posttoday

ดุลยภาพ...ดุลยธรรมแห้งชีวิต?

22 มิถุนายน 2557

ปุจฉา ทำอย่างไรให้ชีวิตของคนเรามีดุลยภาพโดยธรรม เพื่อการดำเนินไปสู่ความสงบสุขในความแปรปรวนวุ่นวายของโลก!?

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา ทำอย่างไรให้ชีวิตของคนเรามีดุลยภาพโดยธรรม เพื่อการดำเนินไปสู่ความสงบสุขในความแปรปรวนวุ่นวายของโลก!?

วิสัชนา ขอเจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา วันนี้ (๑๙ มิ.ย. ๒๕๕๗) อาตมานั่งเจริญธรรมอยู่ที่วัดภูริทัตตวนาราม ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา เพิ่งออกมาจากการภาวนาในยามเช้า (๐๗.๐๐ น.) อากาศที่นี่ดีมาก มีความสงบเงียบเหมาะกับการอบรมจิตตามหลักการศึกษาในพระพุทธศาสนา ซึ่งจะต้องเริ่มต้นที่การสดับตรับฟังพระสัทธรรม ให้เข้าใจในหลักธรรมคำสั่งสอนและนำไปสู่การกำหนดรู้ให้ชัดในธรรมที่สดับด้วยปัญญาอันยิ่ง เพื่อทำความรู้แจ้งด้วยการกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงนั้น โดยพิจารณาต่อเนื่องอย่างแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) จนเห็นแจ้งจริงในสัจธรรม หรือความจริงที่ปรากฏมีอยู่ในหลักธรรมนั้นๆ อันสรุปรวมลงที่ สัพเพ ธัมมา อนัตตา... เพื่อการนำไปสู่ความนิพพิทาในความทุกข์... ความหลง จะได้รู้จักละวางจางคลายจากความกำหนัดยินดี จนดับสิ้นซึ่งราคะธรรม สามารถสละคืนสำรอกสิ้นซึ่งราคะธรรม จนขาดสิ้นในอุปาทานขันธ์ นำไปสู่ความหลุดพ้นจากบ่วงมารในวัฏสงสารถึงความสิ้นทุกข์ได้อย่างแท้จริง...

พุทธศาสนาของเรานั้นมีหลักธรรมที่ชัดเจนเพื่อการศึกษาปฏิบัติที่ถูกต้อง ตรงตามพระธรรมวินัย ซึ่งตรัสรู้ชอบโดยพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ได้แสดงไว้ดีแล้ว บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง ทั้งพยัญชนะและอรรถความหมาย คำสั่งสอนในพระพุทธศาสนา ไม่เคยแปรปรวนไปตามกาลเวลาของโลก จึงเป็นธรรมเหนือโลก แต่การจะรู้แจ้งธรรมดังกล่าวก็จักต้องรู้ (แจ้ง) โลก จึงกล่าวว่ารู้โลก...รู้ธรรม...รู้ธรรม...แจ้งโลก ซึ่งอำนาจที่จะรู้แจ้งโลกได้นั้นเรียกว่า วิชชาตรงข้ามกับอวิชชา วิชชานั้นมีความหมายโดยสรุปว่า ๑) ปฏิปัตติวิชชา แปลว่า รู้ตามความจริง ๒) สัมมาปฏิปัตติวิชชา แปลว่า เห็นแจ้งตามความจริง ความจริงดังกล่าวคือ อริยสัจ ๔ อันเป็นหลักการหลักธรรมในพระพุทธศาสนา

การรู้จริงเห็นจริง ตรงข้ามการไม่รู้ตามความจริง และเห็นผิดไปจากความจริงที่เรียกว่า อวิชชา นั้น ไม่เหมือนกับความเขลา ความโง่ ความไม่รู้ทางโลก ที่สามารถรู้ได้ด้วยการจดจำหมายรู้ (สัญญา) จนเกิดเป็นผลึกความรู้เรียกว่า ทิฏฐิ (ความเห็น) ให้ผูกพันกับการรู้เห็น จนเกิดเป็นอัตตาตัวตนขึ้น ให้ไม่รู้จักการปล่อยวางจางคลายดับสิ้น ด้วยอำนาจอุปาทานขันธ์ (การยึดถือในความเป็นตัวตน) จึงเป็นตัวสรุปรวบยอดตัวทุกข์และความทุกข์ ดังจะเห็นได้ว่า มนุษย์เราปล่อยวางความคิด (จิต) ยังไม่ได้ มักจะผูกและพันอยู่กับความคิด คิดไปในอดีต ใฝ่ฝันไปในอนาคต และตกอยู่ในท่ามกลางแห่งความแปรปรวนที่เป็นปัจจุบัน จิต (ความคิด) จึงซัดส่ายก่อรูปสร้างภพ ตกอยู่วังวนแห่งมโนภาพที่เป็นภาพลวงของอดีตและอนาคตอยู่ตลอดเวลา แม้ในปัจจุบันแห่งการรับรู้ที่ขาดสติปัญญา จึงมีจิต (ความคิด) แปรปรวนไปตามรสชาติแห่งผัสสะ อันเกิดจากการรับรู้ทางอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนก่อเกิดเป็นภาวะจิตที่เครียดเคร่ง มีความวิตกกังวล ความกลัวเป็นพื้นฐาน ให้จิต (ความนึกคิด) เศร้าหมองเร่าร้อน ซัดส่าย วิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา จนกลายเป็นจริตแห่งจิต ที่แปรไปตามอำนาจปรุงแต่งให้เศร้าหมองเรียกว่า กิเลส ซึ่งจัดแบ่งจิตของคนเราไปตามจริตถึง ๖ จริตพื้นฐาน

