posttoday

วัดบวรบำเพ็ญกุศลพิธีมอญถวายสมเด็จพระสังฆราช

27 เมษายน 2557

ลานหน้าตำหนักเพ็ชร ถูกปูลาดด้วยพรมผืนใหญ่เพื่อรองรับพิธีและวัฒนธรรมมอญ

ลานหน้าตำหนักเพ็ชร ถูกปูลาดด้วยพรมผืนใหญ่เพื่อรองรับพิธีและวัฒนธรรมมอญ ที่คณะรังษีสังวรเชิญมาจาก 3 จังหวัด คือ กาญจนบุรี สมุทรสาคร และกรุงเทพมหานคร เพื่อจัดถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เมื่อค่ำวันที่ 21 เม.ย. 2557 เริ่มตั้งแต่เวลา 17.30 น.เป็นต้นไป จบพิธีเมื่อเวลา 20.30 น.

หงส์ทอง

เมื่อตั้งวงพิณพาทย์มอญเสร็จ บรรดาสตรีชาวมอญวัยเลยสาวที่จะแสดงทะแยมอญจำนวนหนึ่งนั่งล้อมวง พร้อมที่จะเข้าสู่พิธี โดยพ่อครูชาวมอญตั้งเชี่ยนหมากทองเหลืองกลางวง สองมือประนม พร้อมดอกไม้ธูปเทียน บูชาครู แต่ละคนที่อยู่ในมณฑลพิธีต่างพนมมือ เมื่อพ่อครูกล่าวนบครูจบ หนุ่มสาวคู่หนึ่งซึ่งเป็นชาวมอญจากสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ในชุดหงส์ทองก็ออกมาแสดงชุด หงส์ทอง ซึ่งเป็นชุดแรก

หงส์ทอง ตัวผู้และตัวเมียแต่งกายด้วยชุดสีทอง สวมชฎาสีทองที่มีหงส์ประดับอยู่บนสุด ทั้งนี้ เพราะหงส์เป็นสัญลักษณ์ของชาวมอญมาแต่โบราณ

วัดบวรบำเพ็ญกุศลพิธีมอญถวายสมเด็จพระสังฆราช

 

เมืองหลวงเก่าของชาวมอญที่อยู่ในดินแดนพม่า ชื่อว่า หงสาวดี หรือพะโค ในเมืองนี้มีอนุสาวรีย์หงส์คู่ตั้งอยู่ โดยหงส์ตัวเมียเกาะบนหลังหงส์ตัวผู้

ผู้ที่เดินทางท่องเที่ยวเมืองหงสาวดี หรือเมืองพระเจ้าบุเรงนอง ผู้ชนะสิบทิศนั้น จะได้ฟังไกด์เล่าตำนานหงส์คู่ให้ฟัง โดยอ้างตำนานที่จารึกไว้เป็นภาษามอญกล่าวถึงพุทธทำนายหลังจากทอดพระเนตรหงส์ทั้งสอง ว่า ในภายภาคหน้าเมืองนี้จะกลายเป็นมหานคร ชื่อว่า เมืองหงสาวดี

ยังมีเรื่องเล่าแบบตำนานอีกว่า พื้นที่เมืองหงสาวดีในอดีตไกลโพ้นคือทะเล เมื่อหงส์ 2 ตัว บินมาเห็นพื้นดินเล็กๆ พอให้พักเหนื่อยได้ จึงถลาลงมาที่แผ่นดิน แต่พื้นดินมีนิดเดียว เกาะได้แต่ตัวผู้ ตัวเมียไม่มีที่เกาะ จึงขึ้นเกาะหลังตัวผู้ไว้

วัดบวรบำเพ็ญกุศลพิธีมอญถวายสมเด็จพระสังฆราช

 

หงส์ตัวเมียเกาะหลังตัวผู้นอกจากเป็นสัญลักษณ์เมืองหงสาวดีแล้ว ยังเป็นเรื่องให้หนุ่มชาวพม่าพูดว่า ถ้าไม่ยากอยู่ใต้อำนาจเมีย ก็อย่าเอาสาวมอญเป็นเมีย

สัมพันธ์มอญไทยธรรมยุต

การที่คณะรังษีสังวร (ชื่อคณะใหม่) จัดพิธีและวัฒนธรรมมอญถวายสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช เป็นการสานสายสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้น สืบเนื่องจากเชื้อสายฝ่ายโยมมารดา ยังโยงมาถึงความสัมพันธ์กับคณะธรรมยุต

ด้านเชื้อสายนั้น ในงานพระราชทานเพลิงศพโยมมารดากิมน้อย คชวัตร เป็นกรณีพิเศษ เมื่อ พ.ศ. 2510 นั้น เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร ได้จัดให้มีการบำเพ็ญกุศลตามธรรมเนียมมอญให้โยมมารดา ณ วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) จ.กาญจนบุรี

วัดบวรบำเพ็ญกุศลพิธีมอญถวายสมเด็จพระสังฆราช

 

