posttoday

ปิดฉาก สามเณรธรรมาสน์ทอง ค้นฟ้าคว้าหา "ยอดเณรนักเทศน์" แห่งปี

20 พฤศจิกายน 2557

โครงการนี้ได้แจ้งเกิดเต็มตัวเพราะได้รับการตอบรับจากสามเณรจำนวนมาก

โดย...วรธาร ทัดแก้ว

ตลอดเวลา 5 เดือนของโครงการส่งเสริมวิชาการเทศนา “สามเณรธรรมาสน์ทอง” เชื่อเหลือเกินว่าโครงการนี้ได้แจ้งเกิดเต็มตัวเพราะได้รับการตอบรับจากสามเณรจำนวนมาก หากเปรียบโครงการนี้กับรายการทางโลก ช่างละม้ายคล้ายคลึง “เดอะ สตาร์ ค้นฟ้าคว้าดาว” ต่างแค่เดอะ สตาร์ฯ ค้นหาคนรุ่นใหม่ผู้มีความสามารถในด้านการร้องเพลง แต่สามเณรธรรมาสน์ทองค้นหา “สามเณรผู้เป็นเลิศด้านเทศนาธรรม” หรือการเทศน์

โครงการนี้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นผู้ริเริ่มและจัดขึ้นร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกรมการศาสนา โดยการสนับสนุนของพระเถระผู้ใหญ่หลายรูปอันมี สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดพิชยญาติการาม ตลอดจนพระเถรานุเถระที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในวิชาการเทศนา ซึ่งก็ได้ปิดฉากอย่างสมบูรณ์แบบเมื่อวันที่ 19 พ.ย. ณ วัดพิชยญาติการาม กรุงเทพฯ

ปิดฉาก สามเณรธรรมาสน์ทอง ค้นฟ้าคว้าหา "ยอดเณรนักเทศน์" แห่งปี สมเด็จพระพุทธชินวงศ์

ผลออกมาปรากฏว่า สามเณรที่มีความโดดเด่นเป็นเลิศด้านการเทศนาธรรม ซึ่งถือเป็นสุดยอดสามเณรธรรมาสน์ทอง ในปี 2557 มีทั้งหมด 3 รูป ได้แก่ สามเณรธงชัย ไชยภักดี เปรียญธรรม 8 ประโยค (ป.ธ.8) สังกัดวัดคลองโพธิ์ จ.อุตรดิตถ์ สามเณรสุทธิชัย อุปวันดี เปรียญธรรม 3 ประโยค (ป.ธ.3) วัดโสธรวราราม จ.ฉะเชิงเทรา และ สามเณรอรรถกร สุดคิด นักธรรมเอก (น.ธ.เอก) จากวัดพระนคร จ.นครศรีธรรมราช ทั้งสามจะเข้าเฝ้าฯ และรับรางวัลโล่พระราชทานจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระผู้ทรงให้ความสำคัญแก่การศึกษาของพระภิกษุสามเณรทั่วประเทศมาโดยตลอด ในโอกาสมหามงคลที่พระองค์ทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา ในปี 2558

เพื่อให้รู้จักโครงการมากขึ้นขอประมวลให้เห็นภาพแต่ต้นว่า โครงการออกสตาร์ตในเดือน มิ.ย.2557 มีสามเณรจากวัดต่างๆ จากทั่วประเทศส่งเข้าร่วมอบรม 273 รูป แบ่งการอบรมเป็น 2 ระยะ ช่วงแรกจัดอบรม 4 ครั้งตามรายภาค ครั้งแรก วันที่ 30 มิ.ย.-4 ก.ค. อบรมสามเณรในหนกลาง (ภาคกลาง) จำนวน 105 รูป ณ วัดพิชยญาติการาม กรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 หนใต้ วันที่ 14-118 ก.ค. ณ วัดพระมหาธาตุ จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 53 รูป ครั้งที่ 3 หนเหนือ วันที่ 28 ก.ค.-1 ส.ค. ณ วัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่ จำนวน 65 รูป และครั้งที่ 4 หนตะวันออก วันที่ 14-18 ส.ค. ณ วัดมหาธาตุ จ.ยโสธร จำนวน 50 รูป

