 ปี เมื่อรับศพไม่มีญาติทั้งพระและคฤหัสถ์ ทางวัดได้จัดฌาปนกิจให้อย่างสมเกียรติ เต็มพิธีตามศาสนนิยมทุกประการ เพื่อให้วิญญาณผู้มรณภาพ/ตายไปสู่สุคติ นอกจากนั้นทางวัดยังบริจาคโลงศพให้แก่ผู้ที่ไม่มีญาติตามที่มีผู้มาทำบุญบริจาคแจ้งความประสงค์ไว้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์อื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับความตาย ได้แก่ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย และเจ็บไข้ได้ป่วยที่ต้องการกู้ชีพด่วน โดยทางวัดสนับสนุนบริการรถดับเพลิง รถบรรเทาสาธารณภัย ตั้งที่ฐานบ้านดอกไม้ บ้านบาตร และรถพยาบาล  (Ambulance) ที่ทำงานร่วมกับมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง อย่างแข็งขันเป็นประจำทุกวัน

วัดพระพิเรนทร์เชิญต่อเติมบุญ และบูรณะอุโบสถกลางกรุง

 

บูรณะอุโบสถโบราณ

พระครูภัทรกิตติสุนทร กล่าวว่า บัดนี้ทางวัดเดินหน้าบูรณะอุโบสถโบราณของวัด เพื่ออนุรักษ์ศิลปกรรมโครงสร้างผสมสถาปัตยกรรมไทย ยุโรป และจีน ที่มีอายุนานนับร้อยปีให้ถาวร เพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้ภาคภูมิใจในความเป็นไทย

ก่อนบูรณะอุโบสถ ทางวัดได้ขออนุญาตและปรึกษากับสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ซึ่งทางสำนักโบราณคดีไม่ขัดข้อง แต่ขอให้อนุรักษ์สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมเดิมไว้อย่างเคร่งครัด ภายใต้การควบคุมของวิศวกร พร้อมทั้งให้ความเห็นเรื่องการอนุรักษ์ถาวรวัตถุที่หายากภายในพระอุโบสถแห่งนี้ด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรตั้งข้อสังเกตถึงฉัตร 5 ชั้น ที่ยกขึ้นเหนือพระประธาน 1 ชิ้น และที่แขวนกลางอุโบสถอีก 1 ชิ้นว่าวัดนี้น่าจะอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์จากเจ้านายชั้นสูง ในอดีตก็ได้มิฉะนั้นจะไม่มีฉัตร ซึ่งเป็นของสูงติดตั้งเพื่อแสดงสถานะแน่นอน

ประวัติวัดพระพิเรนทร์

วัดพระพิเรนทร์ ตั้งอยู่เลขที่ 326 ถนนวรจักร แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีตอนปลายราวปี พ.ศ. 2300 ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ราวปี พ.ศ. 2379 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระพิเรนทรเทพ (ขำ ณ ราชสีมา) เจ้ากรมพระตำรวจ บุตรชายเจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอินทร์ ณ ราชสีมา) ให้มาบูรณปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ จึงได้ตั้งชื่อวัดว่า “วัดขำเขมการาม”ต่อมาในปี พ.ศ. 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนชื่อวัดให้ใหม่ว่า “วัดขำโคราช” ใช้มาถึงปี พ.ศ. 2430 จึงได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดพระพิเรนทร์” จนถึงปัจจุบัน (ตามชื่อบรรดาศักดิ์ของ “พระพิเรนทรเทพ” ผู้บูรณปฏิสังขรณ์พระอารามแห่งนี้)

ศาสนสถานในวัดมีหลายอย่าง เช่น อุโบสถ หน้าบันประดับด้วยปูนปั้นลายดอกไม้แบบจีน เสาระเบียงก่อเป็นซุ้มโค้งแหลมแบบกอธิก ภายในซึ่งอยู่ตรงข้ามกับพระประธานประดับด้วยแผ่นไม้แกะสลักรูปพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จารึกว่า “สยามมินทร์” และ “อานันทมหิดล” (พระอุโบสถได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล) วิหารและเจดีย์ หอระฆัง มณฑปบูรพาจารย์ เก๋งจีน ศาลาบำเพ็ญกุศล 5 หลัง และกุฏิสงฆ์ เช่น กุฏิพระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตโต) และกุฏิพระเทพวิสุทธิโมลี (อุทัย) มีจำนวน 71 ห้อง

