posttoday

เล่าเรื่องกฐินประวัติศาสตร์ฯ พรรษา ปี ๕๗!!

21 กันยายน 2557

เจริญพรสาธุชนผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา อีกไม่กี่เพลาก็ จะบรรจบครบไตรมาสในฤดูกาลฝน

เจริญพรสาธุชนผู้ศรัทธาในพระพุทธศาสนา อีกไม่กี่เพลาก็ จะบรรจบครบไตรมาสในฤดูกาลฝน พระภิกษุที่อธิษฐานอยู่จำพรรษาแรก หากไม่ประพฤติผิดพระวินัยให้อาบัติ (บาป) จนพรรษาขาด ก็ย่อมมีสิทธิรับผ้ากฐินที่เกิดขึ้นในอาวาสแห่งนั้นได้... คำว่า... ผ้ากฐิน เกิดขึ้นนั้นมิใช่ ต้นกฐินริมรั้ว ที่ผุดแตกหน่อขึ้นมาเอง... แต่จะต้องมีสาธุชนผู้มีปัญญาปวารณาตนเพื่อแสดงเจตนาตนโดยเปิดเผยต่อคณะสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาครบ ๕ รูป ว่า... ข้าพเจ้าและหมู่คณะ (หากมี) ขอปวารณาต่อพระสงฆ์ที่อยู่จำพรรษาในวัดแห่งนี้ทุกรูป ว่า ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้ากฐินจีวรและบริวาร ประจำปีพรรษา พุทธศักราช ๒๕๕๗ นี้... หากพระคุณเจ้าทั้งหลาย ยังไม่ได้รับปวารณาการถวายผ้ากฐินจากผู้ใด ได้โปรดรับการปวารณาถวายผ้ากฐินฯ ประจำปีนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย ด้วยเทอญ...” เมื่อภิกษุสงฆ์ในอาวาสนั้นพิจารณาแล้วเห็นควรรับผ้ากฐินที่จะเกิดขึ้นในปีพรรษานี้ ก็จะนิ่งสงบ หรือสาธุการพร้อมกัน... เป็นอันว่า บัดนี้ ท่านผู้นี้หรือศรัทธาคณะนี้ ได้เป็นเจ้าภาพเฉพาะหรือเจ้าภาพร่วม ในการถวายผ้ากฐินประจำปี ณ วัดแห่งนี้ ถ้าเป็นเจ้าภาพร่วมกันได้ ไม่จำกัด เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ทำบุญในฐานะเป็นเจ้าของผ้ากฐินร่วมกัน ก็จะเรียกว่า กฐินสามัคคี...

ความสามัคคี... เป็นความน่ารัก สวยงาม บริสุทธิ์ ที่พระพุทธศาสนายกย่องแสดงคุณไว้ว่าเป็นไปเพื่อความสุข ความเจริญ ในหมู่คณะ ...หมู่คณะใด สังคมใด ประเทศใด มีสมาชิก รู้รัก สามัคคีกัน ชักชวนกันทำความดี สังคม... ประเทศนั้นจะมีแต่ความเจริญส่วนเดียว ยากจะพบกับความเสื่อม

ในปีนี้ คณะศรัทธาสาธุชน ได้พร้อมใจกัน จัดงานถวายผ้ากฐินประวัติศาสตร์ของพุทธศาสนา ณ เวฬุวันมหาวิหาร แห่งพระนครราชคฤห์ แคว้นมคธในอดีต ปัจจุบันเรียก ตำบลราชกีร์ นาลันทา/ปัตนะ รัฐพิหาร อินเดีย ในวันที่ ๒๒ ต.ค. ๒๕๕๗ โดยมี คุณหญิงนงเยาว์ ชัยเสรี ม.ล.สราลี กิติยากร รจนา วานิช และคณะศรัทธาในพระพุทธศาสนามากกว่า ๒๐๐ ชีวิต จะเดินทางจากประเทศไทย มาร่วมถวายผ้ากฐินสามัคคีในดินแดนมาตุภูมิของพระพุทธศาสนา ณ มหาวิหารแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ที่พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งแคว้นมคธในชมพูทวีปน้อมถวาย ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทับจำพรรษาถึง ๕ พรรษา ทรงประทานคำสั่งสอนมากกว่า ๑๕ พระสูตร ที่สำคัญ เช่น สิงคาลกสูตรจูฬราหุโลวาทสูตร มหากัมมวิภังคสูตร ฯลฯ หรือเรื่องราวในชาดกที่เกิดขึ้น ณ เวฬุวันมหาวิหารแห่งนี้ ที่ได้ศึกษาค้นคว้าพบว่ามีถึง ๒๑ ชาดก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับพระเทวทัตผู้กระทำสังฆเภท อันเป็นอนันตริยกรรม... เรื่องราวเหล่านี้จะปรากฏอยู่ในหนังสือชื่อ ขุนเขา...แห่งพระสัทธรรม/เวฬุวันที่ไม่ผันแปร เป็นแนวการศึกษาวิพากษ์น่าอ่าน ที่ได้ประมวลเรื่องราวจบสมบูรณ์ แล้วประกอบรูปภาพแสดงสถานที่สำคัญพร้อมประวัติโดยย่อ ที่จะจัดพิมพ์ในเร็วๆ นี้ให้เสร็จทันงานถวายผ้ากฐินประวัติศาสตร์ฯ เวฬุวันมหาวิหาร และจะได้มอบต้นฉบับภาษาไทย ไปสู่ขบวนการแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาฮินดี ที่สนับสนุนการจัดพิมพ์เผยแพร่หนังสือเล่มนี้ โดย รัฐมนตรีแห่งรัฐบาลท้องถิ่นรัฐพิหาร/อินเดีย ตามที่เคยกล่าวเล่าเรื่องไปแล้วใน “ธรรมส่องโลก” โดยจะมีการเปิดตัวหนังสือเล่มนี้อย่างเป็นทางการที่นครปัตนะ รัฐพิหาร... ทั้งนี้เพราะทางอินเดียต้องการให้เผยแพร่ข้อมูลเชิงการศึกษาที่เกี่ยวกับพุทธสถานอันสำคัญในรัฐพิหารหรือมคธชนบทในอดีต ไปสู่ชาวอินเดียที่จะได้รู้ถึงคุณค่าความสำคัญของเขตศักดิ์สิทธิ์ของพุทธศาสนาดังที่มีปรากฏถึงปัจจุบัน ที่สามารถศึกษาได้จากพุทธกิจของพระพุทธองค์ ที่แสดงอยู่ในพระสูตรต่างๆ ซึ่งตรงเจตนาของอาตมาที่จะได้เผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนอันบริสุทธิ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าไปด้วย อันเป็นงานสืบสานอายุพระพุทธศาสนา ที่สำคัญกว่า การสร้างวัตถุทั้งปวง...