พระพุทธศาสนาได้มีคำสั่งสอนไว้แก้ไขจริต คือ จิตอุปาทาน โดยให้รู้จักสร้างดุลยภาพแห่งชีวิต ด้วยการปรับสภาพจิตให้มีดุลยธรรม เพื่อการเข้าถึงความสงบนิ่ง และความสุขประโยชน์โดยธรรม ด้วยการให้รู้จักฝึกฝน เจริญสติกำหนดรู้อยู่กับปัจจุบัน โดยให้จิตแทนด้วยสติ หมายถึง ให้นึกคิดอย่างมีความรู้ชอบอยู่กับปัจจุบัน จนเกิดความรู้เท่ารู้ทัน (ปัญญานำสติ) สามารถนำเอาสติที่มีปัญญานำไปรับรู้การกระทบสัมผัสที่เกิดจากการรับรู้ทางอายตนะทั้งหก ที่ก่อเกิดอารมณ์หก และมีวิญญาณหกไปรับรู้ตามวิสัยอันเป็นธรรมดา... การสร้างอำนาจสติปัญญาเข้าแทนที่จิต (ความนึกคิด) เพื่อการรู้จักพิจารณา จนรู้เท่าทัน ไม่สนองตอบกิเลส เราเรียกปัญญาขั้นนี้ว่า วิปัสสนาญาณ คือการหยั่งเห็นความจริงอันมีอยู่ในสภาวธรรมที่เป็นไปตามธรรมชาติ ซึ่งวิปัสสนาญาณนั้นจะเกิดขึ้นได้ด้วยการเจริญสติ จนจิตเติมเต็มความระลึกรู้ชอบให้แน่วแน่มั่นคง ดำรงอยู่อย่างสงบนิ่ง มีความรู้ความเข้าใจเกิดขึ้นในความสงบนิ่ง เรียกอำนาจดังกล่าวว่า สมาธิในพระพุทธศาสนาที่เป็นสัมมาสมาธิ อันประกอบอยู่ด้วยอำนาจความเพียรชอบ (สัมมาวายา) และความระลึกรู้ชอบ (สัมมาสติ)

การปรับดุลยภาพแห่งชีวิต เพื่อการมีชีวิตที่มั่นคงอยู่ในธรรม (ดุลยธรรม) นั้น จึงต้องอาศัยอำนาจสติที่จะต้องรู้จักการเจริญสติ จนสามารถควบคุมจิต ให้รู้จักกำหนด จดจ่อ ต่อเนื่อง รู้เท่าทัน ตรงอาการ จนรู้ชัดในธรรมที่สดับด้วยปัญญาอันยิ่ง จนสามารถกำหนดรู้ในธรรมทั้งปวงที่รู้ชัดนั้น ให้รู้แจ้งแทงตลอดไม่ติดขัดใดๆ เลย จนเกิดความรู้ความเข้าใจในสัจจะ (ความจริง) ที่ปรากฏมีอยู่ในสภาวธรรมนั้นๆ ด้วยการรู้จักการพิจารณาโดยแยบคายจนเกิดปัญญา (โยนิโสมนสิการ) รู้แจ้งเข้าใจในความจริง ให้เกิดวิชชาและความสว่างขึ้นในจิตดวงนั้น ที่ถูกอบรมพัฒนาจนเข้าถึงวิสุทธิจิตวิสุทธิธรรม สู่ วิมุตติธรรม อย่างแท้จริง

วันนี้ จึงขอนำธรรมพิจารณาที่เกิดจากการปฏิบัติมาแสดงในธรรมส่องโลก เพื่อศรัทธาสาธุชนทั้งหลายจะได้บูชาด้วยการศึกษาให้เข้าใจ จะได้นำไปปฏิบัติให้ถูกต้องตรงธรรม เพื่อการเข้าถึงประโยชน์โดยธรรม... อาตมาจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ ๒๐ มิ.ย. ๒๕๕๗ นี้ และจะไปบรรยายธรรม พร้อมทั้งสอนปฏิบัติที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ ๒๔ มิ.ย. ๒๕๕๗ สาธุชนผู้สนใจไปร่วมรับฟังและปฏิบัติธรรมร่วมกันได้ และในวันที่ ๒๘ มิ.ย. ๒๕๕๗ มีอาราธนาไปนำเจริญพระพุทธมนต์ อบรมจิตตภาวนา ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (พระอุโบสถวัดพระแก้ว) พระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐๐๙.๐๐ น. อย่าลืมไปร่วมจิตร่วมใจ บูชาธรรม ปฏิบัติธรรม เพื่ออธิษฐานจิตให้เกิดความสงบแก่แผ่นดินไทย และเพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศล

เจริญพร