posttoday

ปาฏิหาริย์แห่งธรรม ณ เวฬุวันฯ อินเดีย ตอนที่ ๑ ...

28 กันยายน 2557

ได้ติดตาม “ธรรมส่องโลก” ทราบถึงการไปอยู่จำพรรษาในอินเดีย ขออนุโมทนาใน ธรรมบรรยาย จากเวฬุวัน

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา : ได้ติดตาม “ธรรมส่องโลก” ทราบถึงการไปอยู่จำพรรษาในอินเดีย ขออนุโมทนาใน ธรรมบรรยาย จากเวฬุวัน

วิสัชนา : เจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา การใช้ชีวิตอย่างรู้ค่าในฐานะที่มีโอกาสเป็นสัตว์ประเสริฐ เป็นเรื่องของสัตบุรุษ ส่วนคนพาล (อสัตบุรุษ) นั้น จะใช้ชีวิตอย่างไร้ค่า ไปบนถนนฝุ่นตัณหากิเลส... ทั้งสองฐานะจึงได้รับผลที่ต่างกันอย่างเป็นธรรมดา

พรรษาปีนี้ อาตมามุ่งหน้าสู่การศึกษาปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่อง มีการวัดประเมินผลตลอดเวลา นับว่าเป็นพรรษาแรกที่สมบูรณ์ยิ่ง โดยเฉพาะเป็นการอยู่จำพรรษาในเวฬุวันมหาวิหาร แห่งพระนครราชคฤห์ แคว้นมคธในอดีตที่ยังคงความศักดิ์สิทธิ์ สมบูรณ์พร้อมในสัปปายะธรรม ด้วยเป็นมหาวิหารที่พระพุทธองค์ทรงประทับถึงห้าพรรษา แวดล้อมพระอรหันตสาวกหลายหมื่นรูป

ที่สำคัญทรงเลือกสถานที่ดังกล่าว ประดิษฐาน หัวใจพระพุทธศาสนา ดังที่ได้ทรงประกาศพระโอวาทปาฏิโมกข์ อันเป็นดุจธรรมนูญแม่บทของพระธรรมคำสั่งสอน เมื่อวันเพ็ญเดือนสาม มาฆฤกษ์ ที่ชาวพุทธเรียก วันมาฆบูชา...

เวฬุวันมหาวิหาร จึงเป็นชัยภูมิของกองทัพพระศาสนา เพื่อประกาศพระสัจธรรมไปทั่วชมพูทวีป ยังให้แคว้นมคธกลายเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา จึงเรียกพระนครราชคฤห์อีกชื่อหนึ่งว่า พระนครพุทธศาสนา...

สืบเนื่องอายุพระพุทธศาสนาต่อมาตามลำดับ จากเจริญสูงสุดและต่ำสุดของ องค์กรพุทธศาสนา ด้วยภัยจากทั้งภายนอกและภายใจ จนถึงกาลล่มสลายในชมพูทวีป เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๗ เศษๆ

ความเปลี่ยนแปลงเพื่อความดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา ได้ปรากฏเกิดขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ ด้วยแม้ว่าจะสูญหายไปจากมาตุภูมิ แต่กลับไปเจริญเติบโตในดินแดนอารยธรรมต่างๆ อย่างยิ่งใหญ่ แผ่กิ่งก้านสาขาไปทั่วโลก จนได้รับการยกย่องให้เป็น ศาสนสากล ด้วยอำนาจพระธรรมคำสั่งสอนที่เป็น อมฤตธรรม ทนทานต่อการพิสูจน์ ไม่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ไม่มีใครๆ คัดค้านให้ตกไปได้

พุทธศาสนาจึงก้าวสู่ความเป็นสถาบันการศึกษาทางจิตวิญญาณของชาวโลก สมกับเป็นเจ้าของอริยสัจอันแสดงถึงความจริงที่เป็นที่สุดแห่งความจริง... จึงไม่แปลกเมื่อวันหนึ่งพระพุทธศาสนาได้คืนกลับสู่แผ่นดินเกิดอีกครั้ง มีชาวชมพูทวีปเข้าสู่พระพุทธศาสนา ดังที่มีการแสดงตนเป็น พุทธมามกะ อย่างยิ่งใหญ่ เมื่อเดือน ต.ค. ๒๔๙๙ ณ นครนาคปุระ รัฐมหาราษฏระ/อินเดีย จำนวนหลายแสนคน ภายใต้การนำของ ดร.อัมเบ็ดก้าร์... ปัจจุบันมีชาวพุทธในอินเดียมากกว่าสิบกว่าล้านคน เราจึงเห็นการเคลื่อนไหวขององค์กรพุทธศาสนาอีกครั้งหนึ่งในชมพูทวีปที่มีองค์กรพุทธศาสนานานาชาติ ร่วมกันขับเคลื่อนเผยแผ่พระพุทธศาสนา...

