posttoday

ศึกษาดร.อัมเบ็คก้าร์ กรณีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในชมพูทวีป(๑๐)

24 กันยายน 2552

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

อย่างไรก็ตาม ในพระโอวาทปาฏิโมกข์ทั้งบท (๓ คาถากึ่ง) ที่ยกขึ้นมา หัวใจสำคัญที่ชาวพุทธพึงควรจดจำโดยย่อในประโยคข้อ ๓ ที่ว่า “การไม่ทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม และการทำจิตให้บริสุทธิ์” อันเป็นหลักปฏิบัติของชาวพุทธชั้นดีทั่วไป เพื่อเข้าสู่ความเป็นบุคคลที่ประเสริฐดังเช่นพระอริยเจ้าทั้งหลาย จึงเป็นเรื่องถูกต้องตรงตามธรรมทุกประการที่ดร.อัมเบ็คก้าร์ ประกาศปฏิญญาข้อที่ ๗ ซึ่งชาวพุทธทั้งหลายควรศึกษาสำเหนียกและถือปฏิบัติตาม เพื่อการก้าวสู่การรับหลักการ เพื่อการพัฒนาการสู่ฐานะของพุทธบริษัทที่เข้มแข็งและมั่นคงในคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า

แม้ในปฏิญญาข้อที่ ๘ ก็เป็นการตอกย้ำให้มั่นคงในการเข้ามารับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งจะถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ไม่อนุโลมไปตามวิถีสังคมที่เคยประพฤติกันมา จึงประกาศอย่างชัดแจ้งว่า “...จะไม่เชิญพราหมณ์มาทำพิธีทุกอย่างไป” ทั้งนี้เพื่อไม่ให้ขาดไปจากคุณสมบัติของพุทธมามกะ ซึ่งจะต้องรักษาพระไตรสรณคมน์ให้มั่นคง ไม่ผันแปรตามที่กล่าวมา

ในปฏิญญาข้อที่ ๙ ที่ดร.อัมเบ็คก้าร์ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเชื่อว่าทุกคนที่เกิดมาในโลกนี้ มีศักดิ์ศรีและฐานะอันเสมอกัน” ก็เป็นการกล่าวตามหลักธรรมทุกประการ ดังพระพุทธพจน์ที่ดร.อัมเบ็คก้าร์ ยกขึ้นมากล่าวอ้างอยู่เสมอว่า พระพุทธองค์ทรงมีพระดำรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายพวกเธอมาจากตระกูลต่างๆ กัน ย่อมมีความเสมอกันเมื่อมาสู่พระธรรมวินัยนี้แล้ว เหมือนมหาสมุทรย่อมเป็นที่รวมของน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำและทะเลต่างๆ เมื่อมาสู่มหาสมุทรแล้วก็ไม่สามารถจะแยกได้ว่า น้ำส่วนไหนมาจากที่ใด” ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ดร.อัมเบ็คก้าร์ จะเลือกเข้าสู่ความเป็นพุทธศาสนิกชน เพราะเขาเชื่อว่าพระพุทธศาสนาให้ความเสมอภาค ภราดรภาพ แด่สัตว์มนุษย์ทุกๆ คนได้อย่างแท้จริง จึงสืบเนื่องเข้าสู่ปฏิญญาข้อที่ ๑๐ ที่ว่า “ข้าพเจ้าจะต่อสู้เพื่อความมีสิทธิเสรีภาพอันเสมอกัน” ทั้งนี้โดยยึดหลักธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา และเดินตามรอยบาทพระบรมศาสดา ที่จะเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนาให้กว้างไกลไปสู่มหาชนทุกชนชั้นวรรณะ ดุจดังพระอริยสงฆ์ในอดีตที่ได้ช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนา อันเป็นไปตามพระพุทธวจนะที่ว่า

“เธอทั้งหลายจงพากันเที่ยวไปเพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลความสุขแก่ทวยเทพ และบรรดามนุษย์โลกทั้งหลาย พวกเธออย่าได้ไปทางเดียวกันสองรูป...จงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะให้ครบบริบูรณ์ สัตว์ทั้งหลายจำพวกที่มีธุลี คือกิเลสในจักษุน้อยมีอยู่ เพราะไม่ได้ฟังธรรมย่อมเสื่อม ผู้รู้ทั่วทัน จักมี...”