ระยะที่ 2 จัดอบรมวันที่ 22-26 ก.ย. ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพฯ จำนวน 50 รูป คัดจาก 273 รูป วิธีการคือให้ทุกรูปเขียนบทเทศนา 1 หัวข้อและขึ้นเทศน์จริงบนธรรมาสน์ต่อหน้าคณะกรรมการเพื่อคัดให้เหลือ 10 รูปสุดท้ายเพื่อไปศึกษาดูงาน ณ สังเวชนียสถานและพุทธสถานที่สำคัญ ณ ประเทศอินเดีย–เนปาล ในวันที่ 26 ต.ค.-1 พ.ย.ที่ผ่านมา

จากนั้นในวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นรอบตัดสินหาสามเณรที่มีความโดดเด่นพิเศษด้านการเทศน์ที่สุด 3 รูป เพื่อเป็นสามเณรธรรมาสน์ทอง ดังนั้นทั้ง 10 รูปจึงต้องขึ้นเทศนาเชิงประจักษ์บนธรรมาสน์ต่อหน้าคณะกรรมการตัดสิน ตาม “หัวข้อเทศนาธรรม” ที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ให้มาจำนวน 10 หัวข้อ ขึ้นอยู่กับสามเณรจับได้หัวข้ออะไรโดยที่ไม่อนุญาตให้สามเณรรูปที่ยังไม่ขึ้นแสดงเข้าฟัง ทว่าก่อนถึงวันขึ้นธรรมาสน์จริงจะให้สามเณรเตรียมตัวเขียนบทเทศนาและซักซ้อมการเทศน์เป็นเวลา 2 วัน

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะประธานเผยแผ่พระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวให้โอวาทในวันปิดโครงการว่า การสร้างสามเณรให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าถือว่าเป็นการปลูกฝังอุดมคติที่ดีงามให้แก่สามเณรซึ่งเป็นเหล่าก่อของสมณะ แต่จากนี้ไปสามเณรต้องใฝ่หาความรู้ใส่ตัว พัฒนาตนให้มีความแตกฉานในธรรมอยู่เสอม ซึ่งมิใช่แค่สามเณรธรรมาสน์ทองเท่านั้น อนาคตอาจมีสามเณรธรรมาสน์เพชรเกิดขึ้นมาอีกก็ได้

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ย้ำว่า งานด้านเผยแผ่นั้นเป็นงานสำคัญมาก และการที่ชาวพุทธจะเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้านั้นก็เป็นเรื่องยากเพราะมีความลึกซึ้งทั้งโดยอรรถและพยัญชนะ ฉะนั้นผู้ทำหน้าที่เผยแผ่และนำธรรมะไปให้ประชาชนจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจและแตกฉานในหลักธรรมาเป็นอย่างดี

“อย่าลืมว่าธรรมของพระพุทธเจ้านั้นพระองค์ทรงได้มาจากการตรัสรู้อริยสัจสี่ แล้วเวลาที่พระองค์เทศน์ก็จบลงด้วยหลักอริยสัจสี่ตลอด ดังนั้นนักเผยแผ่ที่ดีก็ควรต้องทำตามพุทธวิธีนี้ จะเทศน์จะสอนอะไรอย่างไรต้องยึดแนวอริยสัจสี่ ถ้ายึดตามนี้จะเทศน์เรื่องอะไร แก่ใคร ที่ไหนเทศน์ได้หมด แต่การจะเป็นนักเทศน์ที่ดีครบถ้วนนั้นก่อนอื่นต้องมีความรู้ความเข้าใจในธรรมจริงๆ รวมถึงเข้าใจหลักและวิธีการเทศน์ที่ถูกต้อง ซึ่งการจะเป็นเช่นนั้นได้ก็ต้องผ่านการอบรม ศึกษา ค้นคว้า และหมั่นฝึกฝนพัฒนาตนอยู่เสมอ”