ในแต่ละปีจึงมีชาวพุทธเดินทางจากทั่วโลกสู่ชมพูทวีป (อินเดีย เนปาล) จำนวนมากมาย โบราณสถานของพุทธศาสนากลายเป็นมรดกอันล้ำค่า ที่อินเดียได้ประโยชน์... แต่ความใส่ใจอย่างจริงใจก็ยังมีน้อยมากต่อการช่วยพัฒนาฟื้นฟูและบำรุงรักษา... เราจึงพบเห็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันสำคัญในพระพุทธศาสนา ไม่ได้รับการเหลียวแล ให้สมกับที่มีคุณประโยชน์ และมีคุณค่าต่อจิตวิญญาณของชาวโลก

สถานที่อันสำคัญของพุทธศาสนาถูกทอดทิ้ง ...ดังเช่น สวนป่าเวฬุวันหรือราชอุทยานเวฬุวันในอดีต ก็ใช่ว่าจะได้รับการใส่ใจ ว่าเป็นพุทธสถานที่สำคัญ อันควรค่าแก่การดูแลรักษา เพื่อการศึกษาในทุกๆ ด้านอันสัมพันธ์กัน ไม่ว่าสังคม การเมือง ประเพณี วัฒนธรรม และศาสนา... ถึงแม้ว่า สวนป่าเวฬุวันจะได้รับการยอมรับว่าเป็นมหาวิหาร ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเคยทรงประทับ แวดล้อมพระสงฆ์สาวกจำนวนมากมาย... เป็นศูนย์กลางการเผยแผ่การศึกษาปฏิบัติในพระธรรมวินัยไปทั่วชมพูทวีป

ปัญหาจึงอยู่ที่ชาวพุทธ ว่าจะช่วยกันทำอย่างไรเพื่อให้ได้ มหาวิหารเวฬุวันกลับคืนมา จะได้ช่วยกันพัฒนาดูแลรักษาให้เหมาะสมกับคุณค่า ที่มีฐานะเป็นวัดหลวงแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ...เป็นที่ประดิษฐานหัวใจพระพุทธศาสนา

การมาสร้างวัดของชาวพุทธในอินเดีย ไม่ว่าจะกี่ร้อยกี่หมื่นวัด ไม่สามารถเปรียบเทียบได้เลย แม้เพียงเศษเสี้ยว หากชาวพุทธได้เวฬุวันมหาวิหารคืนกลับมาดูแล แม้เพียงวัดเดียว... เพราะนี่คือมหาวิหารแห่งแรกในพุทธศาสนา ที่สำคัญทั้งในเชิงสัญญลักษณ์ และ ธัมมลักษณ์... แห่งความเป็นพระพุทธศาสนาในชมพูทวีป

เมื่ออาตมาได้มาอธิษฐานอยู่จำพรรษาในปีนี้ จึงพยายามเพียรปฏิบัติอย่างเต็มกำลัง จะได้เป็นอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ในการกระทำสัตยาธิษฐาน เพื่อขอความสำเร็จพึงมีต่อความปรารถนา ที่จะได้เข้าไปพัฒนา Sacred Site ที่เชื่อว่าเป็นลานปาฏิโมกข์ ใจกลางเวฬุวัน และที่สุดแห่งความเพียร ก็เกิดความสำเร็จอย่างอัศจรรย์ เมื่อวันหนึ่งหัวหน้าหน่วยงานป่าไม้ฯ ได้มาพบกับอาตมาและกล่าวยินดีให้อาตมา พัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเพื่อพุทธศาสนา... ยามนี้จึงได้เห็นการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวอย่างเร่งด่วน (กลัวอินเดียเปลี่ยนใจ) เพื่อให้เสร็จทันก่อนออกพรรษา มีการปูพื้นหินอ่อน สร้างแนวกำแพงแบบวัด สำคัญที่สุด คือ การสร้าง บัลลังก์พุทธอาสน์โอวาทปาฏิโมกข์ ถวายพระผู้มีพระภาคเจ้า อันมีความหมายธรรมสำคัญอย่างยิ่งต่อการสืบอายุพระพุทธศาสนา... (ติดตามอ่านตอนต่อไป)

เจริญพร