จากปฏิญญาข้อที่ ๑๐ เราจึงเห็นพฤติกรรมของดร.อัมเบ็คก้าร์ ที่ได้ออกเผยแผ่คำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า และได้แก้ต่าง ตลอดจนปกป้องพระพุทธศาสนาอย่างเต็มความสามารถ จากการบิดเบือน ใส่ร้าย กล่าวโจมตีพระพุทธศาสนา ดังคำกล่าวของเขาที่ว่า “...พระพุทธศาสนาเท่านั้น ที่ปฏิเสธระบบวรรณะ และคนบางพวกไม่มีเหตุผลที่จะกล่าวโจมตีศาสนาพุทธ หรือไม่มีเหตุผลมาหักล้างคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนาได้ ก็อ้างเอาอย่างหน้าด้านๆ ว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาของพวกนอกวรรณะ...

ดร.อัมเบ็คก้าร์ ได้อาศัยหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอาวุธเพื่อต่อสู้ เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของฐานะความเสมอกันในการเกิดเป็นมนุษยโลกให้กับชนชั้นที่ถูกกดขี่ด้วยระบบวรรณะ โดยการให้ความรู้ประกาศความจริง และไม่กลัวเกรงต่ออิทธิพลของพราหมณ์ในสังคมของฮินดู มีการกล่าวเล่าเรื่องสานเจตนาดร.อัมเบ็คก้าร์ จากนักการศาสนาคนอื่นๆ ว่า “พราหมณ์คือชนเผ่าอารยัน ที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศอินเดียจากทางทิศตะวันตก และได้รุกรานยึดครองบ้านเมืองของชนเผ่าทัสยุ และชนเผ่ามิลักขะ ซึ่งเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิม ที่อยู่อาศัยในลุ่มแม่น้ำสินธุและลุ่มแม่น้ำคงคา พวกที่หลบหนีได้ทัน ก็อพยพลงมาทางใต้ พวกที่หนีไม่ทันก็ถูกพวกเผ่าอารยันบังคับกดขี่ลงเป็นทาส เนื่องจากชนเผ่าอารยันเป็นคนเจ้าอุบาย จึงได้ก่อตั้งศาสนาพราหมณ์ขึ้น เพื่อหวังประโยชน์ในการปกครอง โดยอ้างว่าชนเผ่าอารยันนั้น เป็นลูกหลานของพระพรหมผู้สร้างโลก จึงได้ชื่อว่า พราหมณ์ และได้อ้างว่าพระพรหมได้แบ่งคนในอินเดีย ออกเป็น ๔ วรรณะ ตามหน้าที่การงาน ให้พราหมณ์เป็นวรรณะสูงสุด มีหน้าที่สวดมนต์อ้อนวอนขอพรจากพระเจ้าได้แต่เพียงวรรณะเดียว วรรณะที่สองเป็นวรรณะกษัตริย์ เป็นนักรบทั้งเผ่า วรรณะที่สามเป็นวรรณะแพศย์ ได้แก่ พ่อค้าและช่างฝีมือ ซึ่งได้แก่ ชนเผ่าทัสยุ ส่วนวรรณะที่สี่ คือวรรณะศูทร หมายถึง ชนเผ่ามิลักขะ ซึ่งเป็นกรรมกรใช้แรงงาน ทำกสิกรรมเลี้ยงสัตว์ ทำไร่ไถนาผลิตอาหารเลี้ยงชุมชน และพราหมณ์ได้ยกเอาพระอิศวร ซึ่งเป็นพระเจ้าของชนเผ่ามิลักขะ ว่ามีอำนาจล้างโลกได้ เป็นที่พอใจของชนเผ่ามิลักขะ ในส่วนของวรรณะแพศย์ ซึ่งเป็นชนเผ่าทัสยุ พราหมณ์ได้ตั้งพระวิษณุเป็นเทพเจ้าประจำ มีอำนาจ มีฤทธิ์มาก ทำให้ชนเผ่าทัสยุพึงพอใจ จึงเชื่อตามคำสอนของพราหมณ์ที่แต่งขึ้น และรวมอำนาจสูงสุดไว้ที่พราหมณ์ตามหลักตรีมูรติ โดยถือว่าชีวิตของทุกคนต้องแล้วแต่พระพรหมลิขิตและสามารถดลบันดาลให้ดีให้ชั่วก็ได้ เพราะพระพรหมเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสัตว์

อ่านต่อฉบับหน้า

**ส่งคำถามหรือ แสดงความเห็นในเรื่องต่างๆได้ที่ คอลัมน์ธรรมส่องโลก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ อาคารบางกอกโพสต์ 136 ถนน ณ ระนอง แยกสุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110 โทรสาร 02-671-3132