posttoday

เรื่องดีๆในวัดปทุมวนารามที่สื่อยังไม่พูดถึง

06 มิถุนายน 2553

เข้าวัดนี้ที่มีพระธรรมธัชมุนีเป็นเจ้าอาวาส พบเห็นของดีๆ หลายอย่าง เช่นถ้าต้องการถวายภัตตาหาร หรือทำบุญในโอกาสต่างๆ เชิญที่ด้านหลังศาลาพระราชศรัทธา มีศาลาที่พระราชพิพัฒนาทร (หลวงพ่อถาวร) ดูแล

เข้าวัดนี้ที่มีพระธรรมธัชมุนีเป็นเจ้าอาวาส พบเห็นของดีๆ หลายอย่าง เช่นถ้าต้องการถวายภัตตาหาร หรือทำบุญในโอกาสต่างๆ เชิญที่ด้านหลังศาลาพระราชศรัทธา มีศาลาที่พระราชพิพัฒนาทร (หลวงพ่อถาวร) ดูแล

โดย...สมาน สุดโต

บรรดาวัดในประเทศไทย 3.5 หมื่นวัดในขณะนี้ ไม่มีวัดไหนถูกเอ่ยชื่อตามสื่อสารมวลชนมากเท่าวัดปทุมวนาราม เพราะได้รับผลกระทบเต็มๆ จากการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่แยกราชประสงค์มาเป็นเดือน และก่อนที่กลุ่มเสื้อแดงสลายการชุมนุม ยังมีศพปริศนาในวัดให้พูดถึงกันไม่รู้จบ ทั้งๆ ที่วัดประกาศเป็นเขตอภัยทาน

เมื่อวัดนี้กลายเป็นวัดดังที่ใครๆ ก็พูดถึงเช่นนี้ ผมจึงออกหาข้อมูลบางอย่างที่เกี่ยวกับวัด ตั้งแต่เริ่มสร้างวัดใหม่ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 4 พบว่ามีหลายเรื่องที่สื่อไม่พูดถึง บางเรื่องหลายคนอาจลืมไปแล้วก็ได้ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พระมหาเถระที่มีชื่ออมตะ

การสร้างวัด

 

เรื่องดีๆในวัดปทุมวนารามที่สื่อยังไม่พูดถึง ทิวทัศน์วัดปทุมวนาราม สมัย ร.4

ข้อมูลที่วัดจัดให้แก่สาธารณชนบอกว่าวัดนี้เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2400 หลังจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างรมณียสถานนอกพระนครเพื่อเป็นที่แปรพระราชฐานตามพระราชอัธยาศัย

ปัจจุบันมีความสำคัญเกี่ยวกับรัชกาลปัจจุบันคือมีพระสถูปเจดีย์ครึ่งองค์ เป็นที่ประดิษฐานพระราชสรีรังคารของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระทนต์สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และเส้นพระเกศาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นสถานที่ที่เสด็จบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์เป็นประจำทุกปี

ศักดิ์ของวัดเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดราชวรวิหาร สังกัดคณะธรรมยุติกนิกาย ตั้งอยู่ในแขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน

ที่แห่งนี้ก่อนที่จะกลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้าที่สำคัญในปัจจุบันเมื่อร้อยกว่าปี ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 4 พื้นที่บริเวณนี้เป็นทุ่งนาอยู่ริมคลองบางกะปิ ในพื้นที่ทุ่งพญาไท เป็นที่ลุ่มมีน้ำขังตลอดปี และมีบัวขึ้นอยู่ทั่วไป เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวชาวลาวอาชีพทำนา ซึ่งอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารตั้งแต่สมัยกบฏเจ้าอนุวงศ์

พุทธศักราช 2396 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชประสงค์จะทำให้เป็นรมณียสถานนอกพระนคร ทรงให้สร้างสระบัวอันงดงามไว้เพื่อเป็นที่เสด็จประพาสสำราญพระราชหฤทัยในยามว่างเว้นจากพระราชกรณีกิจ ปรากฏความในพระราชพงศาวดารว่า

ในเดือนอ้ายนั้นแล้ว ทรงพระราชดำริว่า ท้องนาหลวงที่อยู่ในคลองบางกะปิแห่งหนึ่งจะทำเป็นสระบัว ปลูกบัวต่างๆ ไว้ชมเล่น จึงโปรดให้สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยเป็นแม่กอง พระยาสามภพพ่ายเป็นนายงานจ้างจีนขุดสระบัว ให้เป็นเกาะน้อยเกาะใหญ่ลดเลี้ยวกันไป ถ้าที่ไม่พอก็ให้ซื้อที่ราษฎรต่อไปอีก

สมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อย พระยาสามภพพ่าย ทำพระที่นั่งประทับแรมองค์หนึ่ง ทำพลับพลาโรงละคร ที่เจ้าจอมอาศัย โรงครัวข้างใน และโรงครัวเลี้ยงขุนนางข้างหน้า ชักกำแพงล้อมรอบเป็นเขตข้างหน้าข้างใน

ฝ่ายทิศใต้ให้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่ง ประทานชื่อวัด “ปทุมวนาราม” นิมนต์พระสงฆ์ธรรมยุติกาไปอยู่ เจ้าอธิการชื่อ “พระครูปทุมธรรมธาดา” แล้วขุดสระใหญ่มีเกาะน้อยใหญ่ในกลางสระ ในสระนั้นปลูกบัวต่างๆ บนเกาะปลูกผักต่างๆ พรรณดอกไม้ต่างๆ ถึงหน้าฤดูแล้งเดือนยี่ข้างขึ้น ให้ไขน้ำไปไว้เปี่ยมสระ เสด็จมาประทับแรมอยู่สองราตรีบ้าง สามราตรีบ้าง ให้พระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายในลงเรือพายเก็บดอกบัว พรรณดอกไม้ และพรรณผักต่างๆ เล่นเป็นการสนุก

เวลาเช้านิมนต์พระราชาคณะลงเรือสำปั้นน้อยพายเข้าไปรับบิณฑบาต เวลาค่ำก็ให้มีผ้าป่า และให้เรือข้าราชการเข้าไปเล่นเพลงสักวาดอกสร้อย และมีละครข้างในที่พระราชวังนั้น ทรงดั่งนี้ทุกๆ ปี

การสร้างวังสระปทุมและวัดปทุมวนารามนั้น ได้เสร็จสิ้นลงในปลายปีพุทธศักราช 2400 เผอิญสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินีได้ทรงสิ้นพระชนม์ลง และประจวบกับเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติเกี่ยวกับการบ้านเมืองหลายด้านด้วยกัน งานฉลองวัดปทุมวนารามจึงมีขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม ปีพุทธศักราช 2410

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)

การทรงบาตรในสระครั้งนั้น โปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ผู้ใหญ่ผู้น้อย รวมทั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มารับบาตรด้วย พระเถระแต่ละรูปต้องนั่งในเรือสำปั้นเล็ก (เรือบดที่ชาวบ้านว่าอีกาจับก็ล่มเพราะเล็กมาก) พายไปรับบาตร

 

เรื่องดีๆในวัดปทุมวนารามที่สื่อยังไม่พูดถึง พระบรมสารีริกธาตุบนศาลาพระราชศรัทธา

เรื่องเล่าว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) รับบาตรแล้วไม่กลับ พายเรือวนเวียนอยู่หน้าพระที่นั่ง บางทีพายเข้าไปใกล้เรือพระราชาคณะที่จอดคอยรับบาตรอยู่นั้น แล้วยกพายขึ้นบังศีรษะพระราชาคณะรูปนั้น บอกว่า ฉันช่วยบังแดดให้นะจ๊ะ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็น มีพระราชดำรัสว่า เขาให้แล้วยังไม่ไปอีก เที่ยวพายวนเวียนอยู่นี่เอง จะเอาอะไรอีกเล่า

ตามเรื่องเล่าว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ถวายพระพรว่า เกรงพระราชาคณะที่แก่เฒ่าและไม่ชำนาญพายเรือจะทำให้เรือล่มได้ ถ้าเรือล่มลงจะได้ช่วยทัน ถวายพระพรจบก็พายเลยกลับไป

ตั้งแต่นั้นจึงทรงให้เลิกนิมนต์พระราชาคณะมารับอาหารบิณฑบาตทางเรือ แต่ยังเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคทรงทอดผ้าพระกฐินที่วัดปทุมวนารามต่อไป

สระบัวที่ว่านั้น ถ้าดูตามภาพที่สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติเก็บรักษาไว้ จะเห็นสระน้ำขนาดใหญ่ อยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ ในสระนั้นมีเรือหลายชนิดจอดอยู่ ปัจจุบันหากเราไปยืนหน้าพระอุโบสถ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกจะเห็นศาลาหลังเล็กๆ พื้นและกำแพงคอนกรีตเข้ามาแทน นอกกำแพงวัดจะเป็นที่ตั้งห้างเซ็นทรัลเวิลด์

เพื่อรักษาภาพว่าวัดนี้มีสระน้ำ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทางวัดได้ขุดสระขนานกับกำแพงแก้วพระอุโบสถและพระวิหารขึ้นมาหนึ่งสระ มองดูไม่เห็นบัว นอกจากถาวรวัตถุหลายชิ้นหลายอย่างได้ปั้นดอกบัวไว้ เช่น ที่กำแพงวัดมีปูนปั้นรูปดอกบัวและใบบัว ที่หัวเสากำแพงคอนกรีตเป็นรูปดอกบัวเช่นกัน ภายในวัดมีศาลาที่กำแพงแก้วพระอุโบสถจะเห็นปูนปั้นเป็นรูปดอกบัวแทนช่อฟ้าใบระกา มีพุ่มดอกบัวขนาดใหญ่ตามมุมของพระเจดีย์ที่ด้านหน้าพระวิหาร

