posttoday

จิตรกรรม...นอกอย่างที่โบสถวัดเกาะเพชรบุรี

18 พฤษภาคม 2557

จิตรกรรมฝาผนังที่สร้างสรรค์โดยช่างฝีมือระดับครู ตามพระอุโบสถในยุคต่างๆ บ่งบอกประวัติและแบบแผน

โดย...สมาน สุดโต

จิตรกรรมฝาผนังที่สร้างสรรค์โดยช่างฝีมือระดับครู ตามพระอุโบสถในยุคต่างๆ บ่งบอกประวัติและแบบแผนตามๆ กันมา เช่น มีเทพชุมนุม พุทธประวัติ หรือชาดกต่างๆ รวมทั้งการวางภาพต่างๆ ก็มีตำแหน่งแน่นอน

จิตรกรรมนอกอย่าง

แต่คำกล่าวนี้นำมาใช้ที่วัดเกาะแก้วสุทธารามไม่ได้ เพราะการวางภาพฝาผนังวัดแห่งนี้ ไม่ได้เดินตามแบบแผน จนกล่าวกันว่าเป็นการสร้างงานนอกอย่าง

เมื่อคณะของสำนักวรรณกรรมและประวัติ ศาสตร์ กรมศิลปากร นำโดยผู้อำนวยการบุญเตือน ศรีวรพจน์ ได้มาทัศนศึกษาตามโครงการวัฒนธรรมสัญจร เรื่องตามรอยฝรั่งเล่าความหลังเมืองพริบพรี (เพชรบุรี) เดินทางมาถึงวัดเกาะแก้วสุทธารามที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเพชรบุรี บนเนื้อที่กว้างขวางในตัวเมืองเพชรบุรี ได้พบเห็นพระอุโบสถและศาลา ซึ่งเป็นโบราณสถานที่พวกเราชาวคณะกรมศิลปากรให้ความสนใจเป็นการเฉพาะ เนื่องจากมีจิตรกรรมนอกอย่างตามที่เกริ่นไว้ให้ได้ทัศนา

จิตรกรรม...นอกอย่างที่โบสถวัดเกาะเพชรบุรี

 

อาจารย์ปรีดี พิศภูมิวิถี วิทยากรที่มีดีกรีดอกเตอร์จากฝรั่งเศส อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ ในฐานะวิทยากรรับเชิญได้เล่าให้ผู้ฟังทราบว่าวัดเกาะแก้วสุทธาราม ซึ่งชาวบ้านท้องถิ่นเรียกว่าวัดเกาะ มีชื่อเสียงด้านจิตรกรรมฝาผนังสมัยกรุงศรีอยุธยาอันมีความสมบูรณ์ที่มีหลงเหลือแห่งหนึ่งในจำนวนไม่กี่แห่ง

ชมโบสถ์ ใบเสมา และเจดีย์

ก่อนเข้าในพระอุโบสถ อาจารย์นำชมพระเจดีย์ที่ตั้งอยู่ด้านหน้า ระหว่างพระอุโบสถและวิหารก่อน โดยบอกว่าเป็นพระเจดีย์ที่มองผิวเผินแล้วคล้ายกับพระเจดีย์วัดประยุรวงศาวาสที่กรุงเทพมหานคร เช่น มีลานประทักษิณเป็นวงกลมด้านบน มีซุ้มจระนำ 4 ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปประจำแต่ละทิศ อันซุ้มจระนำนี้เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของช่างชาวเพชรบุรี และไม่พบในการสร้างพระเจดีย์ที่กรุงเทพมหานคร

พระเจดีย์วัดเกาะดูแตกต่างจากเจดีย์ที่อื่นๆ คือเป็นพระเจดีย์ทรงเครื่อง มีสร้อยอุบะประดับพร้อมกับพู่ห้อย

เมื่อหันมาเล่าเรื่องวิหารและพระอุโบสถ อาจารย์ปรีดีชี้ให้เห็นลักษณะเด่นคือสถาปัตยกรรมท้องสำเภา เป็นศิลปะการก่อสร้างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายขนานแท้ จึงแนะวิธีสังเกตง่ายๆ ว่าเมื่อไรเห็นอาคารท้องสำเภาอย่างนี้ ให้สันนิษฐานว่าเป็นฝีมือก่อสร้างสมัยกรุงศรีอยุธยา สถาปัตยกรรมแบบนี้ต่อมาเปลี่ยนแปลงค่อยๆ ยกตัวขึ้น ในที่สุดก็เสมอกันหมด เว้นแต่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แม้จะสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ 1) แต่ยังมีอิทธิพลสมัยกรุงศรีอยุธยาเหลืออยู่ จึงเห็นเป็นทรงสำเภา