บวงสรวง

ก่อนเริ่มบูรณะอย่างเป็นทางการ ทางวัดเชิญพราหมณ์มาทำพิธีบวงสรวง ตอนเช้าวันที่ 8 ม.ค. 2558 ท่ามกลางคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนที่ศรัทธาในวัด เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและเป็นสิริมงคล

ผู้เขียนดูอุโบสถโดยรอบ เห็นว่าอยู่ในสภาพที่งาม แต่เจ้าอาวาสว่าภายในชำรุดและผุกร่อน แม้ว่าจะบูรณปฏิสังขรณ์ต่อเนื่อง เช่น การบูรณะใหญ่เมื่อปี พ.ศ.  2481 และ พ.ศ. 2506 ที่พระเทพคุณาธาร เจ้าอาวาสในครั้งนั้นได้สร้างประตูและหน้าต่างใหม่ โดยใช้ช่างฝีมือดีมาแกะสลักลายประตูและหน้าต่างใช้แทนของเก่า ปัจจุบันประตูและหน้าต่างยังงามสะดุดตา แต่วงกบผุ

ดังนั้น การบูรณปฏิสังขรณ์ที่เริ่มวันที่ 8 ม.ค. 2558 จะเป็นการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี สำหรับโครงสร้างภายนอก จึงจะแล้วเสร็จ โดยยังไม่นับตกแต่งภายในที่คงต้องใช้เวลาพอสมควร

วัดพระพิเรนทร์เชิญต่อเติมบุญ และบูรณะอุโบสถกลางกรุง

 

งบบูรณะอุโบสถ

ทางวัดคาดว่าจะใช้งบประมาณไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาท แต่ทางวัดมีปัจจัยในมือประมาณ 8 ล้านบาท เป็นปัจจัยที่พุทธศาสนิกชนบริจาคในงานทอดกฐินสามัคคี เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2557 จำนวน 5.3 ล้านบาท นายธนาคาร (ไม่เปิดเผยชื่อ) ศรัทธาบริจาคให้ล่าสุด 1 ล้านบาท (นายธนาคารผู้มีเกียรติท่านนี้ได้บริจาคเพื่อการฌาปนกิจศพไม่มีญาติ เมื่อเดือน ก.ค. 2557 เป็นเงิน 2 แสนบาท มาแล้ว) และปัจจัยที่วัดเตรียมไว้ก่อนหน้านั้นอีก 2 ล้านบาท เมื่อรวมแล้วยังขาดอยู่มาก ทางวัดก็หวังศรัทธาจากผู้มีจิตเป็นกุศลจะร่วมด้วยช่วยกัน เพราะการจะทำบุญเพื่อสร้างและบูรณะอุโบสถกลางกรุงอย่างที่วัดพระพิเรนทร์ดำเนินการในขณะนี้ยาก

ผู้มีศรัทธาต้องการบริจาคเพื่อสังคม หรือบูรณะอุโบสถติดต่อได้ที่วัดพระพิเรนทร์ 02-221-4050 หรือบริจาคผ่านธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาวรจักร ชื่อบัญชีวัดพระพิเรนทร์ (บูรณะอุโบสถ) เลขที่บัญชี 006-1-18172-9 และขอรายละเอียดได้ที่พระครูภัทรกิตติสุนทร (เจ้าอาวาส) 08-1913-6895

เมื่อท่านช่วยสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม และการอนุรักษ์โบราณสถานอย่างมืออาชีพของวัดเล็กๆ อย่างวัดพระพิเรนทร์ ท่านจะมีแต่ปีติ เพราะพระสงฆ์ท่านต่อเติมบุญ โดยให้ต่อสังคมส่วนรวม  ซึ่งเป็นงานที่ควรแก่การอนุโมทนายิ่ง