ในส่วนที่เกี่ยวกับคณะธรรมยุตที่พระวชิรญาณภิกขุ หรือสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงริเริ่ม ได้ใช้แบบคณะสงฆ์มอญเป็นแนวทาง เมื่อธรรมยุตเป็นใหญ่ในรัชกาลที่ 5 ในพม่าก็เกิดนิกายมหายิน เป็นนิกายธรรมยุต ตามชื่อมหาเย็น จากเมืองไทยที่นำไป โดยมีวัดธรรมยุตที่ย่างกุ้ง

จึงเห็นว่า ทั้งสองภาคส่วนมีความสัมพันธ์กลมเกลียว ไม่ว่าเชื้อชาติวัฒนธรรมและต้นแบบคณะธรรมยุต จึงไม่ต้องแปลกใจที่มีประเพณีมอญในงานพระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช

กล่าวถึงการรำหงส์ทองที่คู่รำหญิงชายออกท่ารำได้สมกับเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่งดงาม โดยเฉพาะสตรีนางรำมีความสามารถสูงในการกรีดกรายทั้งมือทั้งเท้าได้กลมกลืนยิ่ง นั่นคือนอกจากมือจะร่ายรำสอดคล้องกับจังหวะพิณพาทย์มอญแล้ว ยังต้องใช้เท้าที่ขยับตามจังหวะ สบัดผ้าสีขาวที่กรอมเท้าให้ดูเหมือนหางหงส์ที่พริ้วตลอดเวลาด้วย

จบรำหงส์ทอง ก็เข้าบรรยากาศคึกคักด้วยการแสดงทะแยมอญ จากสภาวัฒนธรรมไทยรามัญ วัดบ้านไร่เจริญผล จ.สมุทรสาคร

วัดบวรบำเพ็ญกุศลพิธีมอญถวายสมเด็จพระสังฆราช

 

ทะแยมอญ

ข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต อธิบายถึงทะแยมอญ (ซะมาแขวก) ว่า

ทะแยมอญ เป็นชื่อที่คนไทยเรียกการแสดงอย่างหนึ่งของคนมอญ ซึ่งเพี้ยนมาจากคำในภาษามอญว่า แต็ะแหฺย็ะฮ์ หมายถึง การขับร้อง ซึ่งเป็นการละเล่นหรือการแสดงของชาวมอญที่มีลักษณะเป็นเพลงปฏิพากย์ (ร้องโต้ตอบกัน) คล้ายกับการเล่นเพลงพื้นเมืองของไทย เช่น เพลงลำตัด เพลงฉ่อย เพลงอีแซว และเพลงเรือ แต่ไม่มีการร้องหยาบคาย โดยจะมีนักร้องฝ่ายชาย (แหม็ะแขวกนิฮ์เตราะฮ์) และนักร้องฝ่ายหญิง (แหม็ะแขวกนิฮ์แปรา) ร้องโต้ตอบกันเป็นคู่ๆ พร้อมกับการร่ายรำประกอบ ส่วนเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงการละเล่นทะแยมอญ ได้แก่ วงโกร่กฺยาม ซึ่งประกอบด้วยดนตรี 5 ชิ้น คือ ซอ (โกร่) จะเข้มอญ (กฺยาม) ขลุ่ย (อะโลด) เปิงมาง (ปุงตัง) และฉิ่ง (คะเด)

ทะแยมอญคู่แรก เป็นการแสดงของหญิงแท้ชายเทียม แต่ออกท่ารำได้งามน่าชมมาก

ต่อจากนั้นเป็นชายจริงหญิงแท้ ได้ยินสุภาพบุรุษชาวมอญมาบอกพระส่วนหนึ่งที่ดูอยู่ว่า สตรีกำลังตัดพ้อต่อว่าผู้ชายที่จะออกบวชว่าไม่เห็นแก่ครอบครัวและตัวเขา ส่วนฝ่ายชายก็ขอความเห็นใจว่า การออกบวชมิใช่อื่นไกล แต่ทำกุศลเพื่อพระศาสนา จึงหวังว่าฝ่ายสตรีคงไม่ขัดขวาง

วัดบวรบำเพ็ญกุศลพิธีมอญถวายสมเด็จพระสังฆราช

 

มะเทิ่งเม้ยเจิง

จากนั้นก็มีทะแยมอญออกมาร้องพร้อมกัน 3 คน จบแล้วก็เป็นการแสดง ชุด มะเทิง เม้ยเจิง ศิลปินจากสภาวัฒนธรรมไทยรามัญ วัดบ้านไร่เจริญผล จ.สมุทรสาคร เช่นเดิม

การแสดงคู่นี้ได้รับความสนใจจากผู้ชมรอบด้าน เพราะขับร้องเป็นภาษาไทย

เรื่องนี้มาจากนิยาย เรื่อง ราชาธิราช ว่าด้วยตอน พระยาน้อยชมตลาด ไปพบมะเทิ่งกับเม้ยมะนิก ขายแป้งน้ำมันอยู่ในตลาดที่เมืองตะเกิงและติดใจความงามของเม้ยมะนิก จึงแย่งชิงมาเป็นสนมเอกเลย

