posttoday

พระสังฆคุณ (3)

30 มีนาคม 2557

ณ วันนี้เป็นวันจาตุททสีดิถีที่ 14 ค่ำแห่งปักขคณนา พุทธบริษัทได้มาสันนิบาตพรักพร้อมกัน

ณ วันนี้เป็นวันจาตุททสีดิถีที่ 14 ค่ำแห่งปักขคณนา พุทธบริษัทได้มาสันนิบาตพรักพร้อมกัน เพื่อสมาทานซึ่งอุโบสถศีลและฟังพระธรรมเทศนา เมื่อได้กระทำบุรพกิจเบื้องต้นสำเร็จบริบูรณ์แล้ว เบื้องหน้าแต่นี้พึงตั้งใจสดับตรับฟังซึ่งพระธรรมเทศนา เพื่อให้สำเร็จกิจของตนๆ ด้วยการฟังพระธรรมเทศนา และการแสดงพระธรรมเทศนา ย่อมเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุขความสำราญตลอดกาลเป็นนิตย์ สมดังนิพนธภาษิตว่า “สุขา สทฺธมฺมเทสนา” การแสดงธรรมเป็นเหตุนำมาซึ่งความสุข ดังนี้ เพราะทางที่จะรู้จะเข้าใจนั้น ก็ต้องอาศัยการสดับตรับฟังนี้เอง

ถ้าจะประพฤติคุณความดีให้บริบูรณ์ได้ ก็ต้องอาศัยความรู้ เพราะเหตุนั้นการฟังธรรมจึงเป็นเหตุสำคัญอันหนึ่ง ควรจะมีความโสมนัสว่าเป็นลาภของเราอย่างยิ่ง การที่เข้ามาสดับตรับฟังอยู่เสมอ ก็ได้เป็นเครื่องเตือนใจของเราว่า ในโอวาทคำสอนท่านชี้ไว้อย่างไร คือ คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั้นอย่างไร? จะได้ตั้งใจของเราลงในทางที่ดีที่งาม

เมื่อผู้ที่มีคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในตัวบริบูรณ์แล้ว บุคคลผู้นั้นก็จักมีแต่ความสุข ความสบาย ดังที่ท่านทั้งหลายพากันสดับพระพุทธคุณพระธรรมคุณมาแล้วนั้น ก็คงได้ใจความในเทศนานั้นๆ ซึ่งเป็นเหตุกระทำความยินดีให้บังเกิดขึ้น เพราะได้มารู้จักคุณพระพุทธคุณพระธรรมที่ได้พรรณนามาแล้วนั้น พุทธบริษัทก็ได้รับความอบรมให้เกิดมีขึ้นในตนตามลำดับ

เมื่อพระคุณนั้นๆ มีอยู่ในตนมากน้อยเพียงไร เราก็จักรู้ว่าเป็นผู้ได้ผู้ถึงคุณนั้นๆ ตามกำลังความประพฤติปฏิบัติของตนๆ ด้วยบุคคลผู้ที่จะประพฤติปฏิบัติในสุจริตธรรมมีไตรสิกขาเป็นต้นให้บริบูรณ์ได้ ก็ต้องอาศัยความรู้ซึ่งเกิดจากการสดับตรับฟังเป็นเหตุ และบุคคลผู้ที่จะประพฤติคุณความดีให้ถูกต้องตามคลองธรรมก็ต้องอาศัยการฟังธรรม

เพราะเหตุนั้น ควรแล้วที่พุทธบริษัทจะเกิดความโสมนัสเบิกบานใจของตนว่าเป็นลาภอย่างยิ่ง ในเวลาที่ท่านพรรณาแสดงถึงคุณของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เมื่อพระคุณนั้นๆ มีอยู่ในตนมากน้อยเพียงไร เราก็จักเป็นผู้ได้ผู้ถึงซึ่งพระคุณนั้นๆ

บัดนี้จะได้แสดงในพระสังฆคุณ มี สุปฏิปนฺโน เป็นต้น ดังที่พุทธบริษัทได้สวดและจำทรงท่องบ่นไว้แล้วนั้นต่อไป

พุทธบริษัทควรจะไตร่ตรองพิจารณาให้เห็นด้วยตนเอง ในคุณของพระสงฆ์นั้นว่า สุปฏิปนฺโน ผู้ปฏิบัติดี อุชุปฏิปนฺโน ผู้ปฏิบัติตรง ญายปฏิปนฺโน ผู้ปฏิบัติเพื่อความรู้ยิ่งเห็นจริง สามีจิปฏิปนฺโน ผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง คือ เป็นผู้มีกิจที่ควรทำ อันตนได้ทำให้สำเร็จแล้ว เป็นผู้ควรรับสามีจิกรรมของโลก จึงชื่อว่า สามีจิปฏิปนฺโน ผู้ปฏิบัติชอบยิ่ง

คุณ 4 อย่างนี้ เมื่อมีในบุคคลผู้ใดแล้ว บุคคลผู้นั้นได้ชื่อว่า “สาวกสงฺโฆ”