พร้อมกันนั้นสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ยังได้ฝากคติธรรมของท่านมิลาเรปะ พระนักบุญของทิเบต ให้กับมวลสามเณรในโครงการว่า ธรรมะของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นถ้าเอาไปแสดงเหมือนแม่ค้าขายของเร่ในตลาดไม่มีผลแน่นอน ขอฝากให้คิด

ปิดฉาก สามเณรธรรมาสน์ทอง ค้นฟ้าคว้าหา "ยอดเณรนักเทศน์" แห่งปี พระราชญาณกวี

ด้าน พระราชญาณกวี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระราม ๙ กาญจนาภิเษก หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน ให้ความเห็นว่า โครงการสามเณรธรรมาสน์ทองเป็นเสมือนหนึ่งที่จะกระตุ้นให้สามเณรทั่วทั้งประเทศได้ตระหนักว่า “อย่าเรียนแต่หนังสืออย่างเดียว” ควรต้องเรียนรู้วิชาการเทศนาติดตัวด้วย บางรูปจบประโยค 9 หรือจบดอกเตอร์ แต่เทศน์ไม่เป็นไม่มีประโยชน์

“โครงการนี้เป็นโครงการชั้นเยี่ยมทำให้ผู้คนได้ตระหนักถึงคุณค่าของหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า และสามเณรเหล่านี้ก็ได้แสดงให้ถึงความตั้งใจกับโครงการนี้ แต่ละรูปมีดีที่แตกต่างกัน บางรูปอาจน้ำเสียงดี บางรูปอาจจะธรรมะดี บางรูปลีลาดี บางรูปอาจประมวลข้อความในการเทศน์ดี แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครเตรียมตัวดีกว่ากัน ทว่าจริงๆ แล้วแพ้ชนะไม่ได้อยู่ที่วันประกาศผลวันเดียว แต่วัดกันที่ระยะยาว นั่นหมายถึงวันที่น้องเณรจะไปทำประโยชน์เกื้อกูลแก่ประชาชน ชุมชน สังคม หมู่บ้าน

ซึ่งไม่จำเป็นว่าฉัน ไม่ได้เป็นนักเทศน์ธรรมาสน์ทองแล้วไม่ต้องฝึกฝนอบรมอะไร แต่ที่จริงการเป็นสามเณรธรรมาสน์ทองกดดันนะ เพราะต้องแบกศักดิ์ศรีสามเณรธรรมาสน์ทองและยิ่งได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ ยิ่งต้องรักษามาตรฐานไว้ เก่งวันนี้วันเดียวชนะแล้วจบเลย ไม่ใช่ อย่าลืมว่าคนอื่นถึงเขาจะไม่ได้เป็นสามเณรธรรมาสน์ทอง แต่ถ้าหมั่นฝึกฝนพัฒนาตนอยู่เสมอก็อาจเก่งไปไกลลิบกว่าสามเณรธรรมาสน์ทองก็ได้ ต้องดูระยะยาว”

พระราชญาณกวี กล่าวต่อว่า แต่ทั้งนี้ขึ้นกับเจ้าอาวาสวัดที่ส่งสามเณรเข้าโครงการฯ ด้วย ต้องให้โอกาสและมีเวทีให้สามเณรได้แสดงความสามารถอยู่เสมอ อย่าลืมว่าหน้าที่การเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นไม่ใช่พระเท่านั้นที่ทำได้สามเณรก็ทำได้ ขอเพียงให้โอกาสและส่งเสริมเขาเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการนำหลักธรรมคำสอนไปสู่ประชาชนได้อย่างน่าชื่นชม