แม้ว่าหนังสือดังกล่าวยังไม่ได้สู่กระบวนการจัดพิมพ์ เพื่อมอบเป็นธรรมบรรณาการ แก่ผู้มีศรัทธา แต่ได้แสดงความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระธรรมฯ ให้ท่านเอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย มีศรัทธาขอสนับสนุนการจัดแปลเป็นภาษาฮินดี พร้อมทั้งจะขอผาติกรรมจำนวนหนึ่ง เพื่อมอบให้สถานทูตอินเดีย ประจำประเทศต่างๆ ทั่วโลก หลังจากได้พบกับอาตมา เมื่อวันที่ ๓ ก.ย. ๒๕๕๗ ณ สถานทูตอินเดีย/กรุงเทพฯ และเมื่อวันที่ ๒๐ ก.ย. ที่ผ่านมา ท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำสาธารณรัฐอินเดีย (คุณชลิต มานิตยกุล) พร้อมเลขาทูตฯ ได้มากราบเยี่ยมอาตมาที่เวฬุวันมหาวิหาร/อินเดีย อาตมาก็ได้เล่าเรื่องหนังสือเล่มดังกล่าว ที่ได้ประมวลเรียบเรียงเสร็จสมบูรณ์แล้วให้ทราบ พร้อมทั้งเล่าเรื่องการจัดงานกฐินประวัติศาสตร์พุทธศาสนา ณ เวฬุวันมหาวิหาร ให้ท่านทูตชลิต ได้ทราบว่า มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการจัดงานถวายผ้ากฐินฯ ณ เวฬุวัน มหาวิหาร แห่งนี้ โดยเฉพาะการถือปฏิบัติตามพุทธบัญญัติพุทธประเพณี ทุกขั้นตอน ไม่มีการเรี่ยไรบอกบุญ...ไม่มียอดกฐินใดๆ ที่นี่ จะมีแต่การกราน (กราล) กฐินและบริวารที่พระศรีมหาโพธิ์/พุทธคยา อันเป็นสถานที่ตรัสรู้ฯ ๓ คืน เริ่มตั้งแต่คืนวันที่ ๑๙๒๑ ต.ค. ๒๕๕๗ โดยจะมีพิธีเปิดการสมโภชเฉลิมฉลององค์กฐินประวัติศาสตร์พุทธศาสนาฯ ในเวลา ๑๖.๐๐ น. ของวันที่ ๑๙ ต.ค. ๒๕๕๗ ซึ่งจะมีประธานรัฐสภาของรัฐพิหาร/อินเดีย และรัฐมนตรีกำกับดูแลการพัฒนาชนบทและกิจการรัฐสภา รัฐมนตรีกำกับดูแลการท่องเที่ยว ตลอดจนบุคคลสำคัญระดับสูงในอินเดีย อาทิ Chief Information Commissioner แห่งรัฐมหาราษฎร์/อินเดีย ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนการจัดงานจากมหาโพธิสมาคมของอินเดีย ซึ่งเป็นองค์กรทางพุทธศาสนาที่เก่าแก่ที่สุด มีอายุเกือบครบ ๑๓๐ ปี ที่กำลังเฉลิมฉลองกันอยู่...

รายละเอียดของงานดังกล่าวทุกขั้นตอน และเรื่องราวต่างๆ ของพุทธศาสนาในสถานที่สำคัญๆ ในอินเดีย จะมีการถ่ายทำเก็บภาพบันทึกเสียงทุกขั้นตอน โดยคณะกองถ่ายของ ม.ล.สราลี กิติยากร เพื่อนำมาเผยแพร่ภาพเสียงทางรายการ เที่ยวละไมไทยแลนด์เวิลด์ฯ... สาธุชนพึงติดตามอนุโมทนากันได้

เจริญพร