posttoday

ศึกษาดร.อัมเบ็คก้าร์ กรณีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในชมพูทวีป(๗)

23 กันยายน 2552

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

ในประการที่ ๔ ต้องไม่นับถือลัทธิศาสนาพราหมณ์ จากข้อนี้จะเห็นได้ว่าหลักการคำสั่งสอนแห่งพระพุทธศาสนานั้นสวนกระแส และอยู่ฝั่งตรงข้ามกับลัทธิการสอนของศาสนาพราหมณ์ หรือฮินดูอย่างสิ้นเชิง โดยศาสนาพุทธเป็นอเทวนิยม แต่ศาสนาพราหมณ์เป็นเทวนิยม ดังนั้นการที่พราหมณ์หรือศาสนาฮินดูจะมาแต่งตำราเพิ่มเติม กล่าวอ้างว่าพระพุทธเจ้าคืออวตารของพระวิษณุ จึงเป็นเรื่องที่ผิดเพี้ยนจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนา ดร.อัมเบ็คก้าร์จึงเขียนเป็นปฏิญญาข้อที่ ๕ ว่า “ข้าพเจ้าจะไม่เชื่อว่าพระพุทธเจ้าคืออวตารของพระวิษณุ การเชื่อเช่นนั้นคือคนบ้า...” ทั้งนี้เพราะพุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูนั้นมีหลักคำสอนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะความสำคัญอยู่ที่พระพุทธศาสนาเป็นสัตถุศาสน์ (เป็นศาสนาว่าด้วยพระธรรมคำสั่งสอนที่เป็นอริยสัจ) ส่วนศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูเป็นวัตถุศาสตร์ (ให้เชื่อตัวตน บุคคล และเทพเจ้าที่พยายามสร้างขึ้นเป็นอัตลักษณ์ต่างๆ มากมาย ไม่รู้จบ เป็นไปตามยุคนิยม ไม่จบไม่สิ้น การถือกำเนิดเกิดเป็นเทพเจ้าองค์ต่างๆ เพื่อโน้มน้าวนำไปสู่ความเคารพบูชาอย่างลุ่มหลง)

หากพิจารณาต่อไปจึงพบความจริง ปฏิญญาในข้อที่ ๗ ขึ้นมาสานต่อความคิดและการกระทำ ซึ่งนับว่าเป็นความอัจฉริยะของดร.อัมเบ็คก้าร์ ที่วางปฏิญญาทั้ง ๒๒ ข้ออย่างเป็นระบบขั้นบันได ที่สามารถเดินไปสู่ความจริงอันเป็นที่สุดแห่งชีวิตเพื่อความสิ้นทุกข์บนหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการ ดังในปฏิญญาข้อที่ ๗ นั้น ตามที่กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะไม่ทำสิ่งที่ขัดต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า” ซึ่งหากอ่านอย่างไม่คิด พิจารณาให้แยบคาย ก็อาจจะเข้าใจเหมือนการสั่งการให้เชื่อตามตนเอง แต่หากเข้าใจพระธรรมคำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา ก็จะพบว่าดร.อัมเบ็คก้าร์ เข้าใจประโยชน์จากคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในพระธรรมวินัยอย่างดี โดยเฉพาะโอวาทปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธองค์ทรงประทานคำสั่งสอนดังกล่าวแด่พระสงฆ์สาวก ๑,๒๕๐ รูป ที่เป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ซึ่งมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายในวันมาฆฤกษ์ก่อนเข้าสู่พรรษาที่ ๒ ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร (วัดหรือพระวิหารแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ที่ราชกีร์ หรือราชคฤห์ อำเภอนาลันทา จังหวัดปัตนะ รัฐพิหาร อันเป็นดินแดนเกิดวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า “วันมาฆบูชา” ซึ่งจะปรากฏวันดังกล่าวในเดือนก.พ.ของทุกๆ ปี)

ในกาลมาฆฤกษ์ดังกล่าว ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ รัฐพิหาร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานโอวาทปาฏิโมกข์แด่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นรากฐานแห่งพระวินัยที่เป็นรากแก้วแห่งพระพุทธศาสนา จึงกล่าวได้ว่า “ศาสนาพุทธจะเสื่อมหรือเจริญเติบโต เผยแผ่ดอกผลไปอีกยาวไกล มีอายุยั่งยืนหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตามพระโอวาทปาฏิโมกข์ หรือพระวินัยในพระพุทธศาสนา” ซึ่งต่อมามีปรากฏสิกขาบทน้อยใหญ่ หรือศีลเพิ่มมากขึ้น จากรากฐานโอวาทปาฏิโมกข์เดิมซึ่งเป็นศีลของพระสงฆ์ และนำไปสู่พระวินัย ซึ่งแม้แต่พุทธบริษัทฝ่ายฆราวาสก็ควรทราบและควรเรียนรู้ เพื่อความอนุเคราะห์สงเคราะห์ต่อกันในพุทธบริษัท และเพื่อยังให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสต่อพระพุทธศาสนา