ที่ท่านกล่าวเช่นนี้ เป็นส่วนบุคคลาธิษฐาน คือ ยกบุคคลขึ้นเป็นที่ตั้ง ถ้าจะกล่าวโดยธรรมาธิษฐานยกธรรมขึ้นเป็นที่ตั้งแล้ว ก็เป็นของกลางไม่เกี่ยวด้วยบุคคล แต่ต้องอาศัยบุคคล คือ บุคคลเป็นผู้ปฏิบัติ ได้แก่ ความปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ความปฏิบัติตรง ความปฏิบัติเพื่อจะออกจากทุกข์ ความปฏิบัติชอบยิ่งซึ่งเป็นเหตุให้พ้นจากทุกข์ จึงเป็นบุคคลาธิษฐานด้วย ก็ความปฏิบัติดี ซึ่งได้นามว่า สุปฏิปนฺโน นั้น ก็คือ ปฏิบัติในศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งเรียกว่าไตรสิกขาอันมีอยู่ในตน

ถึงแม้ในบท อุชุปฏิปนฺโน ความปฏิบัติตรง และ ญายปฏิปนฺโน ความปฏิบัติเพื่อจะรู้ และ สามีจิปฏิปนฺโน ความปฏิบัติชอบยิ่ง ก็มีนัยเดียวกันทั้งนั้น

ความปฏิบัติดีในตัวของเรานั้น คือ เช่น ศีล 5 ก็เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติมิจฉาจาร เว้นจากการกล่าวมุสาวาท เว้นจากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัย เมื่อเว้นได้จนครบบริบูรณ์เช่นนี้ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีในชั้นศีล 5

ส่วนผู้ปฏิบัติดีในชั้นศีล 8 นั้น คือ เว้นจากการฆ่าสัตว์ เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการประพฤติอสัทธรรม เว้นจากการกล่าวมุสาวาท เว้นจากการดื่มซึ่งน้ำเมาคือสุราและเมรัย เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล เว้นจากการฟ้อนรำขับร้องและดูการเล่นต่างๆ และเว้นจากประดับประดาตกแต่งซึ่งร่างกายด้วยดอกไม้ และของหอมเครื่องทาเครื่องย้อมต่างๆ และเว้นจากการนั่งนอนบนที่นั่งที่นอนอันสูงอันใหญ่

เมื่อเราตั้งใจของเราว่าจะงดเว้นจากข้อนั้นๆ แล้วมีสติสังวรระวังอยู่เสมอ มิได้ประพฤติล่วงละเมิดในข้อนั้นๆ ดังนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีในชั้นศีลอุโบสถ

ส่วนผู้ที่เป็นสามเณรก็ตั้งใจรักษาศีล 10 ซึ่งตนได้สมาทานไว้แล้วนั้นให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีในชั้นศีล 10 ส่วนภิกษุผู้รักษาศีลในพระปาฏิโมกข์ ก็ระวังรักษาในศีลของตนให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติดีในชั้นศีลพระปาฏิโมกข์

แต่ในชั้นศีลนี้ยังเป็นส่วนหยาบ เป็นการชำระกายและวาจาให้สะอาดไม่เกี่ยวกับทางใจ เป็นทางละความชั่วหยาบได้เพียงกายวาจาเท่านั้น แต่การสมาทานก็ต้องอาศัยใจเกี่ยวด้วยจึงใช้ได้ เหมือนอย่างผู้ที่จะกำจัดความชั่วหยาบทางกาย ก็ตั้งใจงดเว้นการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติมิจฉาจาร และผู้ที่จะกำจัดความชั่วหยาบทางวาจา จะรักษาวาจาให้บริสุทธิ์ ก็กำจัดเสียซึ่งการกล่าวมุสาวาท กล่าวคำส่อเสียด กล่าวคำหยาบ กล่าวคำโปรยเสียซึ่งประโยชน์ ผู้ที่เว้นจากความชั่วหยาบทางกายและวาจาได้ ก็ต้องอาศัยการรักษาศีล 5810 เหล่านี้จึงจะเว้นได้ แต่จะเว้นจากใจเสียทีเดียวนั้นไม่ได้ ต้องอาศัยใจเป็นหลักเป็นประธานอยู่

เมื่อบุคคลผู้ปฏิบัติรักษาศีลให้ดีได้เพียงไรแล้ว ก็จะเกิดความชื่นบานใจ และจะตัดเสียได้ซึ่งวิปฏิสารความเดือดร้อนโดยประการต่างๆ เราก็จะได้รับความรื่นเริงยินดีว่า เราเป็นผู้มีศีล

ศีลนี้ ท่านกล่าวว่าเป็นอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ของพระอริยเจ้า เป็นสมบัติของท่านเรียกว่า “สีลธนํ” ทรัพย์คือศีล เมื่อผู้ใดได้รักษาแล้ว ก็เท่ากับได้สมบัติอันประเสริฐของพระอริยเจ้ามาถนอมรักษาไว้ อาจบำรุงน้ำใจให้เบิกบานอิ่มอกอิ่มใจ เมื่อเป็นเช่นนั้นวีติกกมโทษต่างๆ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนก็จักไม่เกิดมีแก่ตน แม้จักไปอยู่ทิศใดสถานใดก็จักไม่มีใครรังเกียจเกลียดชัง ตนของตนก็จักได้รับความสุขความสบาย บุคคลผู้อื่นซึ่งอยู่ใกล้ชิด ก็จักได้รับความสบายตามๆ กัน


(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)