ปิดฉาก สามเณรธรรมาสน์ทอง ค้นฟ้าคว้าหา "ยอดเณรนักเทศน์" แห่งปี

ขณะที่ “สด แดงเอียด” ที่ปรึกษาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ด้านการศาสนา ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ในฐานะประธานกรรมการจัดโครงการฯ กล่าวถึงผลของโครงการว่า แม้จะเป็นปีแรกของโครงการฯ ก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งไว้ ทั้งการสร้างศาสนทายาทในการสืบทอดและแสดงเทศนาวิธีอย่างถูกต้องตามหลักเทศนา การส่งเสริมและการสร้างโอกาสให้สามเณรได้แสดงธรรมอันนำไปสู่การเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างกว้างขวาง รวมถึงได้ช่วยสนับสนุนให้วัดต่างๆ มีบทบาทในการพัฒนาการเรียนการสอนด้านการเทศน์แก่สามเณรมากขึ้น

“เชื่อว่าสามเณรที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 273 รูป จะเป็นนักเทศน์ที่ดี เทศนาได้ถูกต้องตามระเบียบวิธีการเทศน์ที่ครูบาอาจารย์ซึ่งล้วนเป็นผู้รู้และเป็นนักเทศน์ที่สังคมให้การยอมรับได้พร่ำสอนอบรมทุกอย่าง ไม่ว่าจะการขึ้นธรรมาสน์ การจับใบลาน การตั้งนะโม การยกหัวข้อพระบาลีไปเทศน์ การแจกแจงธรรม การขยายธรรมที่ยากให้เข้าใจง่าย หลักการเทศน์ที่ถูกต้องสามเณรเรียนรู้หมด เพียงแต่ถ้าอยากเป็นนักเทศน์ที่สมบูรณ์แบบต้องหาความรู้เพิ่มเติมเท่านั้น ถึงตรงนี้ถือว่าบรรลุเป้าหมายแล้ว เรามีบุคลากรทางศาสนาที่ช่วยในการเผยแผ่ธรรมไปสู่ประชาชนเพิ่มขึ้นและเชื่อว่าจะเกิดการต่อยอดต่อไป”

ปรึกษาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กล่าวต่อว่า โครงการนี้แม้เพิ่งทำเป็นปีแรกก็ถือว่าประสบผลน่าพอใจมาก เพราะตลอดโครงการไม่มีจุดบกพร่องเกิดขึ้นให้เห็น จะมีก็แต่เรื่องของระยะเวลาในการฝึกอบรมที่เห็นว่าค่อนข้างน้อยซึ่งสมควรปรับเพิ่มขึ้นในปีหน้า จากปีนี้ฝึกอบรม 5 วัน 4 คืน ซึ่งบางวันเริ่มตั้งแต่เช้าจนถึง 4-5 ทุ่มจึงเลิก ก็อาจจะเพิ่มเป็น 7-10 วัน เพื่อความเหมาะสม

ขณะที่สามเณรที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นสามเณรธรรมมาสน์ทองในปีแรกนี้ ยอมรับว่าทุกรูปมีความเหมาะสม เพราะผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒทั้ง 7 รูป อันมี พระพรหมวชิรญาณ เจ้าอาวาสวัดยานนาวา กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธานกรรมการตัดสิน

สามเณรธงชัย ไชยภักดี อายุ 20 ปี หนึ่งในสามเณรธรรมาสน์ทอง เผยว่า แม้ว่าจะมีภาระในการเรียนประโยค 9 ซึ่งค่อนข้างหนัก แต่ก็ภูมิใจกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากความทุ่มเทตลอดโครงการ หลังจากนี้ไปจะทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมะเท่าที่มีโอกาส เพราะยังต้องมุ่งไปที่การเรียนบาลีประโยค 9 ก่อน ซึ่งจะสอบในช่วงปลายเดือน ม.ค. ปี 2558 หลังจากนั้นค่อยวางแผนใหม่

“ถ้าการสอบผ่านไปด้วยดี สามเณรก็จะมุ่งมั่นพยายามหาความรู้ฝึกฝนตนเอง โดยจะศึกษาค้นคว้าธรรมะจากพระไตรปิฎก อ่านตำรับตำรามากขึ้นและนำมาถ่ายทอดให้เยาวชน ประชาชนต่อไป”