จิตรกรรม...นอกอย่างที่โบสถวัดเกาะเพชรบุรี

 

อุโบสถวัดเกาะแก้วสุทธาราม มีลักษณะเด่นที่ควรดูและหาความรู้ได้หลายจุด นับแต่ใบเสมาทำจากหินทรายที่ถูกตั้งไว้ซุ้มละ 2 ใบ

การมีใบเสมา 2 ใบ สันนิษฐานกันไปต่างๆ นานา แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ เช่นว่าเป็นพระอารามหลวงจึงมีลักษณะเช่นนี้ แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะยังเห็นตามวัดราษฎร์ด้วย

อาจารย์ปรีดีชี้ให้ดูเสาย่อมุมรับมุขลดด้านบนของพระอุโบสถและหน้าบัน เป็นศิลปะปูนปั้นนารายณ์ทรงครุฑ งดงามไม่มีที่ติ พร้อมกับบอกว่าถ้าดูข้างนอกจะเป็นอาคารโถง 5 ห้อง

จิตรกรรมนอกอย่าง

เมื่อเข้าไปภายในพระอุโบสถ อาจารย์ปรีดีชี้ชวนให้ดูจิตรกรรมฝาผนังที่ระบุชื่อเจ้าภาพและปีที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2277 สมัยพระเจ้าบรมโกศ (พ.ศ. 2275-2301) ที่ยังคงสมบูรณ์ แต่มีปัญหาให้นักวิชาการถกเถียงในหลายเรื่องหลายประเด็น แม้ว่าจะเป็นจิตรกรรมที่งดงามสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายก็ตาม

เรื่องที่นักวิชาการเห็นว่าแปลกแตกต่างจากที่อื่น จนกระทั่งกล่าวกันว่าเป็นการสร้างงานนอกอย่าง คือไม่เดินตามแบบแผนเดิม นั่นคือการสลับตำแหน่งภาพจักรวาล และมารผจญ เมื่อยึดเอาพระประธานเป็นหลัก

ตามแบบแผนเดิม ภาพมารผจญต้องอยู่ด้านหน้าองค์พระประธาน ส่วนจักรวาลนั้นต้องอยู่ด้านหลัง แต่ที่อุโบสถวัดเกาะ ช่างศิลป์ทำนอกอย่าง สร้างมารผจญไว้ด้านหลัง จักรวาลด้านหน้าพระประธาน

นักวิชาการและนักโบราณคดีถกเถียงกันว่าหรือจะเป็นเพราะทำการโยกย้ายพระประธานให้สอดคล้องกับการคมนาคม กล่าวคือในอดีตการคมนาคมใช้ทางน้ำคือแม่น้ำเพชรบุรีเป็นหลัก ทุกอย่างที่ก่อสร้างต้องหันไปทิศทางนั้น เมื่อคมนาคมเปลี่ยนมาใช้ถนน แม่น้ำหมดความสำคัญ จึงย้ายพระประธานให้หันหน้ามาทางถนน ที่มีความสำคัญในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นไปได้หรือไม่

เรื่องนี้กลายเป็นหัวข้อทางวิชาการที่อาจารย์พิชญา สุ่มจินดา อาจารย์ประจำสาขาวิชาศิลปะไทย ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นำมาวิเคราะห์วิจัย เรื่อง มหาโพธิบัลลังก์กับคติจักรวาลที่เปลี่ยนไป ในอุโบสถวัดเกาะแก้วสุทธาราม เพชรบุรี

จัดพิมพ์โดยมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย เมื่อเดือน ม.ค. 2556

อาจารย์ปรีดีชี้ชวนให้ดูภาพมารผจญที่เป็นปัญหาถกเถียงกันนั้นว่า นอกจากพระพุทธรูปปางสมาธิแล้ว กองทหารที่เป็นมารผจญนั้นเป็นทหารฝรั่ง

รูปฝรั่งถูกเขียนอย่างตั้งใจที่จะบอกว่า ในสมัยพระเจ้าบรมโกศนั้นพระองค์ท่านยกย่องส่งเสริมพระพุทธศาสนา โดยไม่ยอมให้มิชชันนารีมาสอนศาสนาในราชอาณาจักรเด็ดขาด