ทำเอามะเทิ่งผู้เป็นสามีโกรธมาก ลุกขึ้นมาโวยวายยกใหญ่ จนมีสำนวนไทยว่า เอะอะมะเทิ่ง

วัดบวรบำเพ็ญกุศลพิธีมอญถวายสมเด็จพระสังฆราช

 

ส่วนเพลงที่ร้องในการแสดงละคร ตอน พระยาน้อยชมตลาด ว่า

มาจะกล่าวถึงมอญใหม่ ตกมาอยู่เมืองไทยนานหนักหนา

ตัวของมอญชื่อมะเทิ่ง เมียชื่อเม้ยเจิงงามโสภา

รุ่งแจ้งแสงทอง พระอาทิตย์สอดส่องขึ้นขอบฟ้า

ร้องเรียกแม่เม้ยมังคยา สายแล้วหล่อนจ๋าไปขายแป้งน้ำมัน

ฝ่ายแม่เม้ยนารี พอได้ยินสามีร้องเรียกหา

จัดแจงแป้งน้ำมันมิทันช้า รีบออกไปหาสามี

ผัวหาบเมียกระเดียด ก็มิได้รังเกียจทั้งสองศรี

ตะวันก็สายบ่ายเต็มที รีบจรลีทั้งสองรา

มะเทิ่งเดินนำหน้า เม้ยมังคยาเดินตามหลัง

ออกจากเคหา..............

มอญร้องไห้

จากนั้นเป็นการขับร้องมอญร้องไห้ ประพันธ์โดย ประพัฒน์ ทองศรี มีเนื้อร้องว่า

เทิดพระคุณพระสังฆราชา ร้อยวาจาน้อมถวายด้วยเสียงมอญ ประมุขสงฆ์ทรงคุณอันประเสริฐ ทรงล้ำเลิศในธรรมนำพร่ำสอน ทรงตั้งอยู่ในธรรมอันบวร ทุกบทตอนร้อยเรียงเทิดพระคุณ

ทรงศึกษาหลักธรรมอย่างถ่องแท้ ทรงดูแลค้ำชูคอยเกื้อหนุน ทรงประกาศหลักธรรมสั่งสมบุญ ทรงเจือจุนศาสนามายาวนาน

มีผลงานการหนังสือเป็นประจักษ์ ทรงงานหนักเลื่องลือดังกล่าวขาน อันคำสอนทุกตอนสร้างตำนาน ทรงผลงานด้านเผยแผ่อย่างแท้จริง

ถึงวันนี้ไม่มีพระองค์ท่าน ชาวพุทธนั้นต่างเศร้าโศกทั้งชายหญิง ต่างระลึกพระคุณท่านจากใจจริง เพราะเป็นสิ่งสูญเสียผู้ทรงคุณ ไทยรามัญน้อมถวายความเคารพ ขอน้อมนบคุณท่านไม่มีสูญ น้อมถวายครบถ้วนอย่างสมบูรณ์ อุทิศบุญน้อมถวายด้วยศรัทธา ขอพระองค์เสด็จสู่สุขสถาน สู่นิพพานดับสิ้นไม่ห่วงหา ชาวรามัญส่งเสด็จสังฆราชา เจตนาถวายองค์ผู้ทรงคุณ

บทมอญร้องไห้ ความจริงคือบทสรรเสริญคุณงามความดีของผู้วายชนม์ เมื่อนำมาขับร้อง ผู้ขับจึงร้องโหยหวน รำพึงรำพันถึงผู้จากไป ประกอบเสียงดนตรีที่บรรเลงเพลงโศกประกอบ จึงกลายเป็นมอญร้องไห้ ทั้งๆ ที่การแสดงในงานเน้นความบันเทิง ตามความเชื่อของชนชาติมอญว่าการถึงแก่กรรมของผู้สูงวัยโดยเฉพาะพระสงฆ์ จัดว่าเป็นความสุขเพราะเชื่อว่าพระสงฆ์ท่านจะไม่ไปนิพพาน ก็ต้องไปสุคติอย่างใดอย่างหนึ่ง

สวดมอญ

จบแล้วก็เข้าสู่พิธีทางศาสนา คือ สวดพระอภิธรรมแบบมอญ โดยพระสงฆ์รามัญจากวัดแป้นทอง คลองสามวา เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร

เมื่อเจ้าภาพจุดธูปเทียนหน้าพระศพแล้ว อุบาสกก็อาราธนาศีล 5 ออกเสียงแบบมอญ เช่น คำอาราธนาศีลที่ลงท้ายด้วย มิ ก็ออกเสียงว่า มอย เวรมณี ก็เป็นเวระมะณอย เป็นต้น

ส่วนบทที่พระสวด ก็คือ พระธรรม 7 บท แต่ออกเสียงมอญ เช่นเดียวกับสวดสังคหะก็ออกเสียงและทำนองมอญทั้งหมด

งานจบลงเมื่อเจ้าภาพบรรจงกรวดน้ำอุทิศผลบุญและกุศลน้อมถวายสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์นั้น