posttoday

ปาฏิหาริย์แห่งธรรม ณ เวฬุวันฯ อินเดีย (ตอนที่ ๒)

05 ตุลาคม 2557

ในระหว่างพรรษาประมาณวันที่ ๒๔ ส.ค. ๒๕๕๗ อาตมาได้เดินทางไปนครปัตนะ รัฐพิหาร อินเดีย

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

...ในระหว่างพรรษาประมาณวันที่ ๒๔ ส.ค. ๒๕๕๗ อาตมาได้เดินทางไปนครปัตนะ รัฐพิหาร อินเดีย ด้วยจุดประสงค์ ๒ ประการ คือ

๑.กราบสักการะพระบรมสารีริกธาตุ ณ พิพิธภัณฑ์ของรัฐบาล ที่นครปัตนะ ซึ่งสถานที่ดังกล่าวเดิมคือ วัดอโศการาม ที่ซึ่งกระทำตติยสังคายนา สมัยพระอโศกมหาราช จึงหวังว่าจะได้ไปกราบบูชาระลึกถึงพระอรหันตสาวก จำนวน ๑,๐๐๐ รูป ที่พร้อมใจกันกระทำการสังคายนา โดยมีพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระเจ้าเป็นองค์ประธานสงฆ์

๒.เยี่ยมท่านรัฐมนตรีชารวัน กุมาร ที่อุตส่าห์มีน้ำใจมาเยี่ยม ถวายความเคารพอาตมาถึงเวฬุวันฯ

การไปนครปัตนะในครั้งนั้นสำเร็จตามประสงค์เพียงข้อเดียว คือข้อที่ ๒ ส่วนข้อที่ ๑ ไม่ประสบผล เพราะดันไปตรงกับวันหยุดของพิพิธภัณฑ์ แต่ได้มีโอกาสพบกับประธานรัฐสภา (Speaker) แห่งรัฐบาลพิหาร/อินเดีย ที่บ้านพักของท่าน ตลอดจนได้พบปะกับรัฐมนตรี ๔๕ กระทรวง โดยได้ถือโอกาสเชิญท่านประธานรัฐสภา ซึ่งนับเป็นบุคคลสำคัญหมายเลข ๒ ของรัฐพิหาร ต่อจาก Chief Minister หรือประธานมุขมนตรีของรัฐ... ซึ่งท่านประธานรัฐสภา ยินดีตอบตกลงมาร่วมงานทอดถวายผ้ากฐินประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ณ เวฬุวันมหาวิหาร ประจำปีพรรษาพุทธศักราช ๒๕๕๗ โดยงานดังกล่าวจะมีรัฐมนตรีการท่องเที่ยวและรัฐมนตรีชารวัน กุมาร มาร่วมงานด้วย

ในการพบปะกับรัฐมนตรีหลายกระทรวง ณ บ้านพักของท่านประธานรัฐสภา แห่งรัฐพิหาร มีความสำคัญที่ต้องนำมาเล่า เพราะจะเชื่อมโยงสู่เรื่องราวประวัติศาสตร์แห่งเวฬุวันมหาวิหาร ที่กำลังเกิดขึ้น... เพราะหนึ่งในรัฐมนตรีที่ได้พบในวันนั้นกำกับดูแลกระทรวงป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ของรัฐบาลป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ของรัฐบาลแห่งรัฐพิหาร/อินเดีย... อาตมาจึงได้โอกาสนำเสนอว่า น่าจะพัฒนาพื้นที่ Sacred Site ในเวฬุวันมหาวิหารตรงบริเวณ ลานพระโอวาทปาติโมกข์ ที่ศาสนิกชนจากทั่วโลกเดินทางมากราบในทุกปี แต่คำตอบที่ได้รับคือ ยากที่จะอนุมัติโครงการพัฒนาดังกล่าว ด้วยกฎหมายของอินเดียนั้นเข้มแข็งมากในการรักษาทรัพยากร แม้หญ้าที่ตายแล้วเพียงต้นเดียวก็ยังหยิบไปไม่ได้... จะทำการพัฒนาใดๆ จึงติดขัดด้วยข้อกฎหมาย และจะต้องเข้าสู่ Supreme Court ของประเทศ เพื่อวินิจฉัยชี้ขาด !

...อาตมาจึงจ๋อยไปพอสมควร... แต่ไม่ถึงกับจืดจางความมุ่งมั่นที่จะนำเวฬุวันมหาวิหารคืนกลับมาสู่อ้อมกอดของชาวพุทธ เช้าวันที่ ๒๕ ส.ค. ๒๕๕๗ อาตมากลับมาจากบิณฑบาตเดินเข้ามาสู่เวฬุวันฯ ได้แวะไปที่ Sacred Site ดังกล่าวเพื่อกราบไหว้บูชา ระลึกถึงพระคุณอันไม่มีประมาณของพระผู้มีพระภาคเจ้า โดยยังมีเรื่องขอพัฒนาดูแลแผ่นดินพระศาสนาสถานที่ประดิษฐานหัวใจพระพุทธศาสนาค้างคาใจอยู่ (แปลว่ายังไม่ถอดใจ) จึงได้ใช้มือขวาตบลงไปบนแท่นซุ้มเจดีย์ที่ประดิษฐานพระพุทธรูปอย่างแรง พร้อมทั้งกล่าวอธิษฐานว่า... ขอให้สำเร็จอย่างรวดเร็ว?