ดังนั้น ปฏิญญาคำกล่าวในข้อที่ ๗ จึงมีเหตุผลอย่างยิ่งที่แสดงให้เห็นถึงภูมิรู้ ภูมิธรรมของดร.อัมเบ็คก้าร์ ที่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในพระธรรมวินัยของพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังปรากฏเป็นพุทธบัญญัติเกิดขึ้นที่เรียกว่า พระโอวาทปาฏิโมกข์ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งในศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูยกวันดังกล่าวขึ้นเป็นวันสำคัญในศาสนาของเขา เรียกว่า “วันไหว้พระศิวะ” หากพุทธศาสนิกชนเดินทางไปอินเดียตรงกับวันดังกล่าว จะได้เห็นการละเล่นร้องรำทำเพลงของชาวฮินดู มีการซัดฝุ่นสีใส่กัน มีการละเลงหน้าด้วยฝุ่นสี และเผลอๆ มีการขว้างปารถยนต์ของนักท่องเที่ยวด้วยก้อนอิฐก้อนหิน ดังนั้นในวันมาฆบูชาของทุกๆ ปีที่อาตมาเดินทางไปประกอบศาสนกิจเนื่องในวันมาฆบูชา ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ราชคฤห์ เมื่อเสร็จศาสนกิจในคืนนั้นก็จะเข้าวัดพักผ่อน และตี ๔ตี ๕ (๐๔.๐๐–๐๕.๐๐ น.) ยามเช้ามืดรถยนต์ของคณะผู้จาริกแสวงบุญก็จะต้องรีบเดินทางออกจากเขตเมืองดังกล่าวในรัฐพิหารให้เร็วที่สุด เพราะหากเดินทางในตอนกลางวันอาจจะไม่ปลอดภัยจากการขว้างปารถยนต์ของชนพื้นเมืองที่ก่อการรื่นเริงสนุกสนานเนื่องในวันไหว้พระศิวะ

กลับมาพิจารณาดูเนื้อหาสาระของพระโอวาทปาฏิโมกข์ซึ่งเป็นรากฐานแห่งพระวินัยในพระพุทธศาสนา ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพุทธบัญญัติและกำชับให้รักษาพระธรรมวินัยไว้ด้วยการถือปฏิบัติว่า “สิ่งนี้พุทธานุญาติให้กระทำ พึงควรกระทำ...และสิ่งนี้ห้ามกระทำ ให้พึงควรละเว้น ...” ดังใจความในพระโอวาทปาฏิโมกข์ที่ชาวพุทธทั่วไปพึงควรจดจำ ได้แก่

๑. ขนฺติ ปรมํ ตโป ตีติกฺขา, นิพพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทธา
 ความอดทนคือความอดกลั้นเป็นตบะ (เครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง) พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมยอดเยี่ยม

๒. น หิ ปพฺพาชิโต ปรูปฆาตี, สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต
 ผู้เข้าไปฆ่าผู้อื่น ไม่ชื่อว่าบรรพชิต ผู้เข้าไปเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าสมณะ

๓. สพฺพปาปสฺส อกรณํ  กูสลสฺสู ปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ  เอตํ พุทฺธานฺ สาสนํ

 การไม่ทำความชั่วทั้งหมด การบำเพ็ญกุศลให้บริบูรณ์ การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

๔. อนูปวาโท อนูปฆาโต  ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร
มตฺตญฺญุตา ภตฺตสฺมึ  ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
อธิจิตเต จ อาโยโค  เอตํ พุทธาน สาสนนฺติ

 การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้าย ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์
 การรู้จักประมาณในอาหาร การอยู่ในเสนาสนะอันเงียบสงัด
 การเพียรประกอบในจิตให้สูงยิ่งๆ ขึ้นไป นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

อ่านต่อฉบับหน้า

**ส่งคำถามหรือ แสดงความเห็นในเรื่องต่างๆได้ที่ คอลัมน์ธรรมส่องโลก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ อาคารบางกอกโพสต์ 136 ถนน ณ ระนอง แยกสุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110 โทรสาร 02-671-3132