posttoday

กฏหมายไม่ทันจิต...กฏศีลธรรมไม่ทันใจ ศรัทธาธรรมจึงถดถอย!!

27 เมษายน 2557

ปุจฉา เมื่อบาปกรรมมีจริง ทำไมคนทำบาปยังลอยนวล ครองอำนาจเต็มบ้านเต็มเมือง

ปุจฉา เมื่อบาปกรรมมีจริง ทำไมคนทำบาปยังลอยนวล ครองอำนาจเต็มบ้านเต็มเมือง ไม่เห็นทุกข์ร้อนอะไร ดังบรรดาพวกที่อยู่ในสวนรวมสัตว์ทั้งหลาย!? อีกทั้งพฤติกรรมสนับสนุนทำบาปกรรมของบุคคลมากมาย แม้ไม่ใช่ผู้กระทำ แต่ก็ไม่เห็นเป็นปัญหาอะไร!? ถ้ากฎแห่งกรรมเป็นจริง ทำไมพระทุศีล เณรตุ๊ด เณรแต๋ว เต็มศาสนา... ไม่หายนะไปให้หมด พระพุทธศาสนาจะได้เจริญรุ่งเรือง

จริงๆ แล้ว ที่กราบเรียนถามมิใช่ว่าไม่เชื่อกฎแห่งกรรม แต่ทำไมกฎแห่งกรรมไม่สำแดงความฉับพลัน เหมือนตาชั่งที่แสดงมาตรวัดน้ำหนักทันที เมื่อเราใส่ของลงไปบนพานตาชั่ง หรือเรายกสิ่งของออกมา... ซึ่งถ้ากฎแห่งกรรมสำแดงทันที จะมีคนจำนวนมากๆๆๆ ไม่กล้าทำชั่ว ดุจดังกฎหมายที่แสดงผลอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน ทันที ไม่ใช่ยืดไป ยื้อไป จนคนร้าย คนชั่ว ยังลอยหน้าตาอยู่เต็มบ้านเต็มเมือง ...นี่คือจุดอันตรายของประชาคม เพราะกฎหมายไม่ทันจิต กฎศีลธรรมไม่ทันใจ ขอเรียนถามความรู้ เรื่อง กรรม และขอทราบว่า พระอาจารย์จะมีหนทางอย่างไรที่จะทำให้กฎแห่งกรรมสำแดงฤทธิ์เดชอย่างฉับพลัน เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของพระศาสนา คนจะได้เข้าหานับถือพระศาสนากันมากๆ...

กฏหมายไม่ทันจิต...กฏศีลธรรมไม่ทันใจ ศรัทธาธรรมจึงถดถอย!!

 

วิสัชนา ขอเจริญพรสาธุชนผู้มีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา... ปัจฉิมเทศนา หรือคำกล่าวบูชาธรรมครั้งสุดท้าย ก่อนสิ้นลมหายใจของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ โต พรหมรังสี มีว่า...

“...กรรมอันเป็นสมบัติแห่งสัตว์โลกทั้งหลาย... ตายซ้อน ซ้ำซาก จำเจ เป็นวัฏฏะ

...กรรมอันใด ทำแล้วไม่เดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นเป็น กรรมดี (กุศลกรรม)

...กรรมอันใด ทำแล้วเดือดร้อนในภายหลัง กรรมนั้นเป็น กรรมชั่ว (อกุศลกรรม) เป็นของเผ็ดร้อน มีทุกข์มาก

...กรรมอันใดไปสู่มรรค นิโรธ ความดับทุกข์ กรรมนั้นเป็น กรรม เหนือกรรม...”

ในพระพุทธศาสนาของเรา พระผู้มีพระภาคทรงตรัสแสดงเรื่องกรรมไว้บทหนึ่งว่า อะไรคือกรรมเก่า... อะไรคือกรรมใหม่ ความดับกรรม และหนทางแห่งความดับกรรม (ดับกรรมได้อย่างไร) หากสาธุชนศึกษาพิจารณาให้เข้าใจในเรื่องดังกล่าว จะพบความจริงอันหนึ่งที่ปรากฏอยู่ในเรื่องของกรรม ได้แก่ ปัจจัยสัมพันธ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงในธรรมชาติ ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่ว่ามีชีวิต ไม่มีชีวิต จะมีจิตวิญญาณถือครองหรือไม่ก็ตาม ทั้งหมดล้วนเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย... ความเป็นธรรมดานี่แหละ เป็นสิ่งที่รู้แจ้งเห็นจริงได้ยากในพระพุทธศาสนา เรียกว่า ธรรมนิยาม (The general law of cause and effect) และในความเป็นธรรมดา อันแสดงการกำหนดแน่นอนตายตัวของพฤติกรรมแห่งสัตว์ทั้งหลายโดยเฉพาะมนุษย์ ในเรื่องกระบวนก่อการกระทำและผลที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมดาจากการกระทำนั้น อันสะท้อนให้เห็นรูปลักษณะของกระบวนการแห่งเจตจำนง เรียกเรื่องดังกล่าวว่า กฎเกณฑ์กรรม หรือ “กรรมนิยาม”