...ยามเย็นของวันนั้น อาตมาได้ออกไปสำรวจพื้นที่เขตโบราณนครราชคฤห์ เพื่อเก็บภาพมาประกอบในหนังสือที่จัดทำขึ้นที่ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว สักพักหนึ่ง รจนาเรียนให้ทราบว่า หัวหน้าป่าไม้จากพิหารชารีฟมารอขอถวายความเคารพ (Respect) อยู่ที่เวฬุวันฯ จึงเดินทางกลับมา เพื่อพบกับหัวหน้าป่าไม้ฯ ที่ศาลาที่พักใกล้สระน้ำกลันทกนิวาปะ เมื่อได้สนทนากันไปพอสมควรแล้ว หัวหน้าป่าไม้ฯ ได้มีคำถามต่ออาตมาว่า...

ทำไมอาตมาจึงเลือกมาจำพรรษาที่เวฬุวันแห่งนี้?

เมื่ออาตมาตอบเสร็จเรียบร้อย... ในสุดท้ายแห่งการพูดคุยกับอาตมา หัวหน้าป่าไม้ฯ ได้กล่าวขึ้นว่า...

“ขอมอบที่ดินเขตศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธศาสนาในเวฬุวันฯ ให้กูรูยีพัฒนาอย่างไรก็ได้เพื่อพระพุทธศาสนา!!”

...คืนนั้นอาตมาฟุ้งซ่านพอสมควร ภาวนารวมจิตเกือบไม่ลง เพราะจิตมันมัวแต่เข้าไปสู่อารมณ์ยินดีในสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเกินค่าความนึกคิด ...โดยเฉพาะจิตมันวางแผนงานอย่างรวดเร็ว เพื่อจะเร่งรีบจัดการพัฒนาพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะบริเวณลานพระโอวาทปาติโมกข์ ที่อาตมาก้มกราบสักการบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้ามาหลายปี เพื่อให้เสร็จเร็วที่สุดก่อนที่จะมีอุปสรรคใดๆ มาขัดขวาง ...เพราะนี่คืออินเดีย เจ้าของสโลแกน Incredible India... ที่อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้อย่างคาดคิดไม่ถึงเสมอ จึงไม่ควรคิดอะไรมากหากต้องการอยู่อย่างมีความสุข ...มีอะไรให้ทำก็รีบทำ ...มีอะไรให้กินก็รีบกิน ...มีโอกาสเข้ามาก็อย่ามัวแต่รีรอบิดตะกูด ...เดี๋ยวจะเหลือแต่ราคาคุยให้เจ็บใจเล่น !!

บังเอิญในช่วงเวลาที่ข่าวดีเข้ามา อาตมามีสัตตาหกรณียะ กลับประเทศไทยรอบสอง ประมาณวันที่ ๒๙ ส.ค. ๒๕๕๗ โดยมีบรรยายธรรมในวันที่ ๓๐ และ ๓๑ ส.ค. ๒๕๕๗ จึงมีเวลาไปเตรียมงานพัฒนา Sacred Site/ลานพระโอวาทปาติโมกข์ ที่วัดป่าพุทธพจน์ฯ ลำพูน ดินแดนของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย... สิ่งแรกที่อาตมากระทำ คือ การติดต่อช่างฝีมือในท้องถิ่น ซึ่งสามารถทำงานปูนปั้นได้ โดยประสงค์ที่อยากให้เป็นงานศิลปะของพระพุทธศาสนา ฝีมือช่างหริภุญไชย... โดยได้มอบให้ จีรพัฒน์ สังขทรัพย์ ลูกสาวอดีตผู้การตำรวจชื่อแม้น แม่ชื่ออุไร สนิทสนมกับนิชาดา สามีชื่อสมศักดิ์ เป็นปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ช่วยเหลือในการจัดการด้านเอกสารเดินทางและได้มอบให้ กฤษณ์ (พล.ต.ต.กฤษณ์ กิติลือ) ช่วยเป็นธุระอำนวยการให้ช่างฝีมือทั้งสามไปกราบทูลลาพระนางจามเทวี และกราบนมัสการพระธาตุหริภุญไชย ก่อนเดินทางสู่ชมพูทวีป เพื่อร่วมกันพัฒนาเวฬุวันฯ ให้กลับมาเป็นมหาวิหาร เขตแดนพุทธศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง...

อ่านต่อสัปดาห์หน้า