ที่หน้าพระวิหารหากสังเกตจะพบแท่งหินสลักเป็นเทพ มีข้อความบรรยายว่า อนุสาวรีย์นี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้เป็นที่ระลึกแก่คุณหญิงนิติ มโนปกรณ์นิติธาดา แผ่นศิลาจารึกทางด้านซ้ายมือมีข้อความว่า พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) ชาตะ 15 กรกฎาคม 2427 มตะ 1 ตุลาคม 2491 แผ่นศิลาจารึกขวามือมีข้อความว่า คุณหญิงนิติ เกิด 6 ตุลาคม 2431 มรณะ 4 พฤษภาคม 2473

พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) คือนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
ท่านดำรงตำแหน่งวันที่ 28 มิถุนายน 2475 และถูกรัฐประหาร ต้องลาออกจากนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476

ปูชนียวัตถุ

 

เรื่องดีๆในวัดปทุมวนารามที่สื่อยังไม่พูดถึง

พระใส หรือ พระสายน์ เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดปทุมวนาราม เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวลาวนับถืออยู่ที่เมืองเวียงจันทน์มานาน เป็นพระพุทธรูปหล่อแบบปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1 ศอก 1 นิ้ว ประดิษฐานอยู่บนชุกชี 4 ชั้น ข้างหลังองค์พระมีซุ้มประทับส่องให้เห็นองค์พระงามเด่นยิ่งขึ้น พระเสริมเป็นพระประธานในพระวิหารวัดปทุมวนาราม เป็นพระพุทธรูปที่ได้อัญเชิญมาจากประเทศลาวเช่นกัน

จากพุทธาวาสเป็นสังฆาวาส การปกครองแบ่งเป็นคณะ ถัดจากนั้นเป็นประตูทางเข้าสวนป่า ทางเข้าสวนป่าด้านซ้ายมือเคยมีกุฏิที่พักของหลวงปู่มั่น |ภูริทัตโต พระอาจารย์กรรมฐานชื่อดัง ซึ่งเคยมาอยู่ที่นี่ เมื่อพรรษาที่ 8 ปัจจุบันรื้อออกไปสร้างเป็นกุฏิตึกแทน

ในบริเวณสวนป่าจะพบศาลาพระราชศรัทธา ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพื่อเป็นที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งถ้าขึ้นไปที่ศาลาขณะนี้จะเห็นพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานให้ประชาชนได้กราบไหว้บูชาทุกวัน

นอกกำแพงที่ตั้งศาลาพระราชศรัทธาเป็นบริเวณสวนป่า ด้านในสุดเป็นที่ตั้งศาลาทรงธรรม ในงานออกพระเมรุพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พ.ศ. 2539

เข้าวัดนี้ที่มีพระธรรมธัชมุนีเป็นเจ้าอาวาส พบเห็นของดีๆ หลายอย่าง เช่นถ้าต้องการถวายภัตตาหาร หรือทำบุญในโอกาสต่างๆ เชิญที่ด้านหลังศาลาพระราชศรัทธา มีศาลาที่พระราชพิพัฒนาทร (หลวงพ่อถาวร) ดูแลอยู่ยินดีต้อนรับทุกท่าน หรือจะสนับสนุนกิจการสหกรณ์ก็มีสินค้าจากสหกรณ์ให้ซื้อหลายรายการ หากจะถวายสังฆทานมีให้เลือกตั้งแต่ศาลาที่หน้าวัด จนถึงร้านค้าสหกรณ์

นี่คือวัดปทุมวนาราม มีสวนป่ากลางกรุง เข้าไปแล้วสามารถทำบุญได้ครบวงจร และมีของดีๆ ที่สื่อยังไม่พูดถึงอีกมาก

***************

ทวีปัญญาที่หอวชิราวุธฯ

กิจกรรมทวีปัญญา ประจำปีนี้ หอวชิราวุธานุสรณ์เชิญ นายศุภชัย จันทร์สุวรรณ์ ศิลปินแห่งชาติ คณะบดีคณะนาฏดุริยางคศิลป์ สถาบันพัฒนศิลป์ และนายวัฒนะ บุญจับ นักอักษรศาสตร์ชำนาญการพิเศษ กรมศิลปากร มาบรรยาย เรื่องศิลปะการละคร ในรัชกาลที่ 6 วันอังคารที่ 8 มิถุนายน 2553 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุมศรีอยุธยา หอวชิราวุธฯ ในหอสมุดแห่งชาติ ยินดีต้อนรับผู้มีเกียรติทุกท่าน