พระเจ้าบรมโกศได้ส่งพระอุบาลีกับคณะเป็นพระธรรมทูตแห่งกรุงศรีอยุธยาไปฟื้นฟูพระพุทธศาสนาตามที่พระมหากษัตริย์ศรีลังการ้องขอ และทั้งสองประเทศได้ฉลองครบรอบ 260 ปี การสถาปนาสยามนิกายขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2556

ความหลากหลายของจิตรกรรม ได้แก่ เจดีย์ทรงก้างปลา ที่ช่างเขียนเจดีย์แบบเดียวกัน แต่รายละเอียดไม่เหมือนกัน เป็นความสามารถที่น่าชื่นชม

เมื่อดูจิตรกรรมทางพุทธประวัติจะเห็นจิตรกรสร้างสรรค์สัตตมหาสถานตรงตามพุทธประวัติ ภาพที่ชัดเจนเห็นได้ง่าย คือ ขณะพระพุทธองค์ประทับที่สระมุจจลินท์ ขณะฝนตกหนัก พญานาคมาแผ่พังพานปกป้องไม่ให้เปียกฝน อันเป็นที่มาพระปางนาคปรก

สำหรับภาพจักรวาลก็เห็นความสามารถของจิตรกรที่มีความเข้าใจการโคจรของดวงดาวในจักรวาลและตามทัศนคติความเชื่อ เช่น มีนกยูงในดวงพระอาทิตย์ กระต่ายในดวงจันทร์ ดาวต่างๆ 27 ดวง โคจรรอบจักรวาล รวมทั้งราหูก็ปรากฏให้เห็น

ส่วนภาพที่เด่นที่สุด ได้แก่ ภาพพระพุทธเจ้าปราบเดียรถีย์ คู่กับภาพฝรั่งต่างชาติ ต่างศาสนา ที่ไม่ได้รับการยอมรับในยุคนั้น

ศาลาและธรรมาสน์บุษบก

เมื่อออกจากพระอุโบสถก็เดินไปดูรอบๆ วัดจะเห็นอาคารที่สร้างสมัยรัชกาลที่ 7 หรือ พ.ศ. 2474 ยังคงตั้งอยู่อย่างเดิม เพียงแต่ขาดชีวิตชีวาไปบ้าง ถัดไปเป็นกุฏิที่เป็นอาคารทรงไทยขนาดใหญ่และยาวมาก ฝากระดานใต้ถุนสูงได้รับการดูแลอย่างดี รวมทั้งศาลาโบราณที่ยังมีความงามไม่มีที่ติ เมื่อขึ้นไปบนศาลาจะพบธรรมาสน์บุษบก ที่มีเครื่องประดับตั้งแต่กระจังและครุฑอยู่ครบชุด (ปกติวัดอื่นๆ จะถูกขโมย)

ส่วนภาพเขียนที่คอสองก็สวยงามยิ่งเช่นกัน

ด้านสกัดเป็นศาลาอีก 1 หลัง สำหรับตั้งบาตรพระในวันพระ

ข้อมูลเกี่ยวกับศาลาว่า ศาลาการเปรียญลักษณะเป็นเรือนโถงทรงไทย เจ้าอธิการโฉม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2431 ที่คอสองและฝ้าปีกนก มีภาพจิตรกรรมสีฝุ่นบนแผ่นไม้ เรื่อง พระปฐมสมโพธิกถา เวสสันดรชาดก และภาพธรรมชาติสัตว์ป่า เพดานประดับด้วยไม้จำหลักลายดาวล้อมเดือนบนพื้นแดง มุมเพดานเป็นลายไก่ฟ้า ขื่อ คานและเสา ปรุทองล่องชาดลายหน้ากระดานและพุ่มข้าวบิณฑ์ ฝ้าปีกนกบางส่วนปรุลายทองลายพุดตานใบเทศ ด้านทิศตะวันตกและตะวันออก มีศาลาสกัดด้านละหนึ่งหลัง ดังมีจารึกที่หน้าจั่วของศาลาสกัดด้านทิศตะวันออก ระบุ พ.ศ. 2457

เมื่อชมโบราณสถานที่น่าหวงแหนของชาติ นอกจากชื่นชมฝีมือและการอนุรักษ์แล้ว แต่ก็อดเป็นห่วงในอนาคตไม่ได้ เพราะเป็นวัดใหญ่และเป็นโบราณสถานที่ทรงคุณค่ามาก กลับมีจำนวนพระสงฆ์เหลือน้อย จะทำอย่างไรให้มีจำนวนพระสงฆ์เพียงพอในการดูแลทรัพย์มรดกของชาติได้ ต้องช่วยกันคิดหาทางออก มิเช่นนั้นมรดกชาติจะมีอันตราย