posttoday

ศึกษาดร.อัมเบ็คก้าร์ กรณีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในชมพูทวีป(๑๑)

25 กันยายน 2552

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]


ศึกษาดร.อัมเบ็คก้าร์ กรณีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในชมพูทวีป (๑๑)ดังนั้น อาชีพของพราหมณ์จึงอาศัยอ้างอิงพระพรหมสวดขอพรเพื่อช่วยเหลือพวกวรรณะอื่นได้ โดยกล่าวอ้างว่าสามารถติดต่อกับทวยเทพเทวดามหาพรหมได้แม้ภูตผี ด้วยการร่ายมนต์สวดขอพรเพื่อให้พระเจ้าเมตตา และยุติความเลวร้ายอัปมงคล โดยการเซ่นสังเวยและบูชายัญต่างๆ ที่พราหมณ์คิดพิธีการขึ้น ให้ดูลึกลับและน่าเลื่อมใส แม้จะห้ามมิให้ภูตผีมาทำภัยเบียดเบียนใครก็ได้ โดยการร่ายมนต์ หรือทำพิธีศาสน์ ส่งวิญญาณผู้ตายให้ไปเกิดใหม่โดยเร็วก็ได้ อาชีพพราหมณ์จึงรับจ้างสวดมนต์ร่ายมนต์ ประกอบพิธีการต่างๆ จากพวกวรรณะต่างๆ มีรายได้ดีงานเบา ซึ่งต่อมาได้แต่งตำราร่างกฎของพระเจ้าเพิ่มขึ้น เพื่อสงวนอาชีพของกลุ่มตนไว้ คือห้ามการสมสู่นอกวรรณะ และตั้งข้อรังเกียจพวกนอกวรรณะ ดังเช่นอธิศูทร หรือจัณฑาล หรือหินชาติ ฯลฯ ดุจดังที่ดร.อัมเบ็คก้าร์ และพวกอธิศูทรได้รับ อันนำมาสู่การสร้างพลังต่อสู้ และเข้าสู่การเปลี่ยนศาสนาดังที่กล่าว โดยเลือกเข้ามานับถือพุทธศาสนา ซึ่งให้ปัญญาความคิด ความจริงที่ปรากฏมีอยู่ และสามารถพิสูจน์ได้ตามกฎธรรมชาติ (Nature Law) ซึ่งมีเหตุผลจากอดีตสมัยพระพุทธเจ้าอุบัติเกิดขึ้นในโลก และได้ปฏิวัติหลักคำสอนหลายประการของศาสนาพราหมณ์ที่เน้นศาสนกิจทางการบูชาเทพเจ้าตามที่กล่าวมา และในขณะเดียวกันพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ปฏิรูปหลักคำสอนของพวกศาสนาแนวใหม่เชิงเน้นหลักการเหตุผลและการปฏิบัติ ซึ่งมีคำสอนตามเรื่องนิรวาณกรรม อาตมัน โยคะ สมาธิ ตบะ และการเวียนว่ายตายเกิด โดยพุทธศาสนาเน้นศรัทธาที่มีปัญญา เรียกขบวนการศาสนาแนวใหม่ว่า อุปนิษัท ซึ่งเชื่อว่าจากผลงานการสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ปรากฏอยู่ในรูปของพระธรรมวินัย ดร.อัมเบ็คก้าร์คงได้ศึกษามาอย่างเข้าใจแจ่มแจ้งจึงเกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา  และนำไปสู่การสร้างพลังขับเคลื่อนเพื่อปฏิวัติสังคมอินเดียด้วยปัญญาทางธรรม ที่เกิดจากการเรียนรู้ในพระพุทธศาสนา จึงสามารถนำมหาชนออกมาจากลัทธิความเชื่อที่กักขังมนุษยชาติกลุ่มหนึ่งมายาวนานมากกว่า ๒๐๐๐ ปี ที่ถูกเรียกว่าจัณฑาล หรืออธิศูทร
อ่านต่อฉบับหน้า

**ส่งคำถามหรือ แสดงความเห็นในเรื่องต่างๆได้ที่ คอลัมน์ธรรมส่องโลก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ อาคารบางกอกโพสต์ 136 ถนน ณ ระนอง แยกสุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110 โทรสาร 02-671-3132