แต่ด้วยความเป็นชีวิตที่มีจิตวิญญาณครอง ดังนั้นในเรื่องของการกระทำทั้งปวงจึงมีจิตวิญญาณ ในฐานะของมโน (ใจ) เป็นประธาน ...เป็นใหญ่ กรรมทุกอย่างสำเร็จด้วยใจ จึงกล่าวว่า ในเขตแดนแห่งกรรมนิยามนั้น ตัวกรรมแท้ คือ เจตนาหรือเจตจำนง ดังพระพุทธภาษิตที่ว่า “เจตนา หํ ภิกฺขเว กมมํ วทามิ” แปลความว่า ภิกษุทั้งหลาย เจตนานั้นเองเราเรียกว่า กรรม บุคคลจงใจแล้วจึงกระทำด้วยกาย วาจา และด้วยใจ

พระพุทธภาษิตอีกบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จด้วยใจ, ถ้าบุคคลมีจิตใจเสียหายแล้ว จะพูดก็ตาม จะทำก็ตาม ความทุกข์ย่อมติดตามเขาไป เหมือนล้อหมุนตามโคที่ลากเกวียน ...ถ้าบุคคลมีจิตใจผ่องใสแล้ว จะพูดก็ตาม จะทำก็ตาม ความสุขย่อมติดตามมา เหมือนดังเงาที่ติดตามตัว

หากพิจารณาบทธรรมดังกล่าว จะพบว่า ผลกรรมจะแสดงความฉับพลันเร็วมาก จนยากที่จะคัดค้านได้ด้วยอำนาจความนึกคิด แต่หากต้องใช้กำลังสติมหาศาล เรียกว่า มหาสติ จึงจะทำให้ผลกรรมไม่เกิดขึ้นหรือเป็นหมัน ด้วยการควบคุมให้การกระทำนั้นไม่เป็นไปตามเจตนาที่ชอบใจไม่ชอบใจ ซึ่งจะเข้าไปถือรักชังในการกระทำ ตรงนี้เป็นเรื่องของ จิตนิยาม ที่ต้องศึกษาในวิถีจิต ที่เดินทางรวดเร็ว ชั่วพริบตาเดียว เกิดขึ้นแสนโกฏิขณะ หนึ่งขณะเท่ากับหนึ่งส่วนล้านวินาที ในจิตใจของปุถุชนจึงต้องรับผลจากการกระทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย และจะถ่ายทอดสู่พฤติกรรมอันเกิดขึ้นกับผู้กระทำ และสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม จึงเกิดพืชนิยาม อุตุนิยามขึ้น ก่อรูปสัมพันธ์กับจิตนิยาม กรรมนิยาม ซึ่งอยู่ภายใต้ธรรมนิยาม

เมื่อกรรมมีผล และผลต้องตอบแทนต่อการกระทำ สัตว์ผู้กระทำจึงต้องได้รับสิทธิความเป็นเจ้าของ และมีหน้าที่ต้องดำเนินไปตามกรรม เรียกว่า เมื่อมีสิทธิ ก็ต้องมีหน้าที่ ซึ่งเป็นของคู่กัน เป็นนิยามอันหนึ่งที่แสดงออกมาจากธรรมนิยาม ซึ่งหากเราต้องการทราบว่า กรรมและวิบากมีกระบวนการให้ผลอย่างไรจากการกระทำนั้น โดยสรุปลงที่กรรม ๓ อย่าง คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ซึ่งทำให้สัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย จักทำกรรมอันใดไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราจักได้รับผลของกรรมนั้น จึงได้มีการจัดรูปกรรมสัมพันธ์ต่อการส่งผลไว้ ๑๒ ประเภท จัดเป็น ๔ หมวด โดย จำแนกการให้ผลของกรรม ตามกาล ตามหน้าที่ และตามกำลัง การจัดจำแนกแจกแจงตรงนี้ เป็นเรื่องที่ปุถุชนผู้ไม่ศึกษาธรรมะเข้าใจได้ยาก จึงขอสรุปว่า ศูนย์อำนาจกรรมตรงนี้ จะจัดสรรสั่งการอย่างยุติธรรม ว่า อะไรควรจะเกิดก่อนหลัง หรือการทำกรรมอันใดให้ผลในทันที หรือรอการให้ผลในกาลใด เรียกว่า จะมีการจัดสรรให้รับผลกรรมกันอย่างทั่วถึง หนักเบา ร้อนเย็น หยาบละเอียด เลวประณีต เป็นตัวแสดง ที่หนักมาก ร้อนมาก ชัดเจนมาก จักให้ผลก่อนในปัจจุบันทันที นอกนั้นก็ชั่งน้ำหนักลดหลั่นกันไปในการลำดับเข้ามาให้ผล จนสำเร็จการให้ผล หมดกำลังของกรรมแล้ว ชดใช้หมดสิ้นแล้ว จึงเป็น อโหสิกรรม

วันนี้ของสังคมไทยเช่นเดียวกัน ใครก่อการใดๆ ไม่ว่าดีชั่ว ก็รับผลกรรมนั้นกันอยู่ อยู่อย่างเป็นธรรมดา เห็นได้จากจิตใจที่ทุกข์หนักจนดวงตาเศร้าหมอง คล้ายๆ ตาปลาตาย เรียกว่า

ตาช้ำกันหมดแล้ว ให้พอกหน้าหนาสักนิ้วเพื่อกลบเกลื่อน แต่ยากที่จะพอกปกปิดใจที่เศร้าหมองทุกข์ระทมได้ จึงสามารถเห็นได้ตลอดเวลา เมื่อมองไปที่ดวงตา... ที่ฉายแสงความพ่ายแพ้จากจิตที่แพ้พ่ายกรรมตนเอง... เพียงแต่ยังดื้อรั้น แถกไถไปเรื่อย ตามประสาสัตว์อับปัญญา ! ...เอวัง