ด้าน สามเณรอรรถกร สุขคิด สามเณรธรรมาสน์ทองอีกรูปจากนครศรีธรรมราช พูดถึงโครงการว่า ยังไม่เคยเห็นโครงการแบบนี้ที่ไหนมาก่อนถือเป็นครั้งแรก เป็นโครงการดีมาก เพราะเปิดโอกาสให้สามเณรทั่วประเทศได้ฝึกฝนอบรมวิชาการเทศน์ที่ถูกต้องตามหลักการเทศนา พร้อมทั้งเป็นการเปิดมิติใหม่ให้กับสามเณรในด้านการเผยแผ่มากขึ้น

“ต้องขอบคุณโครงการนี้ที่ให้ความสำคัญกับสามเณร อย่างน้อยก็จุดประกายให้อาตมาคนหนึ่งได้ฉุกคิดถึงการเป็นนักเทศน์นักเผยแผ่ที่ดีในอนาคต จริงๆ แล้วไม่ว่าจะได้รางวัลหรือไม่ก็ตาม ในฐานะสามเณรคิดเสมอว่าเมื่อบวชเข้ามาต้องศึกษาพระธรรมวินัยให้แจ่มแจ้งจะได้นำไปสั่งสอนคนได้ ถ้าบวชแล้วไม่ศึกษาก็อย่าคิดไปสอนคนอื่น อย่างไรก็ตามในฐานะหนึ่งในสามเณรธรรมาสน์ทองก็ตั้งใจจะทำหน้าที่เผยแผ่สุดความสามารถตามที่ครูอาจารย์สอน อย่างน้อยคือสอนให้ชาวบ้านมีศีล 5 ในการดำเนินชีวิตก็คิดว่าประสบความสำเร็จแล้ว” สามเณรธรรมาสน์ทองจากปักษ์ใต้ กล่าว

ปิดฉาก สามเณรธรรมาสน์ทอง ค้นฟ้าคว้าหา "ยอดเณรนักเทศน์" แห่งปี

ขณะที่ สามเณรธีรพงษ์ ล้อประโคน จากวัดโมลีโลกยาราม กรุงเทพฯ ผู้พลาดหวังแต่ยังผ่านเข้ารอบ 10 คนสุดท้ายมีโอกาสได้ไปอินเดีย-เนปาล กล่าวว่า แม้ไม่ติดหนึ่งในสามสามเณรธรรมาสน์ทองก็ไม่รู้สึกเสียใจ เพราะได้รับสิ่งดีๆ มากมายจากโครงการนี้ เช่น ได้รู้วิธีการเทศน์ที่ถูกต้องจากครูบาอาจารย์ ได้เพื่อนใหม่ และที่สำคัญก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองในทางที่ดี

“อาตมาได้ความรู้มากเกี่ยวกับวิชาการเทศน์ ทั้งได้ปฏิบัติจริง ได้เพื่อนใหม่ ได้เห็นความร่วมแรงร่วมใจของเพื่อนสามเณรทุกรูป โดยเฉพาะในช่วงใกล้จบโครงการเราช่วยกันคิดว่าจะทำอะไรบ้างเพื่อตอบแทนพระเถรานุเถระ ครูบาอาจารย์ที่ให้การสั่งสอน ตลอดจนผู้ที่มีส่วนร่วมโดยตรงและโดยอ้อมกับโครงการนี้ แต่ที่สำคัญเวทีนี้ได้เปลี่ยนอาตมาสิ้นเชิงจากเดิมเป็นคนขี้อายไม่กล้าแสดงออก แต่ตอนนี้ขอแค่มีเวที ขอให้โอกาสอาตมาจะไม่รีรอ” สามเณรธีรพงษ์ ทิ้งทาย

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการดีๆ แบบนี้จะเกิดการต่อยอดและผุดขึ้นในทุกๆ จังหวัดภายใต้การนำของเจ้าคณะพระสังฆาธิการทุกระดับ แต่ทุกวันนี้เห็นแต่พระเณรมุ่งแต่เรียนอย่างเดียว จนลืมดูเรื่องการฝึกอบรมเรื่องการเผยแผ่ไปแล้ว